“อาคม”เร่งไฮสปีดไทย-ญี่ปุ่นแบ่งออกแบบ3ตอนนำร่อง”กทม.-อยุธยา”คาดลงเข็มปี’62 เปิดหวูดปี’64

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดการสัมมนา “Thailand – Japan Railway Partnership for Connectivity Success Sharing Advanced SHINKANSEN Technologies & Area development” ว่า ภายหลังการลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2560 ทางญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาหลากหลายโครงการมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แบ่งพัฒนา 2 ระยะ ซึ่งเฟสแรกจะสร้างจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. มีค่าก่อสร้าง 276,235 ล้านบาท โดยจะใช้ระบบชินคันเซ็น

ซึ่งแบบจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ทั้งนี้ในการออกแบบรายละเอียด โดยปกติญี่ปุ่นจะใช้เวลา 2 ปี เพื่อความรวดเร็วจะขอให้ญี่ปุ่นออกแบบเร็วขึ้น ในเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ-อยุธยา 2.อยุธยา-ลพบุรี 3.ลพบุรี-พิษณุโลก ให้เริ่มออกแบบรายละเอียดช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยาก่อนเป็นลำดับแรก คาดว่าจะเริ่มสร้างได้ในปี 2562 แล้วเสร็จในปี 2564

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการนำเสนอแผนการพัฒนาพื้นที่ในแนวเส้นทาง 6 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการและทางเศรษฐกิจเหมือนที่ญี่ปุ่นดำเนินการมา

“สถานีกลางบางซื่อจะพัฒนาอย่างบูรณาการ เป็นศูนย์กลางด้านระบบราง ศูนย์กลางธุรกิจและสมาร์ทซิตี้” นายอาคมกล่าวและว่า

อีกทั้งยังมีการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องในเฟสที่ 2 และการเพิ่มประสิทธิภาพบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ วันนี้จึงเป็นการนำเสนอก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ที่ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกัน

นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ญี่ปุ่นพัฒนาระบบรถไฟชินคันเซ็นเมื่อ  51 ปีที่แล้ว เส้นทางแรกจากโตเกียว-โอซาก้า วิ่งด้วยความเร็ว 200 กว่ากม./ชม. เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของโลก จากนั้นพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันวิ่งด้วยความเร็ว 320 กม./ชม.

“มีข้อดีคือมีความตรงต่อเวลาและความปลอดภัย ซึ่งเหมาะสำหรับนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยในอนาคต”

โดยประเทศญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะวิศวกรรถไฟ รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยที่ผ่านมาได้จัดฝึกอบรมแล้วกว่า 10,000 คน ณ ศูนย์ฝึกอบรม กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีประสิทธิผลจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบทตลอดแนวเส้นทางโครงการอย่างมีแบบแผน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นจะยังคงมุ่งมั่นถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทยต่อไป

“ประเทศไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ด้านการทูตกันมายาวนาน ปีนี้ก็ 130 ปีแล้ว ที่ผ่านมาไทยใช้ระบบรถไฟของญี่ปุ่นมีสายสีม่วงและสายสีแดงที่กำลังก่อสร้างและรถไฟความเร็วสูงที่กำลังร่วมมือกัน เราคาดหวังว่าระบบชินคันเซ็นจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยเหมือนที่ญี่ปุ่นทำสำเร็จมาแล้วที่จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 40 เท่า”