Soft Openning รถไฟชานเมืองสายสีแดง อวดโฉม “ฮับบางซื่อ” ใหญ่สุดในอาเซียน

2 สิงหาคม 2564 บิ๊กอีเวนต์เปิดใช้รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

งานนี้ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานกดปุ่มพิธีเปิด (soft opening) ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวรายงาน ณ สถานีกลางบางซื่อ

โครงการแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ “ช่วงบางซื่อ-รังสิต” กับ “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดบิ๊กอีเวนต์เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 2564 คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 ต่อไป

โควิด-จำกัดผู้โดยสาร 50%

สำหรับตารางการเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีรถออกทุก 30 นาที และเพิ่มความถี่ออกรถทุก 15 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน รวมเส้นทางละ 78 เที่ยว/วัน รองรับผู้โดยสารในช่วงบางซื่อ-รังสิต ได้ 1,710 คน/เที่ยว ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้ 1,120 คน/เที่ยว

โดยการรถไฟฯจำกัดจำนวนผู้โดยสารทุกประเภทในขบวนรถและสถานีไม่เกิน 50% เพื่อเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่าง และป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เส้นทาง “บางซื่อ-รังสิต” ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที เที่ยวแรกเริ่มเดินรถพร้อมกันที่สถานีบางซื่อกับสถานีรังสิต เวลา 06.00 น. และเวลาออกจากสถานีเที่ยวสุดท้าย คือ 19.30 น.

มีระยะทางรวม 26 กม. จำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก สุดปลายทางที่สถานีรังสิต

ส่วนเส้นทาง “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที เที่ยวแรกเริ่มเดินรถออกจากบางซื่อ เวลา 06.00 น. ส่วนเที่ยวแรกจากตลิ่งชันเริ่มเดินรถเวลา 06.06 น. และเที่ยวสุดท้ายเหลื่อมเวลา 6 นาที โดยรถออกจากสถานีกลางบางซื่อ เวลา 19.30 น. ส่วนเที่ยวสุดท้ายจากรังสิต เวลา 19.36 น.

มีระยะทางรวม 15 กม. จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ สุดปลายทางที่สถานีตลิ่งชัน

สนนราคาค่าตั๋วที่จะเรียกเก็บในอนาคตอยู่ที่ 12-42 บาท

ฮับบางซื่อ-ใหญ่สุดในอาเซียน

สถานีกลางบางซื่อ (Bangsue Grand Station) เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2556 แล้วเสร็จในปี 2564 มีพื้นที่ใช้สอยรวม 298,200 ตารางเมตร พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลจนทำให้ครองสถิติสถานีรถไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย

ภายในสถานีดีไซน์อาคาร 3 ชั้น แบ่งเป็นชั้นที่ 1 พื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร สำนักงาน พื้นที่พักคอย และจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 87,200 ตารางเมตร, ชั้นที่ 2 ชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา กับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา 58,900 ตารางเมตร

และชั้นที่ 3 ขนาด 58,900 ตารางเมตร ชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานและรถไฟความเร็วสูง แบ่งเป็น ชานชาลารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน 2 ชานชาลา, รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ-สายอีสาน 6 ชานชาลา, รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ 4 ชานชาลา รวม 12 ชานชาลา

ภายในยังประกอบด้วย ชั้นลอย พื้นที่ร้านค้า และห้องควบคุม 20,700 ตารางเมตร, ชั้นใต้ดิน 72,500 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จอดรถ 1,681 คัน ที่จอดรถคนพิการ 19 คัน รวม 1,700 คัน

แลนด์สเคปสุดอลังการ

แลนด์สเคปฮับบางซื่อยังมีพื้นที่อื่น ๆ เช่น ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ 18,630 ตารางเมตร พร้อมบึงน้ำขนาด 14,000 ตารางเมตร ดีไซน์เป็นลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ มีการติดตั้ง “นาฬิกาประจำสถานี” ที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษบนหน้าปัดมีเลข “๙” เลขไทยเพียงเลขเดียว เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสถานีกลางบางซื่อ และแสดงถึงการเดินทางที่เที่ยงตรง

ตัวเรือนนาฬิกามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ติดตั้งบนผนังกระจกทางเข้าสถานี สูงจากระดับพื้นดิน 21 เมตร ผลิตโดย “Electric Time Company, Inc.” แห่งสหรัฐอเมริกา บริษัทผลิตนาฬิกาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงในการออกแบบและผลิตนาฬิกากลางแจ้งขนาดใหญ่ มีผลงานผลิตนาฬิกาประดับสถานที่สำคัญต่าง ๆ นับไม่ถ้วน

จัดระเบียบฟีดเดอร์รองรับ

สำหรับขบวนรถไฟเป็นแบบ EMU-electric multiple unit ระบบมาตรฐานสากลทั้งควบคุมการเดินรถและระบบต่าง ๆ ที่ช่วยลดปัญหามลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดีไซน์รองรับการให้บริการและอำนวยความสะดวกกับผู้พิการตามหลักอารยสถาปัตย์ หรือ universals design

ด้านการเดินรถไฟ การรถไฟฯที่เป็นเจ้าของโครงการ มอบหมายให้บริษัทลูก “รฟฟท.-บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด” มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10 ปี เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดง โดยแหล่งทุนก่อสร้างโครงการได้รับการสนับสนุนด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)

“ศักดิ์สยาม” รมว.คมนาคม ระบุว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในทุกรูปแบบ ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ไม่ว่าจะเป็นการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางรองรับการเชื่อมต่อสถานีรถไฟสายสีแดง จัดระเบียบรถแท็กซี่-รถโดยสารสาธารณะ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ได้แก่ “สายสีน้ำเงิน” เชื่อมต่อที่สถานีกลางบางซื่อ, “สายสีม่วง” เชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน, สนามบินดอนเมืองเชื่อมต่อด้วยทางเดิน skywalk ที่สถานีดอนเมือง


ในอนาคตจะมี skywalk เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า “สายสีชมพู-โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” ที่สถานีหลักสี่ รวมถึง skywalk เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า “สายสีน้ำตาล” ที่สถานีบางเขน