รอปลายปีหน้า! รถไฟฟ้าขบวนใหม่ถึงไทย-รฟม. หารือ BEM รับมือคนใช้สายสีน้ำเงินทะลัก

จากกรณีที่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม (BEM) ผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ได้ทดลองถอดที่นั่งผู้โดยสารแถวกลางในขบวนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินออก จำนวน 1 ขบวน เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในขบวนรถไฟฟ้า และทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้มากขึ้น โดยได้เริ่มนำมาทดลองให้บริการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เป็นวันแรก ซึ่งต่อมาเกิดเป็นกระแสวิจารณ์และมีการแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยจากผู้ใช้บริการ ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน นั้น

นายรณชิต แย้มสอาด ที่ปรึกษา รักษาการรองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยหลังจากการประชุมหารือร่วมกับ ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM เกี่ยวกับมาตรการทดลองถอดที่นั่งบางส่วนในขบวนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินออกจำนวน 1 ขบวน ว่าจากการที่จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น BEM ได้ดำเนินการจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มจำนวน 35 ขบวนแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างกระบวนการผลิต

ซึ่ง รฟม.ได้เร่งรัดให้ BEM ดำเนินการส่งรถใหม่มาให้บริการโดยเร็วที่สุด โดยรถไฟฟ้าขบวนใหม่จะส่งมาถึงในช่วงปลายปี 2561 และจะเริ่มทยอยให้บริการได้ประมาณตนปี 2562

โดยในระหว่างที่รอรถขบวนใหม่มาเพิ่มนั้น รฟม.ได้กำชับให้ BEM ดำเนินการหาแนวทางเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา BEM ได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยระบายผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น การเพิ่มจำนวนพนักงานให้บริการที่สถานีมากขึ้น

การปรับรูปแบบการเดินรถให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด การเพิ่มมาตรการและความถี่ด้านการบำรุงรักษา การให้ความรู้และรณรงค์การโดยสารรถไฟฟ้าที่ถูกต้องรวดเร็ว ปลอดภัย การจัดแคมเปญส่งเสริมสำหรับผู้โดยสารที่ปรับเวลามาใช้บริการเช้าขึ้นก่อนเวลา 07.00 น. รวมถึงการปรับปรุงห้องโดยสารในขบวนรถไฟฟ้าโดยถอดที่นั่งบางส่วน พร้อมทั้งเพิ่มราวจับ เป็นต้น

สำหรับการปรับปรุงห้องโดยสารในขบวนรถไฟฟ้าโดยถอดที่นั่งบางส่วนและเพิ่มราวจับนั้น เป็นการทดลองดำเนินการเช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ดำเนินการแล้ว เพื่อให้ผู้โดยสารที่รอคอยรถไฟฟ้าเป็นเวลานานในช่วงเวลาเร่งด่วนสามารถโดยสารรถไฟฟ้าได้เร็วขึ้น

โดย BEM ได้ทดลองถอดที่นั่งเพียงบางส่วนของจำนวนที่นั่งทั้งหมด และยังคงเหลือที่นั่งเพียงพอสำหรับผู้โดยสารที่มีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้ 10%

ทั้งนี้ ในระหว่างการทดลองถอดที่นั่งกับรถไฟฟ้าจำนวน 1 ขบวน BEM จะได้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลที่ได้รับจากการทดลองให้บริการจริง พร้อมทั้งรับฟังความเห็นโดยรวมของผู้ใช้บริการ และจะนำผลการทดลองให้บริการมาหารือร่วมกับ รฟม.อีกครั้ง เพื่อกำหนดมาตรการดำเนินการชั่วคราวที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้โดยสารต่อไป