ยลโฉม “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” สวนต้นแบบ “Green Bangkok 2030”

ยลโฉม “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” สวนต้นแบบ “Green Bangkok 2030”

วันที่ 23 กันยายน 2564 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า  ตามที่สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการ Green Bangkok 2030 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สนับสนุนพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ

โดยได้ตรวจเยี่ยมการจัดทำสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ลักษณะของสวนแห่งนี้เป็นสวนขนาดเล็ก (Pocket Park) ตั้งอยู่บริเวณซ.วัดหัวลำโพง เขตบางรัก ซึ่งได้รับมอบที่ดิน จากหม่อมหลวงธิษัน ศรีธวัช เพื่อให้ใช้ประโยชน์จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะสำหรับชุมชน เนื้อที่รวม 262.70 ตารางวา 

สำนักสิ่งแวดล้อมได้นำที่ดินแปลงนี้เข้าร่วมโครงการ Green Bangkok 2030 เมื่อปี 2563 ถือเป็นสวนนำร่องอีกแห่งหนึ่งตามโครงการ Green Bangkok 2030 เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่ม We Park, บริษัทฉมาโซเอ็น จำกัด, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนและให้การสนับสนุน 

มีการออกแบบและกำหนดพื้นที่ใช้สอยภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่และภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการที่อยู่โดยรอบพื้นที่ ซึ่งกลุ่ม We Park ได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนจนดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบพื้นที่สวนให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสวนสาธารณะอเนกประสงค์สำหรับชุมชน ประกอบด้วย ลานจัดกิจกรรมชุมชน เวทีกลางแจ้ง ลานอเนกประสงค์ สนามเด็กเล่น ลานหินนวดเท้า เส้นทางวิ่งออกกำลังกาย อีกทั้งมีศาลาชาน-ศาลานั่งเล่น ศาลาทำการบ้าน และศาลาออกกำลังกายพร้อมอุปกรณ์ออกกำลังกาย อีก 1 หลัง

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ปลูกผักสวนครัว ซึ่งเป็นอีกแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรในเมืองสำหรับชุมชน โดยเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้ทุกวันในเวลา 05.00 – 20.00 น.

พบที่รกร้างเหมาะทำสวนอีกมาก

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้สำรวจพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ว่างเปล่าในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นระยะ เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ในการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะเพิ่มเติมได้ โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร ยังคงมีพื้นที่รกร้างจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ ภาคเอกชน และประชาชน 

แต่อย่างไรก็ตามในการเข้าพัฒนาพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์นั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน หากหน่วยงานต่างๆ หรือประชาชนมีพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมีความประสงค์อยากให้กรุงเทพมหานครพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสำนักสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งในการดำเนินงานด้านต่างๆ นั้นกรุงเทพมหานครไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนในชุมชนด้วย