กีรติ กิจมานะวัฒน์ ทอท. Reinvest ปี 2565 รองรับผู้โดยสาร 100 ล้านคน

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์
สัมภาษณ์พิเศษ
กีรติ เอมมาโนชญ์

เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 โจทย์ใหญ่ของ “ทอท.-บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รองโอ๊ค-ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. รัฐวิสาหกิจที่มีรายได้และกำไรแตะระดับหมื่นล้านบาทในยุคก่อนโควิด

ในฐานะหน่วยงานประตูเศรษฐกิจต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนทั่วโลก บริหาร 6 สนามบินนานาชาติทั่วประเทศ ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่

ซึ่งผ่านความยากลำบากจากสถานการณ์โควิดในปี 2563-2564 กับอนาคตปี 2565 ผู้บริหารที่พกดีกรี traffic engineering ฉายภาพให้เห็นถึงปีแห่งการ reinvest ลงทุนรอบใหม่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว

ทอท.พร้อม 100%

นโยบายเปิดประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ของรัฐบาล สนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.เตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ การก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1)

และการรับมอบขบวนรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ APM) ทั้ง 6 ขบวน เพื่อใช้ขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก (main terminal) กับ SAT-1 ดำเนินการเรียบร้อยหมดแล้ว

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทอท.ทำงานแข่งกับเวลาเพราะอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเมื่อไหร่เป็นเรื่องของภาพรวม ทอท.ให้บริการท่าอากาศยานเราต้องพร้อมอยู่เสมอ วิกฤตเศรษฐกิจการบินที่เกิดขึ้นทั่วโลกโจทย์สำคัญคือดีมานด์ผู้โดยสาร ต้องมองเทรนด์ไปข้างหน้า

เริ่มต้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ โจทย์ในการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ต้องกลับมามองใหม่ให้แผนพัฒนา (master plan) ทั้งหมดอยู่กับความจริง (realistic) มากที่สุด ซึ่งต้องมองดีมานด์ในการเดินทางใหม่ว่าจะกลับมาเท่าไหร่และเมื่อไหร่

และมองอนาคตอีก 20 ปี ดีมานด์จะไปหยุดที่ตัวเลขไหน ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะก่อนหน้านี้แผนพัฒนาทำไว้เพื่อรับจำนวนผู้โดยสาร 120-150 ล้านคน/ปี

ทอท.จึงได้จ้าง IATA-สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศศึกษาแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิใหม่ วงเงิน 10 ล้านบาท เนื่องจาก IATA ถือเป็นคนกลาง เป็นหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของสายการบินทั่วโลกและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

โดย IATA ศึกษาภาพรวม 20 ปี (2020-2040) พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยคาดว่าตลอด 20 ปีจะมีผู้โดยสารทางอากาศจำนวน 170 ล้านคน/ปี แบ่งคร่าว ๆ ไปสนามบินหลัก คือ สุวรรณภูมิรับ 100 ล้านคน/ปี ดอนเมือง 50 ล้านคน/ปี และอู่ตะเภา 20 ล้านคน/ปี

ทั้งนี้ ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิยอมรับว่าเมื่อมีสถานการณ์โควิดเข้ามา ทำให้แผนการลงทุนต้องขยับออกไปมาก ซึ่งอุตสาหกรรมการบินถูกระทบหนัก เดิมตามแผนวางไว้ว่าจะต้องพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านใต้ (south terminal)

และรันเวย์ที่ 4 เมื่อรวมกับ main terminal, east expansion-west expansion จะมีศักยภาพรับผู้โดยสาร 150 ล้านคน/ปี ซึ่งคิดมาจากการใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ในอดีต บรรทุกผู้โดยสารลำละ 600 คน

แต่เมื่อมีการปรับผลการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ใช้เครื่องบินลำเล็กลง เหลือลำละ 400 คน ทำให้ศักยภาพรับผู้โดยสารลดลงเหลือ 120 ล้านคน/ปี ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 46,000 ล้านบาท

อัพเดตแผนลงทุนสุวรรณภูมิ

ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน/ปี จากการมีรันเวย์ 2 เส้นทาง ขณะนี้ ทอท.กำลังก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 วงเงิน 6,200 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) และ บจ.ถนอมวงศ์บริการ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารอีก 30 ล้านคน/ปี กำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2566 ในอนาคตจะเริ่มต้นโครงการรันเวย์ที่ 4 ต่อไป ซึ่งจะทำให้ศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินขึ้นไปที่ 120 ล้านคน/ปี ซึ่งถือว่าเป็นจุดสูงสุดที่จะทำได้แล้ว

เมื่อมีรันเวย์แล้ว ต่อไปที่เป็นปัญหาคือ สะพานเทียบเครื่องบิน (contact gate) หากบางจุดไม่มี contact gate ก็ต้องใช้รถบัส (bus gate) ปัญหาของการไม่มี contact gate คือผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกและคุมเวลาไม่ได้ ดังนั้น การบริหารที่ดีจึงควรมี contact gate ที่เพียงพอต่อความต้องการ

ค่าเฉลี่ย 1 gate รองรับผู้โดยสารได้เฉลี่ย 1 ล้านคน/ปี ปัจจุบัน main terminal ที่เปิดใช้มีจำนวน contact gate 51 gate เท่ากับรองรับได้ 51 ล้านคน/ปี หรือแบบอัดแน่นที่สุดได้ที่ 55 ล้านคน/ปี ส่วนที่เหลือนอกจากนี้อีก 20% ต้องใช้ bus gate

ดังนั้น จึงเกิดการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่เรียกว่าแซตเทลไลต์ (SAT-1) พื้นที่ 200,000 ตารางเมตร มี contact gate เพิ่มอีก 28 gate รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน/ปี สำหรับผู้โดยสารทำทุกอย่างตามปกติ เช็กอินที่ main terminal จากนั้นจะได้รับตั๋วให้ไปขึ้นเครื่องบินที่อาคาร SAT-1 โดยมีระบบรถไฟฟ้า APM เชื่อมต่อกัน

SAT-1 สร้างแล้วแต่ยังไม่เปิดใช้

ต้องปูพื้นฐานก่อนว่า SAT-1 ถูกออกแบบและมีบทบาทเป็น hub transfer สำหรับการต่อเครื่องบิน เพื่อเดินทางไปยังประเทศปลายทาง เพราะก่อนหน้านี้ บมจ.การบินไทยยังแข็งแรง สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นได้

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป จึงมีการปรับบทบาทใหม่ให้รองรับ contact gate ทั้งขาเข้า-ขาออกของประเทศแทน โดยยังพร้อมรับเที่ยวบิน transfer อยู่ ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาปกติในปี 2568

ดังนั้น ในสถานการณ์โควิดที่ปริมาณผู้โดยสารผ่านสนามบินสุวรรณภูมิมีไม่เต็มคาพาซิตี้ การเปิดพื้่นที่ SAT-1 กลายเป็นต้นทุน ทอท. เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง เดือนละ 350 ล้านบาท หรือ 3 เดือน 1,000 ล้านบาท บวกกับสถานะทางการเงินของ ทอท.ยังไม่ดีขึ้น

ตัวชี้วัดเรากำลังรอดูว่าผู้โดยสารกลับมา 50 ล้านคน/ปี เมื่อไหร่ก็พร้อมจะเปิดให้บริการ SAT-1 ทันที ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนเมษายน 2566

ความคืบหน้า East Expansion

โครงการก่อสร้าง East Expansion กำหนดวงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสาร early check in ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารที่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ พฤติกรรมบริษัททัวร์มักจะให้มา check in ก่อนเวลาจริง 4-5 ชั่วโมง

ขณะที่สายการบินเปิดให้เช็กอินล่วงหน้า 2 ชั่วโมงครึ่งก่อนเครื่องบินขึ้น ทำให้ผู้โดยสารนั่ง ๆ นอน ๆ กองอยู่ใน terminal จึงมีแนวคิดสร้าง east expansion เป็นจุดเช็กอินด้วยตัวเองสำหรับผู้ที่เดินทาง
มาเช็กอินก่อนเวลามาก ๆ สามารถโหลดกระเป๋าเข้าไปก่อนได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าฝากกระเป๋าอีก

ซึ่ง east expansion ได้มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ทอท.จะผลักดันโครงการนี้ในปี 2565 ขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หากเห็นชอบก็จะดำเนินการทันที คาดว่าเริ่มก่อสร้างกลางปี 2565

ดอนเมืองผู้โดยสารก็ทะลัก

แผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง ปัจจุบันมีศักยภาพรับผู้โดยสารได้ 40-50 ล้านคน/ปี โดยอาคารผู้โดยสารหรือเทอร์มินอล 1-2 เป็นอาคารหลัก รับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 10 ล้านคน/ปี ในประเทศ 30 ล้านคน/ปี

ตอนนี้เที่ยวบินระหว่างประเทศมีความต้องการเที่ยวบินแบบประหยัด (low-cost airline) มากขึ้น จึงมองว่าต้องสร้างเทอร์มินอล 3 เพิ่มขึ้น

โมเดลคือรื้ออาคารคาร์โก้เก่าออกสร้างใหม่เป็นเทอร์มินอล 3 รับเที่ยวบินระหว่างประเทศ รีโนเวตเทอร์มินอล 1-2 ใหม่รวมเข้าด้วยกัน รับเที่ยวบินในประเทศ และจะออกแบบให้เชื่อมต่อถึงกันหมด

โดยมีอาคาร Junction Building คั่นกลางสำหรับเชื่อมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และทำเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่อไป ใช้งบประมาณ 36,000 ล้านบาท

เดิมวงเงินตั้งไว้ 32,000 ล้านบาท ล่าสุดปรับเพิ่มเป็น 36,000 ล้านบาท เนื่องจากรวมโครงการก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือของสนามบินดอนเมืองเพิ่มเติม 12 หลุมจอด หรือเพิ่ม 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่ง ทอท.จะลงทุนเองทั้งหมด ยกเว้น Junction Building ที่จะเปิดประมูล PPP

ไทม์ไลน์ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด (detail design) จะแล้วเสร็จในปี 2565 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566

สนามบินเชียงใหม่-ภูเก็ตก็แน่น

ในส่วนของสนามบินเชียงใหม่ปรับแผนก่อสร้างเทอร์มินอล 3 รับผู้โดยสารระหว่างประเทศและระบบสนับสนุนภาคพื้นดินวงเงิน 15,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารับผู้โดยสารเป็น 20 ล้านคน/ปี ขั้นตอนอยู่ระหว่างจ้างศึกษารายละเอียด คาดว่าใช้เวลาทั้งปี 2565

ขณะที่สนามบินภูเก็ตสร้างเทอร์มินอลหลังใหม่ คาดว่ารองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคน/ปี อย่างไรก็ตาม สนามบินภูเก็ตไม่สามารถขยายเพิ่มได้อีกแล้ว จึงคาดหวังไปที่การรับโอนสนามบินกระบี่จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.)

ขณะที่การก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2 กำลังศึกษาโครงการในเบื้องต้น ทำเลที่เล็งไว้มี 2 จุด คือ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน เช่นเดียวกับสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่น่าจะสร้างที่จังหวัดพังงา