สนข.ชงรัฐเก็บค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ 28 ด่าน หลังรถต่างชาติทะลักพรมแดนไทย2ล้านเที่ยวคัน เริ่มปลายปี’61

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2560 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โดยมีนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมผู้ประกอบการ เข้าร่วมฟัง

นางวิไลรัตน์กล่าวว่า ด้วยที่ตั้งของประเทศไทยมีศักยภาพ อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า คมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีโครงข่ายถนนครอบคลุมทั่วถึง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบกับมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

ปรากฏว่ามียานพาหนะต่างชาติเดินทางผ่านพรมแดน 28 แห่ง เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ค่าซ่อมบำรุงรักษาถนน ความสูญเสียจากอุบัติเหตุ มลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสี่ยงต่อภัยความมั่นคงของประเทศ

ในขณะที่ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศเริ่มมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าประเทศและการใช้ทางแล้ว โดยล่าสุดประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ได้เริ่มนำระบบใบอนุญาตเข้าประเทศ Vehicle Entry Permit หรือ VEP มาใช้ประกอบกับการเรียกเก็บค่าใช้ถนน หรือ Road Charge กับรถต่างประเทศ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศของตน

และในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศมาเลเซียจะนำระบบ VEP มาใช้บริเวณ ด่านพรมแดนทั้ง 8 แห่ง ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และจะนำไปใช้กับด่านพรมแดนระหว่างมาเลเซีย-บรูไน และมาเลเซีย-อินโดนีเซีย ต่อไปตามลำดับ

ดังนั้น สนข.จึงได้ศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2560 จะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ โดยเป็นการศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการนำยานพาหนะเข้าประเทศและค่าใช้ทางกับยานพาหนะต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อการลดภาระงบประมาณค่าบำรุงรักษาทาง ที่รัฐบาลต้องเสียงบประมาณปีละ 15,000 ล้านบาทบูรณะรักษาทาง

รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตามกำกับดูแลยานพาหนะต่างประเทศ เพื่อภารกิจความมั่นคง และสนับสนุนการวางแผนด้านบริการการท่องเที่ยวให้ตรงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

อีกทั้งจะมีผลประโยชน์ทางอ้อมที่จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (modal shift) จากทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำในระยะยาวอีกด้วย

โดยผลจากการศึกษาได้กำหนดเแผนการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะแรก ปีที่ 1-3 ปี เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดนกับรถยนต์นั่ง 4 ล้อต่างชาติ ด้วยระบบ RFID และบัตรเติมเงิน (Contactless Smartcard) ซึ่งจะสามารถตรวจสอบ (Detecting) ยานพาหนะเข้า/ออกด่านชายแดนทั้ง 28 แห่งได้ จากสถิติปี 2560 มีปริมาณรถต่างชาติเข้าไทยจากทุกประเทศรวมกว่า 2.1 ล้านเที่ยวคัน

ระยะกลาง ปีที่ 4-7 ปี เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ทาง โดยติดตั้งระบบ GPS ซึ่งสามารถติดตาม (Tracking) ยานพาหนะต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยได้ โดยสามารถระบุตำแหน่ง เส้นทาง ความเร็ว ของยานพาหนะได้

ระยะยาว ปีที่ 8-10 ปี จะพิจารณาขอบเขตการเก็บค่าผ่านทางฯ ไปยังรถยนต์ประเภทอื่นและพื้นที่ด่านชายแดนถาวรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือมีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐด้วย

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทาง อาจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบ ดำเนินการและบำรุงรักษา รับสัมปทาน 20 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 525 ล้านบาท โดยเอกชนจะได้ส่วนแบ่งรายได้จากค่าผ่านทาง

“หลังผลศึกษาแล้วเสร็จ จะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เช่น เสนอฝ่ายนโยบาย เพราะจะต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถมีอำนาจในการจัดเก็บได้ คาดว่าจะเห็นเป็นรูปแบบธรรมได้กลางปี 2561 และเริ่มจัดเก็บค่าผ่านทางได้ปลายปี เริ่มจากรถ 4 ล้อเป็นลำดับแรก โดยจะมีค่าธรรมเนียม 100 บาท ค่าผ่านทาง 42 บาท/คัน/เที่ยว ส่วนระยะที่ 2 มีค่าธรรมเนียม 500 บาท ส่วนค่าผ่านทางเก็บตามระยะทาง เริ่มต้น 42 บาท/คัน/เที่ยว จากนั้นเก็บกิโลเมตรละ 1.50 บาท”