SCG ไล่ล่า 4 เมกะเทรนด์ Digital Twin-กรีนคอนสตรักชั่น สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

เทศกาลล่าเทรนด์ใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาแห่งปี หัวข้อ “ธุรกิจ สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา หนึ่งในซูเปอร์สตาร์วงการนักธุรกิจเมืองไทยรับเชิญเป็นวิทยากรบนเวที “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG

และไม่เคยทำให้ผิดหวัง “รุ่งโรจน์” ฟันธง 4 เมกะเทรนด์ที่ภาคธุรกิจ ภาคการผลิต ภาคการบริการต้องฟัง ประกอบด้วย “automation-e-Commerce-smart farming-green construction” ที่จะช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างภูมิคุ้มกันฝ่าฟันสถานการณ์โควิด

2 ปีคนไทยเรียนรู้อยู่กับโควิด

ในเมืองไทยสถานการณ์การระบาดดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการระบาดหายไป แต่หมายความว่าเราเริ่มที่จะปรับตัว เริ่มเรียนรู้อยู่กับโควิดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการติดเชื้อ ความรุนแรงของการติดเชื้อ การฉีดวัคซีน วันมหิดล (24 กันยายน) ที่่ผ่านมา เราฉีดได้ 1.3 ล้านโดส

ในขณะเดียวกัน การ์ดเองก็ยังไม่ตก การรักษาพยาบาล ตลอดจนภาคส่วนที่ดูแลเรื่องของเศรษฐกิจยังพอไปได้ เรื่องของการทำ bubble and seal และหลายบริษัททำ factory isolation

อีกเรื่องหนึ่งคือประสิทธิภาพวัคซีน เราเห็นแล้วว่าไม่ใช่เรื่องของการสามารถหยุดการแพร่กระจายได้ แต่เป็นเรื่องวัคซีนช่วยให้ความรุนแรงของการติดเชื้อลดลง ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสายพันธุ์เดลตาที่เกิดขึ้นว่าเรากำจัดมันไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้

เรื่องของการฟื้นตัว มาคุยกันได้แล้ว มีการเตรียมตัวกันได้แล้ว การฟื้นตัวทั้งของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจจากโควิด ซึ่งผมดูจากหลาย ๆ ประเทศที่เห็นคือมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แน่นอนคนที่ได้รับผลกระทบน้อยการฟื้นตัวจะเร็ว

ภาคที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น การท่องเที่ยว สายการบิน โรงแรม อาจจะใช้เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐที่บอกให้ปิดหรือให้หยุดกิจการในช่วงหนึ่ง พอเริ่มเปิดเริ่มคลี่คลายมาตรการจะฟื้นตัวได้เร็ว

มุมมองของ SCG กลุ่มภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรมมีเทรนด์ 4 อย่างที่น่าสนใจ จริง ๆ ต้องบอกว่าเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ถ้าเราไปในทิศทางหรือแนวทางตรงนี้ได้ เราจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้

พระเจ้าองค์ใหม่ “Digital Twin”

เรื่องแรก “automation” ภาคอุตสาหกรรมชัดเจนเรื่องของ industry automation ส่วนภาคบริการ คือ service หรือ warehouse หรือ logistic automation เราเห็นบทเรียนจากช่วงโควิดก็คือการขาดแคลนแรงงาน บางภาคส่วนมีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก

พอการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้น หรือมีการติดเชื้อเกิดขึ้น โรงงานต้องหยุด ซัพพลายเชนขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อลูกค้า ในส่วนของลูกค้ามีความต้องการหลากหลายมากขึ้น ทำให้ความซับซ้อนในการผลิต การให้บริการก็มีมากขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้น automation ไม่ใช่เรื่องการลงทุน แต่เป็นการต่อยอด เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องทำ เช่น พัฒนาระบบการผลิตให้ต่อเนื่อง เพิ่ม liability เพิ่ม up time ของธุรกิจ นำ AI-ปัญญาประดิษฐ์มาใช้ มีการพยากรณ์ว่าจะต้องบำรุงรักษาเครื่องจักรตรงไหน เวลาไหน

ในยุคใหม่ เราไม่มานั่งดูทุก ๆ 5,000 ชั่วโมง จะต้องมีการบำรุงรักษา แต่เราดูว่าสภาพเครื่องจักร สภาพการผลิตเป็นยังไง แล้วเราบำรุงรักษาตามสภาพของมัน เพื่อให้ใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด

