การเมืองเรื่องสุขภาพผู้บริหาร ถอดรหัส “ลาออก” 2 อธิบดีคมนาคม

ไม่มีควัน ถ้าไม่มีกองไฟ

ปกติหนังเขย่าขวัญในต่างประเทศจะพูดถึงอาถรรพ์เลข 13 แต่เหตุเกิดในเมืองไทย ณ กระทรวงคมนาคม เกิดอาถรรพ์เลข 15 ขึ้นมาโดยมิได้นัดหมาย

เรากำลังพูดถึงเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของรอยต่อเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 กับปรากฏการณ์ภายในระยะเวลาเพียง 15 วัน มี 2 อธิบดียื่นใบลาออกจากตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการ

ขานชื่อออกมา ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงต้นหูกวางต้องร้องอ๋อ เพราะเป็นอธิบดีแต่งตั้งกับมือโดย “เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

โดยผู้บริหารคนแรก “ปฐม เฉลยวาเรศ” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เบอร์ 1 แห่งทุ่งบางเขน อีกรายคือ “วิทยา ยาม่วง” อธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) เบอร์ 1 ในที่ทำการท่าน้ำสี่พระยา

โยกย้าย “ปฐม เฉลยวาเรศ”

เริ่มต้นที่กรมทางหลวงชนบท เซอร์ไพรส์เกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโยกย้าย “อธิบดีปฐม” สลับไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม

สำหรับข้าราชการตำแหน่งเจ้ากรมคืออำนาจและบารมีโดยแท้จริง ทุก ๆ ลายเซ็นสามารถให้คุณให้โทษตามกรอบกฎหมายที่กำหนดไว้ เป็นตำแหน่งที่มีศักดิ์และสิทธิ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน

เปรียบเทียบกับเก้าอี้ผู้ตรวจฯแม้ว่าโครงสร้างกระทรวงจะอยู่บนระนาบเดียวกัน แต่อำนาจวาสนาต่างกันเพราะผู้ตรวจฯมีหน้าที่ตรวจ ไม่ได้มีอำนาจควบคุมดูแลหน่วยงานใดเป็นพิเศษ

ดังนั้น แม้ว่าผู้ตรวจราชการจะเทียบเท่าอธิบดี แต่คำสั่งโยกย้ายดังกล่าวมีผลทำให้เดิมเคยนั่งเก้าอี้ “เบอร์ 1” กลายเป็นเก้าอี้ “เบอร์ลอย” จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ down gradeโดยอัตโนมัติ

งานนี้อธิบดีเฉลยคิดอะไรอยู่ในใจคงไม่มีใครทราบ แต่คำว่าศักดิ์ศรีข้าราชการอาจมีน้ำหนักอยู่บ้าง จึงนำมาสู่การยื่นใบลาออกแบบกะทันหันเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564

โดยให้เหตุผลว่า “ต้องการกลับไปดูแลสุขภาพ” โดยใบลาออกมีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 และแน่นอนว่าอธิบดีต้องการปลีกวิเวก จึงปิดมือถือเพื่อต้องการความสงบและความเป็นส่วนตัว

และเนื่องจากเป็นการลาออกแบบผิดธรรมชาติของผู้ประกอบอาชีพข้าราชการ ทำให้มีกระแสข้อมูลพยายามค้นหาต้นเหตุมาจากหลายทิศทาง

หนึ่งในนั้นชี้เป้านโยบายการนำยางมาแปรรูปทำแบริเออร์ยางครอบคอนกรีต และโครงการติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (rubber guide post : RGP) เป็นต้น

งานนี้มีข้อสังเกตเนื่องจากใบลาออกมีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ดังนั้น ในส่วนของการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจยังไม่ได้มีคำสั่งพิเศษอื่นใด นั่นหมายความว่าอธิบดีปฐมยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อีก 1 ตำแหน่ง

ส่วนที่นั่งบอร์ด รฟม.จะคงทนมากน้อยแค่ไหน คงต้องวัดดวงกันอีกทีหลังจากนี้

อาฟเตอร์ช็อก “วิทยา ยาม่วง”

หากเปรียบเทียบเหตุการณ์อธิบดีปฐมลาออกเหมือนกับเกิดแผ่นดินไหวในกระทรวง ต้องบอกว่าเรื่องยังไม่อวสาน

เพราะเกิดปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อกเมื่อวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม 2564 ข้าราชการระดับสูงอีกราย

“วิทยา ยาม่วง” อธิบดีกรมเจ้าท่ายื่นหนังสือลาออกจากราชการ โดยระบุเหตุผลครอบจักรวาลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ และต้องการกลับไปดูแลครอบครัว

หนังสือลาออกยื่นต่อ “ปลัดแจ๊ค-ชยธรรม์ พรหมศร” ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุมีผลเป็นทางการในวันที่1 พฤศจิกายน 2564 นี้

ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงคมนาคม ตอดถามไปยัง “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลกรมเจ้าท่า คำตอบคือ บ๋อแบ๋ รู้แต่ช่วงหลายเดือนก่อนอธิบดีวิทยาจะยื่นหนังสือลาออก ทาง รมว.คมนาคมเรียกตัวเข้าไปหารือข้อราชการบ่ายยันค่ำบ่อยครั้ง

วงในกระทรวงแสดงข้อคิดต่าง ๆ นานาว่า แมตช์การหารือข้อราชการที่อาจทำให้โรคเครียดกำเริบ คือครั้งสุดท้ายก่อนยื่นใบลาออก ซึ่งการประชุมกินเวลายาวนาน 3 ชั่วโมงเต็มในห้องทำงาน “ราชรถ 1”

“เสียดายในฝีมือการทำงานของท่านอธิบดีวิทยา เพราะที่ผ่านมาเป็นผู้สนองนโยบายอย่างดี และเป็นคนที่ทำงานเต็มที่อย่างเสมอมา” คำกล่าวของ “รมต.อธิรัฐ” เจ้าของรหัสราชรถ 2

ซึ่งต้องรออัพเดตกันอีกครั้งว่าหลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 “อธิบดีวิทยา” ยังได้นั่งเป็นประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจ “ขสมก.-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” อยู่ต่อไปหรือไม่