“ศักดิ์สยาม” จี้คลอดพิมพ์เขียวหัวลำโพงโฉมใหม่ พฤศจิกายน นี้ 

“ศักดิ์สยาม” ส่องแผนพัฒนาที่ดินรถไฟ 3 แปลง เร่ง “หัวลำโพง” คลอดผลการศึกษาพัฒนาโครงการ พ.ย. 64 หวังดันให้เร็วขึ้นจากปี 68 พร้อมดันพัฒนาริมทางรถไฟ “บางซื่อ-หัวลำโพง/เพลินจิต” ต่อ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางบางซื่อ – หัวลำโพง ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทยลดบทบาทลง 

ส่อง 3 แปลงเด็ดที่ดินรถไฟ

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานีรถไฟหัวลำโพงมีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ในอนาคต) ดังนั้น จึงควรนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ดังนี้

1.สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน โดยคำนึงถึงการเชื่อมต่อกับรูปแบบการเดินทางอื่นๆ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การใช้พื้นที่สีเขียว การอนุรักษ์คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวจะมีการนำกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาใช้ในการพิจารณาร่วมด้วย 

โดยบริษัทลูกของการรถไฟฯ “บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด” จะเข้าร่วมการดำเนินการในครั้งนี้ด้วย คาดว่า จะสามารถนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 

2.พื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ – สถานีหัวลำโพง การรถไฟฯ เตรียมพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ให้มีความชัดเจนเมื่อได้มีการสำรวจรายละเอียดตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง เช่น สายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การเชื่อมต่อสถานีจิตรลดา เป็นต้น คาดว่าจะสามารถนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ได้ในเดือนธันวาคม 2564

3.การพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ บริเวณเพลินจิต การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้หารือกับการรถไฟฯ เพื่อกำหนดแนวทางการในการบูรณาการให้มีการพัฒนาพื้นที่ที่ต่อเนื่องกัน โดยการปรับให้รูปแบบโครงการให้มีลักษณะที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน คาดว่าจะได้ผลสรุปร่วมกันในเดือนตุลาคม 2564 

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้กำชับและสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.ให้กำหนดรูปแบบการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่ชัดเจนโดยเร็ว รวมทั้งให้เร่งรัดแผนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่เดิมกำหนดไว้ในช่วงปี 2568 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

2. ให้พิจารณานำรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ของภาคเอกชนมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งให้ให้เน้นการพัฒนาพื้นที่แนวดิ่ง 3.ให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีต่าง ๆ ด้วย โดยกรณีที่เป็นพื้นที่ของภาคเอกชนหรือส่วนราชการอื่น ให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน 

4.การให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสถานีหัวลำโพง ให้พิจารณาเปรียบเทียบจนถึงข้อสรุปถึงรูปแบบที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและการรถไฟแห่งประเทศไทย เช่น การเปรียบเทียบระหว่างการให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งแปลง หรือการแบ่งการพัฒนาเป็นแปลงย่อย เป็นต้น 

5.สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วนเพลินจิต ให้การทางพิเศษฯ พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน แทนการให้เช่าพื้นที่ ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากขึ้น รวมทั้งให้เร่งรัดการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว