ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง 12-44 บาท ยังไม่ผ่านบอร์ดการรถไฟฯ

บอร์ดรถไฟยังไม่เคาะโครงสร้างราคารถไฟชานเมืองสายสีแดง แม้ได้ราคาสูงสุด-ต่ำสุดที่ 12-44 บาท ตีกลับทบทวนหารือกรมราง ก่อนให้เสนอใหม่ครั้งถัดไป พร้อมกับยกเลิกการประมูลแปลง A สถานีกลางบางซื่อ และให้ทบทวนผลการศึกษาแผนลงทุนที่ดินรอบสถานีด้วย

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ตีกลับการเสนอโครงสร้างราคาค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ออกไปก่อน เนื่องจากบอร์ดตรวจสอบประมาณการรายจ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ายังไม่เรียบร้อย จึงให้ไปเคลียร์รายการต่าง ๆ กับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ก่อน แล้วจึงเสนอเข้ามาใหม่ในภายหลัง

“รายการที่ยังไม่เสร็จคือ การกำหนดค่าโดยสารสำหรับผู้ที่เดินทางประมาณ 1-2 สถานี โดยยังมีตัวแปรบางอย่างที่ยังไม่ได้นำมารวม ซึ่งโครงสร้างราคาเริ่มต้น-สูงสุด เราได้กรอบเบื้องต้นตามการคำนวณตามมาตรฐาน MRT (MRT Assessment Standardization) คือ 12-44 บาท โดยยังมีเวลาดำเนินการก่อนเปิดให้บริการแบบเป็นทางการในช่วงปลายปี 2564 นี้” แหล่งข่าวระบุ

โดยหลังจากนี้จะนำผลการเสนอโครงสร้างราคากลับไปพิจารณาร่วมกับกรมราง ก่อนจะเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป หลังจากนั้นจะนำเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

ส่วนการกำหนดโปรโมชั่น เช่น ตั๋วเดือน ตั๋วสำหรับผู้สูงอายุ นักเรียน-นักศึกษา ยังไม่ได้เสนอในครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการในระยะถัดไป ขณะที่การกำหนดให้ค่าแรกเข้าร่วมกับสายสีน้ำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องไม่ซ้ำซ้อนนั้น ต้องกลับไปดูข้อกฎหมายของ รฟม.ให้ถี่ถ้วนก่อน เพราะสายสีแดงรัฐลงทุนเองทั้งหมด

นอกจากนี้ บอร์ด ร.ฟ.ท.ยังเห็นชอบให้ยกเลิกการประมูลที่ดินแปลง A บริเวณสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่ 32 ไร่ มูลค่าลงทุน 11,721 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 พร้อมกับให้ทบทวนผลการศึกษาที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เคยทำไว้ โดยให้นำนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้จัดรูปแบบการประมูลใหม่ จำนวน 2,325 ไร่ ซึ่งมีแบ่งออกเป็น 9 แปลง มาเป็นแม่แบบในการทำแผนพัฒนาต่อไป