เศรษฐา แสนสิริไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แนะรัฐเพิ่มสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี

บิ๊กแสนสิริ ชี้ภาครัฐควรยก “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” เป็นวาระแห่งชาติ ชี้ทาง “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยฟื้นตัวเร็ว” จากวิกฤตโควิดระบาดหนัก

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เป็นอุบัติการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ทาง โดยเฉพาะการพังทลายของระบบเศรษฐกิจการค้าที่ยังหาจุดจบไม่ได้ และดูเหมือนทุกคนจะโดนผลกระทบเหมือน ๆ กัน 

ซึ่งหากวิเคราะห์ จากตัวเลขสถิติต่าง ๆ ให้ดี สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือช่องว่างทางด้าน “ความมั่งคั่ง” ระหว่าง “คนมี” กับ “คนไม่มี” กำลังขยายตัวกว้างขึ้นอย่างน่ากลัวและจะเป็นการปรับฐานสมดุลทางด้านความมั่งคั่งที่ทำให้โอกาสเกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากมาก 

“สำหรับในประเทศไทย วิกฤตโควิดในไทยครั้งนี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ-สังคม ในสัดส่วนที่ห่างออกจากกันเยอะขึ้น ดังนั้น ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นหลังโควิด จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้ความเท่าเทียมยิ่งถูกลิดรอน คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิดฟื้นได้ หากมีวัคซีนที่ดีทั่วถึงโดยเร็วที่สุด คนป่วยได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมและรวดเร็วเพื่อลดการเสียชีวิต ขณะที่การพยุงเศรษฐกิจในขณะนี้ ภาครัฐควรมีการจัดกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิดและขาดรายได้ ควบคู่ไปกับการพักชำระหนี้” นายเศรษฐากล่าว

เศรษฐกิจไทยควรเดินต่ออย่างไร โดยไม่ทอดทิ้งใคร

ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าวัคซีน ที่ต้องมีเพียงพอ จัดหาอย่างรวดเร็ว และการกระจายอย่างเสมอภาค รัฐบาลควรเตรียมวัคซีนช็อตที่ 3 เพื่อสร้างภูมิจากการรุกหนักของโควิดในรอบนี้ 

นอกจากนี้ต้องไม่ลืมมองข้ามชอตไปถึงวัคซีนปีหน้าและปีถัด ๆ ไปที่เราต้องเตรียมตัวเอาไว้ด้วย เพราะโควิดจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดวัคซีนทุกปี เรามีบทเรียนในปีนี้แล้ว ดังนั้น ในปีหน้าต้องประเมินปริมาณวัคซีนให้ดี ควรต้องสั่งเผื่อล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เท่าของจำนวนประชากร สำหรับตัวเลข 2 แสนล้านสำหรับค่าวัคซีนถึงแม้จะดูจำนวนมาก แต่อยากให้ภาครัฐ “ลงทุนกับสวัสดิภาพและความมั่นใจของประชาชนในระยะยาว” นายเศรษฐากล่าวเพิ่มเติม

สำหรับภาพเศรษฐกิจไทย ธนาคารโลกได้วิเคราะห์ไว้ว่า วิกฤตโควิดครั้งนี้ทำให้คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งภาครัฐควรถือโอกาส “ยกการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติ” 

แนวทาง “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยฟื้นตัวเร็ว” 

“ควรเตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่” เพราะแผนลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่กระตุ้นให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างและการจ้างงานปริมาณมหาศาลตามมา ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐต้องหาเงินมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มโดยเฉพาะ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยว ผ่านการกู้เพิ่มและเก็บภาษีมรดกคนรวย 

