พร้อมสุดขีด “คมนาคม-กทม.” ระดมพลรับมือน้ำท่วมปี’64

“คมนาคม-กทม.” ลุยรับมือน้ำท่วม กรมทางหลวงผนึกกำลังกรมทางหลวงชนบทส่งเจ้าหน้าที่เคลียร์เส้นทางปัญหาน้ำท่วมขัง-ดินสไลด์ 24 ชั่วโมง

ด้าน กทม.ประกาศแผน 9 ขั้นรับมือ มีทั้งงานลอกท่อ-เปิดทางน้ำไหล-มาตรการเยียวยาผู้ประสบภัย จัดบิ๊กอีเวนต์จิตอาสากำจัดผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา

สถานการณ์น้ำท่วม-น้ำท่วมขังในช่วงหน้าฝนทำให้กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร (กทม.) สั่งระดมเจ้าหน้าที่ standby 24 ชั่วโมงเพื่อรับมือและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

วันที่ 13 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวอัพเดตความคืบหน้า ดังนี้ กรมทางหลวง (ทล.) รายงานเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 12 ก.ย. 64 มีถนนทางหลวงถูกน้ำท่วมและดินสไลด์ 7 จังหวัด 9 สายทาง จำนวน 10 แห่ง ใน 10 แห่งนี้สามารถสัญจรได้ 10 แห่ง ได้แก่

1.จังหวัดสมุทรปราการ 3 แห่ง ใน 3 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงสาย 3117 ช่วงคลองด่าน-บางบ่อ ช่วง กม.ที่ 5+300-กม.ที่ 5+600 มีระดับน้ำสูง 5-10 ซม., ทางหลวงสาย 3413 ช่วงทางเข้าบางบ่อ อ.บางบ่อ ช่วง กม.ที่ 0+450-กม. 2+100 พบมีระดับสูงเป็นช่วง ๆ ที่ระดับ 5-10 ซม. และทางหลวงสาย 34 ช่วงทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ-บางวัว อ.บางบ่อ ช่วง กม.ที่ 29+200-กม.ที่ 30+300 พบระดับน้ำสูงเป็นช่วง ๆ ที่ระดับ 5-15 ซม.

2.จังหวัดมหาสารคาม 1 แห่งใน 1 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงสาย 213 ช่วงมหาสารคาม-หนองขอน ช่วง กม.ที่ 8+500-กม.ที่ 8+600 พบระดับน้ำสูง 8 ซม.

3.จังหวัดนครราชสีมา 1 แห่งใน 1 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงสาย 224 ช่วงพะโค-หนองสนวน ช่วง กม.ที่ 79+800 พบถนนทรุด 1 เลนด้านซ้ายทาง อยู่ระหว่างซ่อมแซม

4.จังหวัดเลย 2 แห่งใน 1 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงสาย 2114 ช่วงด่านซ้าย-ปากหมัน ช่วง กม.ที่ 3+650-กม.ที่ 3+750 พบน้ำสูง 5 ซม. และช่วง กม.ที่ 5+300-กม.ที่ 5+525 พบระดับน้ำสูง 5 ซม.

5.จังหวัดกำแพงเพชร 1 แห่งใน 1 สายทาง ได้แก่ทางหลวงสาย 1 ช่วงโนนปอแดง-ปากดง ช่วง กม.ที่ 391+600-กม.ที่ 392+600 พบระดับน้ำสูง 15 ซม.

6.จังหวัดแพร่ 1 แห่งใน 1 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงสาย 1124 ช่วงปางกุ่ม-วังชิ้น ช่วง กม.ที่ 30+685 พบมีน้ำป่าไหลหลากกัดเซาะทำให้เกิดโพรงใต้สะพาน รถเล็กผ่านได้ แต่รถใหญ่ผ่านไม่ได้ จะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 2 วัน โดยระหว่างให้ใช้ทางเบี่ยงเข้าหมู่บ้าน ทล.1224 เดิมไปก่อน มีระยะทางประมาณ 2 กม.