อีกอันหนึ่งคือ digital twin หลัก ๆ คือการทำคู่แฝดขึ้นมาในโลก virtual ให้จำลองกระบวนการผลิต การให้บริการ กระบวนการดูแล supply chain พอมีตรงนี้เราสามารถปรับได้เลย อยากปรับสีให้เป็นสีที่มีความหลากหลายมากขึ้นก็ไปปรับที่ตัวแฝดของเราก่อน

พอปรับเราก็จะรู้ว่าผลกระทบเป็นอย่างไร พอถึงตอนทำจริง ๆ ปัญหาจะน้อยลงมาก การเปลี่ยนสูตร เปลี่ยนกระบวนการผลิต เปลี่ยน product อะไรต่าง ๆ สามารถทำได้ง่าย

ยุคนี้อะไร ๆ ก็อีคอมเมิร์ซ

เทรนด์ที่ 2 “e-Commerce” วันนี้นึกไม่ถึงเลยว่าเราจะต้องสั่งอาหารมาทานทุกมื้อแบบนี้ โควิดเป็นตัวเร่งทำให้ e-Commerce เกิดขึ้น อนาคตเราเห็นแล้วว่า สังคมไม่ใช้เงินสด cashless society เกิดขึ้นแน่นอน

สินค้า SCG เองอย่างวัสดุก่อสร้าง แต่เดิมมองว่ายากในเรื่องของ e-Commerce จะทำอย่างไร จะติดตั้งอย่างไรผ่านทาง e-Commerce

ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเราได้ใช้ตั้งแต่ช่วงที่เกิดโควิด คือ แพลตฟอร์มที่เราเรียกว่า “คิวช่าง” (Q-CHANG) คนทำบ้าน หรือคนที่เป็นเจ้าของบ้าน มีปัญหาอยู่เสมอเรื่องการหาช่าง เราทำแพลตฟอร์มคิวช่าง สามารถเข้าไปเลือกดู เลือกใช้บริการที่เหมาะสมกับพื้นที่และเนื้องานได้

นอกจากนี้ เรามีแพลตฟอร์ม Design Connext เป็นผู้ช่วยเจ้าของบ้านตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การตกแต่ง หรือการบำรุงรักษา Design Connext เป็นเหมือนเพื่อนคู่ใจของเจ้าของบ้าน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ packaging หรือบรรจุภัณฑ์ พอ e-Commerce เกิดขึ้น บรรจุภัณฑ์ต้องได้รับการออกแบบเพื่อให้เหมาะกับการขนส่ง การถนอมคุณภาพสินค้า เช่น อาหาร ผักผลไม้ ทำอย่างไรเวลาขนส่งแล้วสามารถรักษาความสดได้ ผักแต่เดิมเก็บได้ 3 วัน ยืดออกไปเป็น 7 วันได้ไหม โดยที่มีความสดเหมือนเดิม เรามีทางแก้คือ packaging เพื่อถนอมยืดอายุให้เหมาะกับการบริโภค

เรามีแพลตฟอร์มให้บริการกับ SMEs ในเรื่องอาหาร ชื่อว่า Dezpax เช่น ถ้าผมมีของอยู่ในพื้นที่ที่อยากโปรโมตขาย มีการออกแบบทำแบรนด์ให้ มีการ design packaging ให้เหมาะด้วย จากนั้นทำเรื่องการส่ง และวัดความพึงพอใจผู้บริโภคให้ด้วย ที่สำคัญ มีประสิทธิภาพและต้นทุนไม่สูง

สมาร์ทฟาร์มมิ่งของตัวเล็ก

เทรนด์ที่ 3 “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” ช่วงโควิดมีคนจำนวนมากย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม กลับไปทำการเกษตร เข้าสู่วงการอาหาร การเกษตร การเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ ผักผลไม้ สังเกตอย่างหนึ่งคือเป็นคนยุคใหม่ พร้อมที่จะยอมรับเทคโนโลยี

ปัญหาของเกษตรบ้านเราคือเกิน 70% เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก การที่จะกล้าลงทุนใช้เครื่องจักรการเกษตรแบบจริงจังไม่ง่าย เพราะต้นทุนแพงต่อจำนวนพื้นที่

เรามีการนำแนวคิดในเรื่องของการแชร์ เช่น ตั้งสหกรณ์ขึ้นมา และแชร์เครื่องจักร 5-10 ครัวเรือน สามารถที่จะแบ่งกันใช้ได้ ทำให้ต้นทุนในการเก็บเกี่ยว เพาะปลูก การดูแลรักษาลดลง สู้กับเกษตรแปลงใหญ่ได้ ซึ่งมี 3 เรื่อง คือ 1.ฮาร์ดแวร์ มีเครื่องทุ่นแรง ทั้งการปรับสภาพดิน การปลูก การเก็บเกี่ยวที่ทำแล้วต้นทุนลดลง

