กทม.หารือ 6 จังหวัดปริมณฑลเฝ้าน้ำเหนือไหลบ่า กาง 12 มาตรการรับมือน้ำท่วม

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

กรุงเทพมหานครหารือ 6 จังหวัดปริมณฑลเฝ้าน้ำเหนือไหลบ่า กาง 12 มาตรการรับมือน้ำท่วมกรุง

วันที่ 12 ตุลาคม 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ได้เป็นประธานการประชุมความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ แบบบูรณาการระหว่าง กทม. 6 จังหวัดปริมณฑล (นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนนทบุรี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้วยสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก ซึ่งขณะนี้มวลน้ำกำลังเดินทางลงสู่ภาคกลาง รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล ประกอบกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายให้ กทม. และทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามมติที่ประชุมมอบนโยบายและขี้แจงข้อราชการสำคัญผ่านระบบวิดีทัศน์ (VCS) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564

ที่ประชุมจึงได้หารือเกี่ยวกับการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แต่ละจังหวัด การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ การเรียงกระสอบทราย การเก็บผักตบชวา แผนบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

รวมทั้งการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล หรือแผนเผชิญเหตุ CPX ร่วมกัน อีกทั้งได้หารือและเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ อาทิ โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดีตั้งแต่แยกดินแดงถึงฐานทัพอากาศ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ (รฟม.)

ทั้งนี้ จังหวัดปริมณฑลทั้ง 6 จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำร่วมกับ กทม. ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนครอบคลุมทั้ง 6 จังหวัด รวมทั้งประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อมีความเชื่อมโยงกัน โดยจะประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนให้ได้รับลดผลกระทบน้อยที่สุด

กางแผน 12 ข้อรับน้ำท่วมกรุง

ผู้ว่า กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ กทม.ได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกและน้ำเหนือไหลหลากในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑล โดยเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังนี้

1.ทําความสะอาดท่อระบายน้ำในถนนสายหลัก ตรอก ซอย ความยาวรวม 6,564 กิโลเมตร ดําเนินการ โดยใช้แรงงานของสํานักระบายน้ำและสํานักงานเขต และจ้างเหมาเอกชนดําเนินการ

2.เปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช 1,980 คลอง ยาว 2,743 กิโลเมตร

3.เตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำ จํานวน 762 แห่ง กําลังสูบรวม 2,467 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยสถานีสูบน้ำมีขีดความสามารถในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,087 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

4.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวังมีขีดความสามารถในการระบายน้ำท่วมขัง 482 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

5.เตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ขีดความสามารถในการระบายน้ำท่วมขัง 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

6.สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) จำนวน 10 จุด

7.ตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 87.93 กิโลเมตร

8.เรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่าง ๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร

9.ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิงจํานวน 30 แห่ง และสร้างธนาคารน้ำ (water bank) จำนวน 2 แห่ง เพื่อชะลอน้ำท่วมปริมาณ 13.41 ล้านลูกบาศก์เมตร มาเก็บกักในแก้มลิงเป็นการชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ

10.จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ กรณีฉุกเฉิน อาทิ กระสอบทราย และรถเครื่องกําเนิดไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน

11.จัดเตรียมหน่วยบริการเร่งด่วน หรือหน่วย BEST เและเจ้าหน้าที่ประจําหน่วย 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเร่งด่วน นอกจากนี้ยังจัดหน่วยบริการฉุกเฉินเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเนื่องจากน้ำท่วมขังประจําทุกสํานักงานเขต

12.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และสื่อมวลชน รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ปัญหาน้ำท่วมขัง ท่อระบายน้ำชํารุด อุดตัน และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมขังตลอด 24 ชั่วโมง

หากมีสถานการณ์ฝนตกหนักและเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ กรุงเทพมหานครมีแผนปฏิบัติการณ์ 9 ขั้นตอน ดังนี้

1.ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานครโดยศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง

2.เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที

3.ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนฯ

4.เมื่อมีฝนตก ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย “อัมรินทร์” แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน)

5.ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการการจราจร

6.หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่าง ๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ทราบ

7.ประสานงานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม/ทหาร ช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ เป็นต้น

8.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤต โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม

9.ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะ ๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆและช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมี ผอ.เขต เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์

เผยมวลน้ำจากบางไทรไม่กระทบท่วม

นอกจากนั้น ยัง​​ได้ร่วมกับกรมชลประทาน บูรณาการการบริหารจัดการน้ำร่วมกันและได้กำหนดเกณฑ์ค่าระดับและปริมาณน้ำที่ปล่อยเข้าสู่กรุงเทพมหานคร บริเวณรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อช่วยรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน โดยไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร และระบายน้ำออกนอกพื้นที่ไม่ให้กระทบพื้นที่รอยต่อ เช่น สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง ช่วงฤดูฝน จะเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.70 ม.รทก.

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำจากแม่น้ำป่าสักจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และคาดว่ามวลน้ำที่ผ่านบางไทรจะลดลงต่ำกว่า 2000 ลบ.ม./วินาทีในวันที่ 20 ต.ค.64 ซึ่งจะทำให้ กทม.และปริมณฑลไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงนี้

เปิด 4 จุดบูรณาการระบายน้ำ

ทั้งนี้ ​​กทม.ได้ประสานงานแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักคลี่คลายไปแล้วหลายจุดยังคงเหลือปัญหาที่ต้องดำเนินการร่วมกันจำนวน 4 จุด ประกอบด้วย

จุดที่ 1 ด้านทิศเหนือเขตติดต่อจังหวัดปทุมธานี ณ ถนนพหลโยธิน บริเวณอนุสรณ์สถานและแยกลำลูกกา โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. จ.ปทุมธานี และกรมทางหลวง

จุดที่ 2 ด้านทิศเหนือเขตติดต่อจังหวัดนนทบุรี แผนพัฒนาคลองส่วย บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. และ จ.นนทบุรี

จุดที่ 3 ด้านทิศตะวันตกเขตติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ณ ถนนพระรามที่ 2 การเชื่อมต่อท่อถนนสายรองกับถนนสายหลัก เนื่องจากปัจจุบันท่อระบายน้ำถนนสายรองไม่เชื่อมต่อถนนพระรามที่ 2 ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. และกรมทางหลวง

และจุดที่ 4 ด้านทิศใต้เขตติดต่อจังหวัดสมุทรปราการ แผนการระบายน้ำถนนสุขุมวิท บริเวณปากซอยลาซาลปากซอยแบริ่ง บูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม. และ จ.สมุทรปราการ