7.จังหวัดตาก 1 แห่งใน 1 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงสาย 12 ช่วงแม่ละเมา-ตาก ช่วงกม.ที่ 65+000-กม.ที่ 68+000 พบดินสไลด์ปิดเส้นทางด้านซ้าย ส่วนด้านขวายังสัญจรต่อได้

ถนนชนบทท่วม 3 เส้นทาง-สัญจรได้

กรมทางหลวงชนบท ( ทช.) รายงานเพิ่มเติมในช่วงเวลาใกล้เคียงกันว่า มีถนนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ สมุทรปราการ และพิจิตร รวม 3 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้ ดังนี้

1.ถนนทางหลวงชนบทสาย พช.2065 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12-เขตเทศบาลเมืองหล่มสัก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วง กม.ที่ 5+100 ถึง กม.ที่ 5+875 ระดับน้ำท่วมสูง 25 เซนติเมตร

2.ถนนทางหลวงชนบทสาย สป.5003 เชื่อมทางหลวงท้องถิ่นบางเสาธง-บ้านช้างตาย อำเภอบางเสาธง, บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 3+000 มีระดับน้ำท่วมสูง 7 เซนติเมตร

3.ถนนทางหลวงชนบทสาย พจ.4016 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1069-บ้านห้วยร่ม อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร ช่วง กม.ที่ 7+650 ถึง 8+000 มีระดับน้ำท่วมสูง 20 เซนติเมตร

ทั้งนี้ ทช.ได้ดำเนินการติดตั้งป้ายเตือน ปักเสาแสดงเขตแนวน้ำท่วมให้ประชาชนได้รับทราบและสัญจรด้วยความระมัดระวังแล้ว รวมถึงเตรียมพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักร กระสอบทราย เจ้าหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือให้ทันท่วงทีและจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุอุทกภัย ได้ที่สายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146

กทม.กางแผน 9 ขั้น รับมือน้ำท่วม

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า มีแผนรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ 9 ขั้นตอน ประกอบด้วย

1.ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานครโดยศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง

2.เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที

3.ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผน

4.เมื่อมีฝนตก ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย “อัมรินทร์” แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน)

5.ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการการจราจร

6.หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่าง ๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมแบบเรียลไทม์

7.ประสานงานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม/ทหาร ช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ เป็นต้น

8.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤต โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม

9.ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะ ๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ และช่องทางโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมี ผอ.เขต เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์

ส่วนความคืบหน้าการเร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ในส่วนที่กรุงเทพมหานครรับผิดชอบ

สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำในปี 2564 ได้ดำเนินการ ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,348 กิโลเมตร ขุดลอกคูคลอง 130 คลอง 270 กิโลเมตร เก็บขยะ ผักตบชวา เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เปิดทางน้ำไหลและหมุนเวียนเปิดทางน้ำไหล 1,528 คลอง ความยาว 1,601 กิโลเมตร

ด้านการจัดเก็บวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักสิ่งแวดล้อม มีแผนดำเนินการจัดเก็บขยะและวัชพืชอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปี 2563 จัดเก็บได้ 3,233.51 ตัน แบ่งเป็น วัชพืช 2,651.48 ตัน ขยะบ้าน 258.68 ตัน เศษไม้ 226.35 ตัน โฟม 97.01 ตัน และปี 2564 จัดเก็บได้ 3,612.40 ตัน แบ่งเป็น วัชพืช 3,562.19 ตัน ขยะบ้าน 24.56 ตัน พลาสติก 25.65 ตัน (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม)

โดยในวันนี้ (13 ก.ย. 64) จัดกิจกรรม “จิตอาสา” ร่วมแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 สวนหลวงพระราม 8 (สะพานพระราม 8) เขตบางพลัด ลงเรือจัดเก็บผักตบชวา วัชพืช และขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9

พร้อมกันนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร 2563 โดยถือปฏิบัติในปี 2564 กำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการหลัก ซึ่งประกอบด้วย สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และหน่วยสนับสนุนประกอบด้วยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องจัดทำแผนรองรับเพื่อเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร ระบบการปฏิบัติ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

นอกจากนี้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที ตลอดจนทำการฟื้นฟูเยียวยาสงเคราะห์ผู้ประสบภัยภายหลังจากอุทกภัยสิ้นสุดแล้ว