พฤกษาฯปั้นรายได้ “รพ.วิมุต” Safe Save Surgery ผ่าตัดเร่งด่วน-พักฟื้นวันเดียว

พฤกษา โฮลดิ้ง โชว์ผลประกอบการไตรมาส 2/64 ทำยอดขาย 7,225 ล้านบาท เติบโต 106% รวมครึ่งปีแรก 2564 มียอดขาย 14,165 ล้านบาท โต 48% ครึ่งปีหลังรุกการตลาดดิจิทัล ด้าน รพ.วิมุตเล็งผุดบริการ “Safe Save Surgery” ผ่าตัดเร่งด่วนพักฟื้นวันเดียว รับมือคนไข้ผ่าตัดที่รอไม่ได้ช่วงโควิด-19 พร้อมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเข้าใช้บริการ

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีแรกในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทุกคนก็ดิ้นรนกันทำให้ตลาดค่อนข้างดี มีการเติบโต 16% (YoY) มีมูลค่ารวม 149,481 ล้านบาท ตัวที่ไดรฟ์ตลาดคือบ้านเดี่ยวมูลค่า 62,719 ล้านบาท เติบโต 36% ทาวน์เฮาส์ 34,972 ล้านบาท เติบโต 7% และคอนโดมิเนียม 49,682 ล้านบาท เติบโต 4% 

โดยยอดโอน 5 เดือนแรกในตลาดกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีมูลค่า 151,367 ล้านบาท เติบโต 4% บ้านเดี่ยว 53,761 ล้านบาท โต 25% (YoY) ทาวน์เฮาส์เนื่องจากไตรมาส 4/63 มีการโอนเยอะทำให้มียอดโอน 29,062 ล้านบาท ติดลบ -6% (YoY) ขณะที่คอนโดฯโอน 65,573 ล้านบาท ติดลบ -5%

ด้านสินค้าคงเหลือในตลาดแปรผันตามยอดโอนมีมูลค่า 212,558 ติดลบ -3% แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 52,771 ล้านบาท ติดลบ -2% ทาวน์เฮาส์ 70,068 ล้านบาท ติดลบ -3% และคอนโดฯ 86,007 ล้านบาท ติดลบ -4% 

“กลยุทธ์ของพฤกษามีการเคลียร์อินเวนทอรี่ได้ค่อนข้างเยอะ ทำให้กำไรขั้นต้นมีปัญหาบ้างแต่ก็เปิดโครงการในไตรมาส 2 เข้ามา ทำให้กำไรขั้นต้นดีขึ้น บิสซิเนสโมเดลใหม่ทำให้เรามีส่วนแบ่งการตลาดดีขึ้น เป็นวีเชฟขึ้นมาในไตรมาส 1/64-2/64 จาก 7% เพิ่มเป็น 8-9% ค่าใช้จ่ายการขายและบริการ (SG&A) จากเดิม 18-19% ก็เหลือ 14-15% มีสินทรัพย์ 60,000 ล้านบาท”

ในส่วนยอดขายไตรมาส 2/63 เป็นช่วงที่มียอดขายต่ำที่สุด 2,507 ล้านบาท หลังจากนั้นไตรมาส 3/63 มียอดขาย 6,584 ล้านบาท ไตรมาส 4/63 มียอดขาย 5,807 ล้านบาท ไตรมาส 1/64 มียอดขาย 6,940 ล้านบาท และไตรมาส 2/64 มียอดขาย 7,225 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรก 2564 พฤกษามียอดขาย 14,165 ล้านบาท เติบโต 48% เทียบปีต่อปี

โดยผลประกอบการไตรมาส 2/64 ทำยอดขาย 7,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% รายได้ 6,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 6,166 ล้านบาท กำไรสุทธิ 427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% ลดสินค้าคงค้าง (Inventory) ได้ถึง 58% จากมูลค่า 21,195 ล้านบาท เหลือ 8,448 ล้านบาท 

ทำให้ครึ่งปีแรก 2564 มีรายได้ 13,222 ล้านบาท ติดลบ -1% (YoY) เนื่องจากปีที่แล้วเรามีการโอนคอนโดฯในไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ขณะที่ปีนี้เรามีการโอนในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 จำนวน 7 โครงการ

โครงการ on going มียอดสะสมในปี 2561 มี 187 โครงการ ปี 2564 เหลือ 150 โครงการ ทำให้ SG&A ลดลงเยอะ และปี 2563 เปิดใหม่ 13 โครงการ ปีนี้คอนเฟิร์มที่ 29 โครงการ รายได้ไตรมาส 2 ปี 2564 มีจำนวน 6,334 ล้านบาท เติบโต 3%

“เนื่องจากเรามีการเคลียร์สต๊อกทำให้มีต้นทุนการขายในไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 29.2% เทียบกับ 31.9% ในไตรมาส 2/63 อัตรากำไรขั้นต้นครึ่งปีแรก 27.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 34.0% ด้าน SG&A ครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 19.5% ครึ่งปีแรก 2564 อยู่ที่ 16.1% กำไรสุทธิครึ่งปีแรก 1,034 ล้านบาท โดยเปิดตัวใหม่ในครึ่งปีแรกไปแล้ว 14 โครงการ มูลค่า 8,792 ล้านบาท”

พฤกษาฯมียอดรอรับรู้รายได้หรือแบ็กล็อก 22,877 ล้านบาท ทยอยรับรู้ในปี 2564-2568 แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 2,366 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 806 ล้านบาท คอนโดฯ 19,705 ล้านบาท 

สำหรับครึ่งปีหลัง 2564 โควิดยังเป็นปัจจัยหลัก การฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและจีดีพีไม่ถึง 0% หนี้ครัวเรือนสูง และเศรษฐกิจโลกที่ถูกกระทบด้วยโควิดสายพันธุ์เดลต้าคอนข้างเยอะ พฤกษาฯมีแผนเปิดใหม่ 15 โครงการ มูลค่า 17,838 ล้านบาท หลังจากมีการปลดล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง บริษัทได้กลับมาเร่งงานก่อสร้างต่อภายใต้มาตรการ Bubble and Seal 

ซึ่งในครึ่งปีหลังมีคอนโดอยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 โครงการ มูลค่า 5,000-6,000 ล้านบาท จะทยอยส่งมอบในปีนี้ ทำให้มั่นใจทำได้ตามเป้ายอดขายและรายได้ไว้ 32,000 ล้านบาท กลยุทธ์ “A YEAR OF VALUE” เน้นการบริหารสินทรัพย์ เปิดโครงการที่่มีมูลค่าสูง และผนวกความร่วมมือกับธุรกิจเฮลท์แคร์

สำหรับโครงการเปิดใหม่ ได้แก่ 1.บ้านพฤกษา สุขสวัสดิ์-ประชาอุทิศ (2) เซ็กเมนต์ 1.5-2 ล้านบาท 484 ยูนิต มูลค่าโครงการ 887 ล้านบาท 2.The Connect สถานีทิพวัล เซกเมนต์ 3-5 ล้านบาท 221 ยูนิต มูลค่าโครงการ 770 ล้านบาท 3.พฤกษา วิลล์ บางนา-อ่อนนุช 2-3 ล้นบาท 439 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,178 ล้านบาท

4.บ้านพฤกษา รังสิต-อเวนิว (2) 1.5-2.0 ล้านบาท 496 ยูนิต มูลค่าโครงการ 973 ล้านบาท 5.บ้านพฤกษา สุขุมวิท-บางปู (2) 1.5-2.0 ล้านบาท 497 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,037 ล้านบาท 6.บ้านพฤกษา ติวานนท์- รังสิต (2) 1.5 – 2.0 ล้านบาท 496 ยูนิต มูลค่าโครงการ  990 ล้านบาท และ 7.เดอะ ปาล์ม บางนา-วงแหวน เซกเม็นต์ 10 – 20 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 1,370 ล้านบาท 

8.เดอะ แพลนท์ บางนา-วงแหวน 4-7 ล้านบาท 194 ยูนิต  มูลค่าโครงการ 1,203 ล้านบาท 9.ภัสสร จตุโชติ-ทางด่วนรามอินทรา 5-7 ล้านบาท 99 ยูนิต มูลค่าโครงการ 650 ล้านบาท 10.เดอะ แพลนท์ ศรีนครินทร์-เทพารักษ์ 5-7 ล้านบาท 99 ยูนิต มูลค่าโครงการ  1,581 ล้านบาท 11.พลัม คอนโด พระราม 2 ราคา 1-3 ล้านบาท 252 ยูนิต มูลค่าโครงการ 400 ล้านบาท 12.พลัม คอนโด แจ้งวัฒนา-ดอนเมือง 1-3 ล้านบาท 486 ยูนิต มูลค่าโครงการ 909.25 ล้าน

ทั้งนี้ พฤกษาฯยังคงเป้าเดิมตั้งแต่ต้นปี โดยเปิดตัวใหม่ 29 โครงการ มูลค่า 26,630 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 32,000 ล้านบาท และเป้ารายได้ 32,000 ล้านบาท

ด้านนายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าธุรกิจโรงพยาบาลวิมุตว่า รพ.วิมุตเปิดบริการ 3 เดือนเศษรองรับช่วงโควิดพอดี เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 200 เตียง ขณะนี้ได้เปิดศูนย์บริการต่าง ๆ อาทิ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์สมองและประสาท ศูนย์สุขภาพ ศูนย์ผิวหนังและความงาม

ล่าสุด ในช่วงโควิด-19 โรงพยาบาลวิมุตได้เปิดตัวบริการ “Safe Save Surgery” ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลานอนพักฟื้นระยะสั้น โดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ล่าสุด และควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม 

โดยสามารถผ่าตัดได้หลากหลาย อาทิ นิ่วในถุงน้ำดี เนื้องอกมดลูก ผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ ไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร ต่อมลูกหมากโต ต้อกระจก เป็นต้น ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากพักฟื้นเพียงวันเดียว หรือเท่าที่จำเป็น โดยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาและฟักฟื้น และตกลงค่าใช้จ่ายในราคาพิเศษ เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้กับคนไข้ 

นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน รพ.วิมุตได้ร่วมมือกับภาครัฐ เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงต่างประเทศ ฯลฯ จัดฉีดวัคซีนตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องมากกว่า 50,000 เข็มแล้ว ขณะที่ความคืบหน้าการเปิดจองวัคซีนโมเดอร์นา ขณะนี้ทางโรงพยาบาลปิดรับจองและดำเนินการสั่งซื้อวัคซีนจากองค์การเภสัชกรรมเรียบร้อยแล้วครบตามจำนวนโดสสำหรับผู้ที่จองและชำระเงินตามกำหนดเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดสรรลำดับการฉีดวัคซีน จะทยอยเข้ารับวัคซีนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

กิจกรรมทางการตลาดเพื่อสังคม (CSR) มีการแจกแอลกอฮอล์สเปรย์แด่เพื่อนบ้านรอบ รพ.วิมุต ร่วมกับสำนักงานเขตพญาไท ช่วยลงทะเบียนฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับชุมชนในเขตพญาไท และโครงการผ่าตัดช่วยเหลือเคสที่รอรับการผ่าตัดจาก รพ.ภาครัฐ 

สำหรับผลประกอบการ รพ.วิมุตทำรายได้ 500 ล้านบาท ทะลุเป้าเดิม 375 ล้านบาท ตั้งเป้าเติบโตในปี 2565 อยู่ที่ 15-20% ส่วนการลงทุน ViMUT Health Center ที่โครงการ Pruksa Avenue ในย่านบางนา-วงแหวน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้งบฯลงทุน 150 ล้านบาท ขนาด 50 เตียง เป็นศูนย์สุขภาพครอบคลุมบริการหลากหลาย อาทิ คลินิก ศูนย์กายภาพ ศูนย์ดูแลและบริบาลผู้สูงอายุ รวมทั้งให้บริการดูแลสุขภาพถึงบ้าน (Home Health Care) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปลายปี 2565