2.ซอฟต์แวร์ มีการนำระบบบริหารจัดการเรื่องของการควบคุมสภาพการปลูกมาใช้ ความชื้น น้ำ การให้ปุ๋ย การทำปฏิทินว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง พอมาดูเป็นรายเดือนวางแผนการเปลี่ยนชนิดของพืชได้ด้วย สำรวจได้ด้วย

3.people were การให้ความรู้การเกษตร ไม่ว่าการตลาด ปลูกแล้วต้องมีตลาดที่สามารถไปขายได้ การใช้เทคโนโลยีมาปลูก การเพาะพันธุ์ มีหลายเรื่องที่เรานึกว่าเรารู้แล้ว แต่เกษตรสมัยใหม่ให้น้ำมากไปก็ไม่ใช่ว่าดี ให้น้ำน้อยไปไม่ดีแน่ การรักษาพันธุ์ การรักษาสภาพการปลูก เพื่อให้โอกาสที่แมลงเข้ามารบกวนลดน้อยลง ทำให้ผลิตผลการเกษตรมีคุณภาพที่มั่นใจมากขึ้น

ปฏิวัติกรีนคอนสตรักชั่น

เทรนด์ที่ 4 “green construction” การก่อสร้างสีเขียว การก่อสร้างแบบยั่งยืน sustainable construction ยุคโควิดเป็นตัวเร่งให้เทรนด์นี้แรงขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงาน ฝุ่น การประหยัดเวลาในการก่อสร้าง การลดของเสีย

บางทีนึกไม่ถึงว่าการสูญเสียในไซต์ก่อสร้างมีมากถึง 30% ซึ่งเรามีการนำเทคโนโลยี BIM (building information modeling) มาใช้วางแผนออกแบบการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพ โดยมีของเสียน้อยที่สุด

นอกจากนี้ สามารถจำลองกระบวนการก่อสร้างได้ ทำให้วางแผนได้ว่า คอนกรีต, หลังคา, แผ่นพื้น เข้ามาวันนี้ ถ้าเป็นโครงการใหญ่ ๆ สำคัญมากถึงขนาดจัดระเบียบการจราจรได้ด้วย ทำให้ความเดือดร้อนกับชุมชนที่อยู่ใกล้บริเวณก่อสร้างลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ลดลง คุณภาพงานก่อสร้างก็ทำได้ดีขึ้นด้วย

ทำงานสำเร็จบนแพลตฟอร์ม

จะเห็นว่าผมใช้คำว่าแพลตฟอร์มมาก ทำไมต้องเป็นแพลตฟอร์ม… คำนิยามอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการรวมกลุ่มมากกว่า 2 กลุ่ม 2 คน ไม่ใช่เฉพาะคนซื้อคนขาย แต่มีคนกลางด้วย พอคุยถึงแพลตฟอร์มจะมีคนที่เข้ามาแชร์ตรงนี้กันเยอะมากขึ้น

เพราะฉะนั้น แพลตฟอร์มที่ดี คือ นำเทคโนโลยีมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาในการให้บริการ ลดระยะเวลาในการทำงาน และท้ายที่สุด มีมูลค่าที่เกิดขึ้นมา และนำมาแชร์กัน เพราะฉะนั้น แพลตฟอร์มเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ecosystem เกิด

ก็หวังว่าภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ จะเห็นถึง 4 เทรนด์นี้ ซึ่ง SCG เห็นโอกาสตรงนี้ ถ้าเราเห็นโอกาสตรงนี้ด้วยกัน มาอยู่ในแพลตฟอร์มด้วยกัน ผมคิดว่าจะสร้างโอกาสและช่วยให้เราสามารถปรับตัวและฟื้นฟูธุรกิจของเราหลังจากโควิด

ปรับตัวเพื่อไม่ให้ถอยหลัง

ประเด็นการใช้ออโตเมชั่นจะส่งผลกระทบต่อแรงงานคนหรือไม่นั้น แนวคำตอบคือคิดว่ามีผล เพราะการนำ automation มาใช้ แน่นอนจำนวนคนที่อยู่จะลดลง

ในคำถามหนึ่งซึ่งต้องถามตัวเองอย่างจริงจังก็คือ ถ้าเราไม่มีประสิทธิภาพ ถ้ายังมีจำนวนคนซึ่งมากกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกันเราไม่ได้อยู่ได้คนเดียวในเมืองไทย และในภูมิภาคนี้ แต่เราต้องผลิต ต้องให้บริการที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกด้วย ถ้าคู่แข่งทำกันหมดแล้ว เราไม่ไปไม่ได้

