ผอ.โต้ง-กิตติพงศ์ กิตติขจร ลูกหม้อ ทอท. คีย์แมนเปิดสนามบิน-เปิดเมือง

กิตติพงศ์ กิตติขจร

อัพเดตเปิดประเทศ 7 วัน (1-7 พฤศจิกายน 2564) ปริมาณผู้โดยสารเข้า-ออกผ่านสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ มีทั้งสิ้น 147,531 คน

เฉลี่ยยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าวันที่ 1 พฤศจิกายน อยู่ที่วันละ 1 หมื่นต้น ๆ ล่าสุด 7 วันแรกของนโยบายเปิดประเทศค่าเฉลี่ยเกินวันละ 2.1 หมื่นคน เป็นไปตามคาดการณ์ของ CEO สนามบินสุวรรณภูมิ “โต้ง-กิตติพงศ์ กิตติขจร” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เป๊ะเว่อร์

โดยบอกว่าสถิติตุลาคม 2564 ที่มีปริมาณผู้โดยสาร 1 หมื่นต้น ๆ คาดว่าเพิ่มเป็นวันละ 2 หมื่นคนในเดือนพฤศจิกายน และเพิ่มได้อีกเป็นวันละ 3 หมื่นคนในเดือนธันวาคม ในกรณีไม่มีเซอร์ไพรส์อะไรจากสถานการณ์โควิดเข้ามาเป็นตัวแปร

ในประเทศ 7 วัน 1.16 แสนคน

ทั้งนี้ สถิติผู้โดยสารในรายละเอียด จำนวนเต็ม 147,531 คน แบ่งเป็น จำนวนผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ 17,344 คน จำนวนผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ 10,162 คน และจำนวนผู้โดยสาร transit 3,236 คน รวมทั้งสิ้น 30,742 คน

ขณะที่จำนวนผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศมี 58,854 คน กับจำนวนผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ 57,935 คน รวมทั้งสิ้น 116,789 คน

“ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน มีสายการบินแจ้งทำการบินเที่ยวบินพาณิชย์ 440 เที่ยวบิน แบ่งเป็น ในประเทศ 230 เที่ยวบิน ระหว่างประเทศอีก 110 เที่ยวบิน และแอร์คาร์โก้ 100 เที่ยวบิน เป็นไปในทิศทางบวก คาดว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศหรืออินเตอร์เพิ่มขึ้นได้อีก แต่ยังประเมินตัวเลขชัดเจนไม่ได้ ต้องรอดูยอดแจ้งทำการบินจากสายการบินอีกครั้ง ซึ่งต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด”

พ.ย. 64 ผู้โดยสาร 7.25 แสนคน

“ผอ.กิตติพงศ์” ประเมินปริมาณจราจรทางอากาศตลอดเดือนพฤศจิกายน 2564 คาดว่ามีเที่ยวบิน 12,133 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 6,501 เที่ยวบิน ในจำนวนนี้เป็นสถิติขาเข้า 3,260 เที่ยวบิน ขาออก 3,241 เที่ยวบิน และเที่ยวบินในประเทศ 5,632 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้า 2,800 เที่ยวบิน ขาออก 2,832 เที่ยวบิน

ขณะเดียวกันตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่ามีผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ 725,978 คน เฉลี่ยวันละ 24,199 คน เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 270,529 คน แยกเป็น ผู้โดยสารขาเข้า 135,407 คน ขาออก 135,122 คน ผู้โดยสารภายในประเทศ 455,449 คน เป็นผู้โดยสารขาเข้า 226,152 คน ขาออก 229,297 คน

Self Check-in ฟูลออปชั่น

สำหรับฟาซิลิตี้สนามบินสุวรรณภูมิ มีการนำเครื่อง kiosk สำหรับเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS-common use self service) จำนวน 196 เครื่อง กับเครื่อง kiosk รับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD-common use bag drop) 42 เครื่อง มาตรฐานตามที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA (International Air Transport Association) กำหนด

โดยมีความพร้อมให้บริการผู้โดยสารในกระบวนการพิธีการผู้โดยสารขาออก ซึ่งได้ติดตั้งกระจายอยู่บริเวณแถวเช็กอินตั้งแต่ row B ถึง row U ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร

ทั้งนี้ เครื่อง CUSS kiosk เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารทำการเช็กอินด้วยตนเองผ่าน application ของสายการบินที่ได้มีการติดตั้งไว้แล้ว รวมทั้งสามารถเลือกที่นั่งได้ด้วยตนเอง เพราะเครื่องจะแสดงรายละเอียดของที่นั่งได้เสมือนจริง ดูเข้าใจง่าย ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดเวลารอคิวเช็กอิน

นอกจากนี้ ผู้โดยสารสามารถเช็กอินล่วงหน้าเป็นเวลา 6-12 ชั่วโมงก่อนเดินทาง (ตามเงื่อนไขของแต่ละสายการบิน) และเมื่อผู้โดยสารเช็กอินด้วยเครื่อง CUSS เรียบร้อยแล้ว สามารถนำกระเป๋าสัมภาระโหลดผ่านเครื่อง CUBD ได้ด้วยตนเองเช่นกัน

สำรองอาคารผู้โดยสาร SAT-1

นอกจากความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารสำหรับการเปิดประเทศแล้ว ในอนาคตที่คนไทยทั้งประเทศช่วยกันลุ้นว่าโหมดการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนกับในยุคก่อนโควิดนั้น “ผอ.กิตติพงศ์” กางแผนงานให้ดูว่าเป็นเรื่องที่ตั้งรับไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

โดยสนามบินสุวรรณภูมิได้ลงทุนล่วงหน้าไปกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 โครงการที่มีรหัสย่อ “SAT-1” (sattlelite 1) เพื่อแบ่งผู้โดยสารมาจากเมนเทอร์มินอล ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 15 ล้านคน

ซึ่งมีการวางแผนแล้วว่าจะเปิดบริการในเดือนเมษายน 2566 ที่คาดว่าปริมาณผู้โดยสารผ่านเมนเทอร์มินอลจะเกิน 50 ล้านคน ก็สามารถเบ่งคาพาซิตี้รับคนเพิ่มได้ทันทีโดยไม่สะดุด

โดย SAT-1 เป็นอาคารที่อยู่ในเขตพื้นที่การบิน (airside) ให้บริการผู้โดยสารขาออกที่ได้ทำการเช็กอินและโหลดกระเป๋าสัมภาระ ณ อาคารผู้โดยสารหลักเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้น ผู้โดยสารเดินเข้าไปในเขต airside ตรงไปยังด้านหลังเกษียรสมุทร บริเวณชั้น 4 concourse D และลงไปยังสถานีรถไฟฟ้า APM (automated people mover) เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคาร SAT-1

โดยรถไฟฟ้า APM ให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมนเทอร์มินอลกับ SAT-1 ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 นาที สามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คน/ขบวน หรือ 5,900 คน/ชั่วโมง

ในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า เมื่อลงเครื่องแล้วต้องลงไปยังชั้น B2 เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคารผู้โดยสารหลักไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า และจุดรับกระเป๋าสัมภาระต่อไป ส่วนผู้โดยสารต่อเครื่อง (transit/transfer passenger) จะสัญจรเฉพาะระหว่างชั้น 2 และชั้น 3 เท่านั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันอาคาร SAT-1 ซึ่งรวมถึงส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทดสอบการทำงานร่วมกันของแต่ละระบบ และทดสอบเดินรถไฟฟ้า APM (system demonstration) ในส่วนของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดอยู่ระหว่างการติดตั้งและเชื่อมต่อกับระบบเดิม

เพิ่มเติมรายละเอียดอาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร ออกแบบเป็นอาคารสูง 4 ชั้น กับชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย

ชั้น B2 เป็นชั้นของสถานีขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ, ชั้น B1 งานระบบ, ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า, ชั้น 2 สำหรับผู้โดยสารขาเข้า, ชั้น 3 สำหรับผู้โดยสารขาออก, ชั้น 4 เป็นร้านค้าและร้านอาหาร

โดยอาคาร SAT-1 มีหลุมจอดอากาศยาน 28 หลุมจอด แบ่งเป็น อากาศยานแบบ code E จำนวน 20 หลุมจอด และแบบ code F จำนวน 8 หลุมจอด

กายภาพพร้อมเกิน 100%

การเปิดสนามบินสุวรรณภูมิภายใต้สถานการณ์โควิด แน่นอนว่าได้ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยที่ดีของผู้ใช้บริการตามมาตรการ universal prevention สร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย และเกิดความเชื่อมั่นในการเดินทางมายังประเทศไทย

ด้วยศักยภาพด้านกายภาพของสุวรรณภูมิ “กิตติพงศ์” จึงให้ความมั่นใจว่า มีความพร้อมต้อนรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิน 100% แน่นอน ช่วงที่ผ่านมาได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติงาน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ จัดฝึกซ้อมใหญ่การให้บริการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระบวนการทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างราบรื่น

“ภายในปีนี้โหมดหลักคาดว่าจะเป็นผู้โดยสารในประเทศ ที่ผ่านมามีปัญหาบ้างในเรื่องการ early check-in ข้อแนะนำในสถานการณ์โควิด การมาเช็กอินก่อนขึ้นเครื่องแนะนำว่า เผื่อเวลาไม่ต้องมาก สักครึ่งชั่วโมงกำลังดี แต่ถ้าเป็นช่วงที่มีปริมาณผู้โดยสารคับคั่งในช่วงเทศกาลใหญ่ซึ่งอาจมีคิวยาว ทาง ทสภ.จะทำการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อให้ท่านได้เตรียมตัว เตรียมเวลา”

ส่วนการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารผู้โดยสารและส่วนต่าง ๆ ของท่าอากาศยาน ทั้งผู้โดยสารทั้งขาเข้าและออก ในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T รวมทั้งปฏิบัติตามหลักการ COVID-free setting และ universal prevention อย่างเคร่งครัด

คำแนะนำทิ้งท้ายสำหรับผู้โดยสารในประเทศ ควรศึกษาจังหวัดปลายทางว่ามีกติกาเกี่ยวกับโควิดอย่างไรบ้าง เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ใช้ระบบ one standard

ดังนั้น การเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนออกเดินทางในช่วงไฮซีซั่นปลายปี จะทำให้เดินทางท่องเที่ยวได้สุขใจ ปลอดภัย ปลอดโควิด