ยกตัวอย่างที่ยุโรป สหรัฐอเมริกาออกแผนงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว โดย ประธานาธิบดี สหรัฐ โจ ไบเดน เปิดตัวแผนลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสหรัฐฯ มูลค่ารวม 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่างบที่ใช้ช่วงวิกฤติเมื่อสิบกว่าปีก่อนถึง 4 เท่า ขณะที่ทางรัฐสภายุโรปก็เพิ่งอนุมัติงบประมาณ 3 หมื่นล้านยูโร ในการสนับสนุนโครงการด้านการขนส่ง ดิจิทัล และพลังงานจนถึงปี 2570

ในประเทศไทยหากต้องลงทุนเพิ่มก็ต้องมีเงินทุน แหล่งเงินอย่างแรกที่รัฐบาลต้องพิจารณาก็คือ “การกู้” ที่ได้รับความเห็นชอบให้กู้เงินเพิ่มเป็น 1.5 ล้านล้านบาทแล้ว ควรต้องเดินหน้าเร่งกู้เงินเพื่อเตรียมใช้ในการลงทุน เพราะไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่เร่งกู้เพื่อฟื้นฟูประเทศเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องขอขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 60% เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่มีการปรับอัตราสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้นแล้ว จากการที่ทุกประเทศต้องการเงินกู้เพื่ออัดฉีดเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมในประเทศของตัวเองเช่นกัน หากไทยไม่เร่งกู้ เงินในระบบจะถูกดูดไปหมดก่อน คล้ายกับกรณีวัคซีนที่จะหาทีหลังก็หาไม่ได้แล้ว โดยข้อคิดเห็นเพิ่มเติมคือ

1.ควรมีการปรับโครงสร้างการเก็บภาษี

เพราะเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ ที่จะถูกนำมา ใช้ในการชำระหนี้และดำเนินการบริหารโครงการต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการเสนอแนะให้ปรับภาษีความมั่งคั่ง ที่ควรมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ที่มั่งคั่งกว่าในรูปแบบต่าง ๆ ให้เกิดภาวะการเงินที่สมดุลของประเทศ

2.การพยุงราคาสินค้าและประกันราคาสินค้าเกษตร

เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย รัฐบาลต้องช่วยรับภาระในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับไปสร้างผลิตผลทางการเกษตร แทนที่จะรอเงินช่วยเหลืออย่างเดียวและประชาชนจะได้พอเลี้ยงตัวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้

3.ควรเร่งแก้ปัญหาการบินไทยและพยุงสายการบินอื่น ๆ ด้วย

เพราะ GDP ไทย พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูงมาก ดังนั้นต้องเร่งแก้ปัญหาการบินไทยให้จบ และต้องใช้โอกาสนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับองค์กรให้จบ และโปร่งใส เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ไทยจะได้มีสายการบินหลักที่มีประสิทธิภาพที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยได้

4.มีมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

การลงทุนจากต่างชาติอั้นมาพอสมควรจากสถานการณ์ 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ปริมาณการลงทุนจะดีดตัวขึ้นแน่นอน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้ไทยเริ่มโดนสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซียทิ้งห่างไปเยอะ มาตรการดึงดูดการลงทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหรือสิทธิประโยชน์ที่ต้องตอบโจทย์บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลต้องรีบจัดการและประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน

5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่ระบบการเมืองในสายตาประชาชน ไม่ว่าจะมีการปรับแก้ไขรายมาตราหรือจะแก้ทั้งฉบับก็ต้องหาทางออกให้ได้ เพราะเศรษฐกิจและการเมืองแยกกันไม่ขาด ถ้าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาแต่องค์ประกอบทางการเมืองยังเป็นชนวนของความขัดแย้งอยู่ ประชาชนก็จะไม่มีความมั่นใจ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะชะลอไปด้วย

เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ

นำทัพแสนสิริเดิน ทุ่ม 100 ล้าน ลั่น “คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก”

แสนสิริขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประเทศไทยด้วยการใช้งบฯ 100 ล้านบาทเพื่อผลักดัน “วัคซีนทั่วถึง – รักษาเท่าเทียม – พยุงคนลำบาก”  เพราะแสนสิริจะไม่ทอดทิ้งใคร เพื่อให้สังคมก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เพราะการสร้างสังคมที่ดี สร้างชีวิตที่ดีสำหรับแสนสิริ เราหมายถึง “ทุกคน” #แสนสิริไม่ทอดทิ้งใคร พร้อมยืนยันมุ่งมั่นช่วยเหลือ 4 เสาสังคมอย่างเต็มที่และดูแลทุกกลุ่มไม่ทอดทิ้งใคร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อประเทศและเศรษฐกิจไทยเราจะผ่านพ้นไปด้วยกันได้ ได้แก่ 

1.ผู้ถือหุ้น – สร้างความแข็งแกร่งทางการการเงิน โตสวนกระแสแม้ในภาวะวิกฤต

2.ลูกบ้าน – ออกมาตรการขานรับ Home Isolation มุ่งช่วยเหลือลูกบ้านผู้รักษาแบบกักตัวที่บ้านสูงสุด และ Community Isolation เพื่อความอุ่นใจปลอดภัยของทั้งโครงการ และปลูกฟ้าทะลายโจรจำนวน 100,000 ต้นไว้รองรับ

3.พนักงาน-คู่ค้า – จัดตั้งกองทุน Sansiri Relief Fund, จัดหาวัคซีนครอบคลุมพนักงานทุกคน

4.สังคม – มุ่งเน้นสังคมมากขึ้นในปีนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนที่ช่องว่างทางสังคมเริ่มห่างออกไป เพื่อให้ภาคใหญ่ของประเทศผ่านวิกฤตไปด้วยกัน เช่น ร่วมสร้างโรงพยาบาลสนาม, ช่วยแคมป์คนงาน, ช่วยเหลือเกษตรกร, ช่วยช้างไทย ฯลฯ

โดยเฉพาะในด้านสังคม แสนสิริเดินหน้าสุดตัวบริจาคและสร้างโรงพยาบาลสนาม บริจาคภาครัฐให้คนเข้าถึงวัคซีนทั่วถึงและเท่าเทียม และช่วยเกษตรกรคนยากไร้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน ด้วยการบริจาคเงินรวม 4 ล้านบาทให้ศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อ ร่วมปูพรมฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มแก่พนักงาน-คู่ค้า-สังคม  ภายใต้กลยุทธ์ “แสนสิริและสังคม…คนละครึ่ง” 50% ของวัคซีนให้แก่พนักงานและครอบครัว ส่วนอีก 50% สู่คู่ค้า พันธมิตร และสังคม รวมทั้งจัดซื้อโมเดอร์นาเข็มที่ 3 ให้กับพนักงานรวม 6,000 คน

“ลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาโควิด” ด้วยการร่วมสร้างโรงพยาบาลสนามบุษราคัม เช่น เร่งสร้างห้อง ICU ที่โรงพยาบาลสนามบุษราคัม เสร็จภายใน 1 อาทิตย์ และกำลังเดินหน้าสร้างห้อง ICU เพิ่ม สร้างห้องอาบน้ำสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 มูลค่า 8 ล้านบาท และสร้างห้องอาบน้ำให้กับแพทย์และพยาบาล 40 ห้อง รวมทั้งยังบริจาคให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อการรักษาและควบคุมการระบาดสม่ำเสมอ เช่น บริจาคเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือทางการแพทย์ 8 ล้านบาทแก่กระทรวงสาธารณสุข, บริจาครถตรวจโควิด ฯลฯ

“ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้” ด้วยการช่วยสนับสนุนสินค้าเกษตรจากเกษตรกรใน xx จังหวัดทั่วประเทศ และทำแคมเปญช่วยเหลือ SMEs และซื้อของจาก SMEs ในธุรกิจก่อสร้างมากขึ้น ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน อุดหนุนร้านค้ารายย่อยในชุมชน และดูแลชุมชนรอบโครงการ ตลอดจนดูแลแคมป์คนงานก่อสร้างอย่างเต็มที่” นายเศรษฐากล่าว