เศรษฐกิจจะเจริญได้ด้วย 2 อย่าง 1.ประสิทธิภาพ เราต้องทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น ต้นทุนถูกลง 2.เรื่องของการเจริญเติบโต บ้านเราในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาขาดในเรื่องของการเจริญเติบโต ซึ่ง mindset เรื่องการเจริญเติบโตเป็นเรื่องที่สำคัญ

เพราะฉะนั้น เมื่อเรานำเทคโนโลยี นำ automation มาใช้ เราต้องนำประโยชน์ตรงนี้ไปใช้ในการลงทุนพัฒนา เพื่อให้ธุรกิจสามารถขยายให้ได้มากขึ้น เช่น สมาร์ทฟาร์มมิ่ง พอทำแล้วปรากฏว่าต้นทุนผลิตภัณฑ์ถูกลง ก็ทำให้เรามีความสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ขยายตลาดออกไปได้ อันนี้คือ growth mindset

ถ้าบอกว่าเราทำทุกอย่างเหมือนเดิม สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือความสามารถในการแข่งขันของเราจะเท่าเดิม ซึ่งเท่าเดิมมันคือลดลง พอลดลงก็ไม่สามารถแข่งขันได้ นอกจากไม่โตขึ้นแล้ว ตลาดจะหดลงไปอีก

เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ลงทุนเทคโนโลยี การปรับปรุงธุรกิจ เราจะต้องมีการรีเทรน รีสกิลพนักงานของเราด้วย เพื่อให้คนของเรามีความสามารถสร้างธุรกิจที่ขยาย ไม่ว่าจะต่อยอดในตลาดที่มีอยู่แล้ว หรือพัฒนาของใหม่ ๆ

ยกตัวอย่าง green construction มีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่สนใจในเรื่องกรีน ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่าง SCG ในช่วงนี้ทำ work from home สักพักหนึ่งเราก็ต้องกลับไป

แต่แน่นอนกลับไปไม่เหมือนเดิมแน่ ไม่ได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ 100% แน่ จะมีการผสมผสานการทำงานที่บ้านอยู่ การทำงานนอกเหนือจากสถานที่ทำงาน อันนี้ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจ

ผมมีข้อสังเกตเห็นอย่างหนึ่งคือมีตลาดที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากสาเหตุนี้ คนต้องการปรับปรุงบ้าน เพราะบ้านไม่ใช่สถานที่เป็นที่อยู่ที่กินอย่างเดียว ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำงานด้วย เราต้องการสเปซเพิ่มขึ้น บางทีมีที่อยู่แล้ว ก็ต้องการมีสเปซเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับการทำงาน คิดว่าตรงนี้เป็นโอกาส ถ้าเรามองเห็น

เอกซเรย์ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก

สำหรับ SCG ในสถานการณ์โควิด 2 ปีที่ผ่านมา โชคดีที่เราไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยตรงเหมือนธุรกิจอื่น ๆ บริษัทมี 3 ธุรกิจหลัก โดย “บรรจุภัณฑ์” ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากช่วงโควิด ซึ่งมีการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น

ถัดมา “ธุรกิจเคมิคอล” ผลกระทบโดยรวมถือว่าเป็นบวก มีต้นทุนที่บริหารจัดการได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการสินค้าประเภทพลาสติกมีมากขึ้น ส่วน “การก่อสร้าง” อาจจะมีการได้รับผลกระทบในเชิงลบบ้าง เพราะต้องปิดตามมาตรการรัฐ (ที่ผ่านมามีมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง 1 เดือน) แต่สิ่งที่ได้เห็นก็คือ ทำให้เราปรับตัว

โควิดที่ผ่านมา บทเรียนสำคัญที่สุดคือเรื่องของการปรับตัว และเป็นการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าไม่รวดเร็วก็อยู่ไม่ได้ เช่น e-Commerce พวกเราไม่นึกเลยว่าจะปรับตัวได้เร็วขนาดนี้ ไม่เคยนึกเลยว่า ตัวแทนจำหน่าย

ที่เรียกว่า agent distributor ของเรา จะสามารถมาขายของแบบ e-Commerce ได้แบบนี้ นึกไม่ถึงเลยว่า คนอายุ 60-70 ปี จะนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในการทำธุรกิจ การตลาด การกระจายสินค้า โลจิสติกส์

