“ไพรินทร์” ไม่หนักใจนั่งเก้าอี้ใหญ่คมนาคม เร่งเมกะโปรเจ็กต์รับไทยแลนด์ 4.0-อีอีซี ลุยซื้อรถเมล์ NGV

“ไพรินทร์” ไม่หนักใจนั่งเก้าอี้ใหญ่คมนาคม เร่งเมกะโปรเจ็กต์รับไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี ลุยซื้อรถเมล์ NGV-ปั้นเมืองอัจฉริยะพหล-เชียงรากน้อย

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้ามาทำงานวันแรกที่กระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2560 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการแบ่งงานจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ว่าตนจะได้กำกับดูแลหน่วยงานใดบ้าง จากนั้นจะเริ่มทำงานทันที

“ถามว่าหนักใจไหม ต้องตอบว่ารู้สึกสบายใจ เพราะกระทรวงคมนาคมมีผู้บริหารที่เข้มแข็ง คิดว่าไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ ถ้าเรามีความตั้งใจจริง ผมจะใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการบริหารงานจากปตท.ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีการลงทุนมากและใหญ่ที่สุดในตอนนี้ ก็คิดว่าจะเป็นส่วนที่จะทำประโยชน์และแก้ปัญหาที่ติดขัดให้กับกระทรวงคมนาคม ทั้งด้านเทคนิค กฎหมาย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่ง 3 เรื่องนี้จะเป็นปัญหาของโครงการก่อสร้าง”

กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานมากที่ต้องเร่งผลักดันให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น ทางอากาศน่าจะเป็นเร่งพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 ในส่วนของถนนจะเป็นมอเตอร์เวย์ จะต้องสร้างเส้นทางใหม่เพิ่ม ด้านระบบรางมีรถไฟจะมีทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ส่วนทางน้ำมีการพัฒนาท่าเรือ เช่น มาบตาพุด ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางการบริหารงานด้าน รถ เรือ รางต่างๆ เป็นสิ่งที่กระทรวงทำอยู่และทำได้ดีอยู่แล้ว พียงแต่จะต้องให้มีการเร่งรัดให้สอดคล้องกับแนวคิดที่รัฐบาลคิด เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

“เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องการให้ดำเนินการ คือ การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศให้รับกับไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี ซึ่งอีอีซีหรือชื่อเดิมคืออีสเทิร์นซีบอร์ด จริงๆ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ผมก็มีส่วนร่วมตอนที่ผมเป็นวิศวกรทีมชุดแรกๆ ที่ไปบุกเบิกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเวนคืนที่ดิน”

“30 ปีผ่านไป นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ติด 1 ใน 10 ของโลก และเป็นตัวที่สร้างจีดีพีให้กับประเทศ 20-3% ทางนายกรัฐมนตรีเลือกที่จะนำอีสเทิร์นซีบอร์ดมาสนับสนุนใหม่ภายใต้ชื่ออีอีซี คิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก ถ้าทำสำเร็จจะเป็นตัวหลักในการดันจีดีพีของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง อย่างที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ในฐานะวิศวกรคนไทยคนหนึ่ง ผมภูมิใจที่ได้เห็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักแห่งหนึ่งที่คนไทยทำเอง และทำได้ดีมาก ถ้าเทียบกับนานาประเทศ ฉะนั้นมหัศจรรย์แบบนั้นถ้าเราพยายามอีกครั้งหนึ่งผมเชื่อว่าเราทำได้ และพื้นที่ตรงนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคสำหรับอนาคต”

นายไพรินทร์ยังกล่าวความในใจถึงเรื่องหนึ่งที่อยากจะทำเป็นพิเศษว่า ในฐานะที่เป็นคนไทย ผมไม่สบายใจจากสถิติที่ประเทศไทยเป็นประเทศมีคนตายบนถนนติดอันดับโลก ถ้าอยากจะทำโดยส่วนตัวเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากทำ ถ้าเราทำคนตายน้อยลงใน 1 คน จะเป็นกุศลมากมาย และเราจะเห็นว่าตัวเลขดูเหมือนแย่ลงด้วย เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมปฎิเสธไม่ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบโดยตรง โดยส่วนตัวเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และอยากจะเข้ามาช่วยแก้ให้มันดีขึ้น

“ตอนผมเป็นผู้บริหารปตท. ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้การขนส่งเยอะ ทั้งระบบท่อ ถนน ราง ในการขนถ่านหิน น้ำมัน แก๊ส พบว่าอุบัติทางถนนเยอะมาก ได้ประกาศเป็นนโยบาย ซีโร่แอคซิเดนทท์ ปตท. ได้มีการลงทุนและทำอะไรมากมาย เช่น ติดระบบกล้องในรถเก๋ง เราพบว่า 90% เกิดจากคนขับ ไม่ว่าหลับใน เล่นมือถือขณะขับรถ เมื่อตัวเลขออกมาแบบนั้น ต้องแก้ต้นเหตุได้ ทำพื้นที่จอดสำหรับนอนตามถนนหลวงเป็นระยะๆ และร่วมกับบริษัทเอกชน เช่น ปูนซิเมนต์ช่วยกันยกระดับความปลอดภัยทางถนน ซึ่งรัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันทำ ถ้าตั้งใจทำจะประสบความสำเร็จ สุดท้ายคนไทยต้องมาทำเรื่องจิตสำนึก”

นอกจากนี้หากได้กำกับดูแลการถไฟฯ จะเดินหน้านโยบาย ”สมาร์ทซิตี้” ที่ ปตท.เคยศึกษาและเสนอให้การรถไฟฯพิจารณาก่อนหน้านี้ มี 10 จังหวัด จะนำร่องที่พหลโยธิน เป็นศูนย์กลางระบบราง เพราะจะมีสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางถนน ทางราง และเชียงรากน้อย เป็น Best Town หรือเมืองสำหรับการอยู่อาศัยที่ดีสามารถเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯแบบเช้าไปเย็นกลับได้

“แนวทางพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยพื้นฐานผมจบญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยกับนักลงทุนญี่ปุ่นกันดีอยู่ ทราบว่าญี่ปุ่นมีผู้บริหาร 500 คนมาดูพื้นที่ หากมีการประสานงานที่ดีจะเห็นการลงทุนใหญ่อีกกระลอกหนึ่ง จากญี่ปุ่นและจีนที่เข้าสู่อีอีซี อย่างที่บอกอีอีซีมีภูมิศาสตร์ที่ดีมาก จะมีการกระจายเมืองไปทางนั้น ลดความแออัด จะทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกกับ กทม.เป็นหนึ่งเดียวกัน“

ขณะที่การจัดหารถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน นายไพรินทร์กล่าวว่า คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเร่งรัด ซึ่ง ขสมก.เป็นหน่วยงานที่น่าสนใจ อาจจะไม่ใช่ดูหรูหราเหมือนสายการบิน แต่จัดเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับประชาชน ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และการสนับสนุนจากรัฐเป็นเรื่องสำคัญ

“ถ้าสมมุติว่า ขสมก.ปลอดการเมือง การประมูลไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามีการเมืองหรือเปล่า แต่การประมูลซื้อรถเมล์ใหม่ก็ใช้เวลาผลักดันกันมากว่า 10 ปี หากผมได้กำกับดูแล จะเดินหน้าซื้อรถเมล์ใหม่และดีๆ ให้ประชาชนได้ใช้ นั้นคือเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ปีหน้า”