รฟม.ย้ำประมูล “รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” โปร่งใส-ยึดกฎหมาย ปักปี 70 ได้นั่ง

รฟม.โต้ยิบครหาประมูล “รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” ย้ำ 2 ประเด็น “ยึดประสบการณ์สร้างกับรัฐไทย” เพราะที่ กทม.ละเอียดอ่อน บวกใช้ประสบการณ์ต่างประเทศตรวจสอบยาก ส่วนใช้เกณฑ์ “ราคาพ่วงเทคนิค” เพราะเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญเยอะ ต้องใช้คะแนนด้านนี้ร่วมด้วย ปักหมุดปี 70 ได้นั่งแน่

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แถลงข่าวผ่านระบบ ZOOM ว่า การประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ราคากลางที่ 78,720 ล้านบาท (ค่างานโยธา 77,385 ล้านบาท และค่างานก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท)  ปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างการดำเนินงานการประกวด

โดยได้ขายเอกสารประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 โดยปัจจุบันมีผู้ที่สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาแล้วทั้งสิ้น 8 ราย โดยแบ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย 6 ราย และต่างชาติ (เอเชีย) 2 ราย รวมทั้งสิ้น 8 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2564) ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่ได้รายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบ 

พร้อมกันนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดย รฟม.ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ยืนยันว่า การดำเนินการในทุกขั้นตอนของประกวดราคา เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติ ครม. และประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการดำเนินงานที่รัฐจะได้รับโครงการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด คุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ในประเด็นการกำหนดให้ใช้ผลงานที่เป็นของหน่วยงานรัฐภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว และประเด็นการกำหนดเกณฑ์ประเมินข้อเสนอในการประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในสัดส่วน 30 : 70 ซึ่ง รฟม.ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว ดังนี้

ผูกงานรัฐ เพราะที่ดิน กทม.ละเอียดอ่อน-ตปท.ตรวจยาก

1) ประเด็นการกำหนดให้ใช้ผลงานที่เป็นของหน่วยงานรัฐภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว

การประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่ผ่านมาของ รฟม. ได้ใช้วิธีประกวดราคานานาชาติภายใต้ข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการพัสดุ 2546 ในขณะที่การประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นการประกวดราคานานาชาติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 

ประกอบกับการวินิจฉัยตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.3/24575 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 กรณีผลงานกับรัฐให้หมายถึงผลงานกับรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ การกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทย เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงต้องมีอุโมงค์และสถานีใต้ดินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสภาพธรณีวิทยาที่มีคุณสมบัติเฉพาะสถานที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ ๆ และโบราณสถานต่าง ๆ มากมาย จึงต้องการผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ผ่านการก่อสร้างและประสานงานในโครงการก่อสร้างประเภทเดียวกันในประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าผลงานที่แล้วเสร็จ มีคุณภาพ เชื่อถือได้ 

ในขณะที่การอ้างอิงผลงานต่างประเทศ จะตรวจสอบข้อมูลโครงการได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นประเภทงาน มูลค่าผลงานที่แท้จริง คุณภาพของผลงานที่แล้วเสร็จ รวมถึงประเด็นปัญหาระหว่างดำเนินการก่อสร้างและการที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้รับจ้างสามารถใช้ผลงานเอกชนที่ รฟม.เชื่อถือได้นั้น เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้า หรือโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่มีผลงานประเภทเดียวกันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ในประเทศไทย  มีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของโครงการทั้งหมด ดังนั้น รฟม.จึงไม่ได้พิจารณาให้ใช้ผลงานจากหน่วยงานเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้หน่วยงานพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมหรือจำเป็น

ผ่านสถานที่สำคัญเยอะ เลยใช้เทคนิคร่วมราคาตัดเกรด

2) ประเด็นการกำหนดเกณฑ์ประเมินข้อเสนอในการประกวดราคางานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในสัดส่วน 30 : 70

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีแนวเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญและอ่อนไหวหลายแห่ง เช่น รัฐสภาแห่งใหม่ โรงพยาบาลวชิระ หอสมุดแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย วัดต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในการออกแบบและก่อสร้างขั้นสูงจากผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและสามารถดำเนินงานก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน

ดังนั้น การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประกวดราคา โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา มีจุดประสงค์เพื่อให้การดำเนินโครงการได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ด้าน ไม่ใช่เพียงจุดประสงค์ทางด้านราคาที่ต่ำเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องพิจารณาประกอบกับข้อเสนอด้านเทคนิคที่มีความเหมาะสมหรือดีที่สุดด้วย เป็นไปตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้าง 2560 มาตรา 65 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 ข้อ 83 (2) ประกอบกับหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่กค (กวจ) 0405.2/ว198 เรื่องแนวทางการปฏิบัติในการจัดทำร่างขอบเขตของงาน กรณีหน่วยงานของรัฐกำหนดเกณฑ์การพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่นเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีศักยภาพสูงเพียงพอและ มีความเหมาะสมที่จะสามารถดำเนินงานโครงได้สำเร็จตามแผนงานและมีคุณภาพภายใต้กรอบงบประมาณที่กำหนดไว้

ตัวอย่างโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐหลายโครงการที่ใช้เกณฑ์การคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา เช่น โครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบินสุวรรณภูมิ งานจ้างปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด และงานจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระในโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงในโครงการร่วมลงทุนสาธารณูปโภคของภาครัฐขนาดใหญ่ เช่น โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (โครงการทางด่วนสายแจ้งวัฒนะ–บางพูน-บางไทร) โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอย โดยระบบเตาเผามูลฝอย ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมของกรุงเทพมหานครซึ่งใช้เกณฑ์คะแนนรวมด้านเทคนิคกับผลตอบแทนด้านการเงิน รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ก็ใช้เกณฑ์การประเมินคะแนนรวมด้านเทคนิคกับด้านผลตอบแทนเช่นกัน 

ทั้งนี้ รฟม.ขอเรียนว่าการดำเนินการในทุกขั้นตอนของ รฟม.เป็นไปด้วยความละเอียด ถี่ถ้วน สอดคล้องตามกฎเกณฑ์ กฎ ระเบียบ มติ ครม.และประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการดำเนินงานที่รัฐจะได้รับโครงการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีระยะทางรวม 23.6 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2570