อีกตัวอย่างที่เห็น คือ green construction แต่เดิมนึกไม่ถึงว่าจะมีคนจ่าย เพราะเราทำแล้วมีเวสต์น้อย และทำได้เร็ว เรื่องของ modular construction เป็นสิ่งที่เห็นเลยว่า โควิดทำให้เกิดขึ้นมา

ถอดบทเรียน Set Zero องค์กร

ทั้งนี้ ช่วงที่เกิดโควิดใหม่ ๆ เรา set zero ทุกอย่าง เรามานั่งรีวิวใหม่หมด ลงทุนก็รีวิวใหม่ จัดลำดับความสำคัญใหม่ เพื่อดูว่าจริง ๆ แล้วยังมีความเหมาะสมอยู่ไหมถ้ามีโควิด หรือพ้นช่วงโควิดไป อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นผลพลอยได้ ซึ่งดูเหมือนเล็ก ๆ แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่

นั่นคือเราได้เห็นว่า คนของเรา พนักงาน ผู้บริหารของเรา พอเจอกับ crisis มีวิธีการทำงานอย่างไร มีวิธีการตอบรับตรงนี้อย่างไร เราได้เห็นว่า leadership แต่ละคนเป็นอย่างไร ได้เห็นเรื่องของ hybrid workplace การทำงานในลักษณะของไฮบริดอยู่ตรงนี้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างไร

ต่อไปในเรื่องของการรับพนักงานใหม่ การรับคนเข้ามาทำงานใหม่ การให้โอกาส เรื่องความยืดหยุ่นที่ให้มี work from home หรือ work off site พวกนี้จะมีประโยชน์อย่างมาก

ส่วนด้านลบก็มี เพราะวิกฤตเราไม่สามารถทำหลาย ๆ เรื่องพร้อมกันได้ การมองหาโอกาสในภูมิภาคก็ต้องถือว่ายังช้าไป เพราะเราไม่สามารถที่จะเดินทางไปดูได้ ไม่สามารถแบ่งเวลาไปดูได้

การสร้างทีมเวิร์กระหว่างพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นในองค์กร การสร้างทีมเวิร์กระหว่างพนักงานที่ทำงานระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะเราไม่สามารถพบปะพูดคุยอย่างที่เราทำแต่เดิมได้

แต่โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าในวิกฤตมีโอกาสเสมอ และเป็นทางเลือกของเราจริง ๆ ว่าตรงนี้เป็นวิกฤต หรือเป็นโอกาส ยกตัวอย่าง ผมคิดว่าเรื่องของ well being มีอุตสาหกรรมหรือความต้องการที่เกิดขึ้นมากมาย คนต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น คนต้องการความสะอาด เราทำห้องน้ำ เราทำสุขภัณฑ์ ก็ต้องตอบรับความต้องการของคนในลักษณะแบบนี้

เรียนรู้โควิดเพื่อโตให้แข็งแกร่ง

อีกอันหนึ่งสำหรับกลุ่ม SCG ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เรานำมาใช้ในช่วงโควิด คือการทำ IPO นำหุ้นของ SCG Packaging เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นการปลดล็อกทำให้ packaging สามารถพัฒนาเจริญเติบโตไปในภูมิภาคได้

และเป็นบทเรียนที่สำคัญ ตอนนี้เราก็มานั่งดูว่าธุรกิจเคมิคอลของเราสามารถปรับโครงสร้างต่อไปเพื่อให้เราเจริญเติบโตตรงนี้ไปอย่างไรอีกได้

ผมอยากจะเปรียบตรงนี้ว่า โควิดเหมือนกับเราป่วย ถ้าป่วยหนักอย่างที่เรารู้กัน สมมุติป่วยเป็นมะเร็งโรคร้ายแรง แต่เราผ่านตรงนี้ไปได้ ถึงแม้ว่าจะเจ็บหนัก แต่เราผ่านไปได้ เราเอาตัวรอดไปได้ คำถามก็คือว่า หลังจากที่เราเอาตัวรอดไปได้แล้ว

เราจะใช้ชีวิตแบบเดิมไหม การกิน การออกกำลัง การดูแลตัวเอง เราจะปรับไปจนเหมือนกับให้มันแตกต่างจากการใช้ชีวิตแบบเดิมก่อนที่เราจะเป็นมะเร็งไหม

อันนี้คือการใช้วิกฤตโควิดให้เป็นโอกาส เพื่อให้เราสามารถนำโอกาสตรงนี้มาทำให้เรามีความเข้มแข็ง และเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคตได้