ดราม่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว 2560 (3) สมาคมอสังหาฯ เห็นด้วยกับกฎหมายใหม่

ยังอยู่ในซีรีส์กฎหมายแรงงานต่างด้าวเวอร์ชั่นปี 2560 แขกรับเชิญวันนี้เปิดประเด็นในแบบฉบับมองต่างมุมโดย “พี่อ๋อย-อิสระ บุญยัง” นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และเอ็มดี กานดา พร็อพเพอร์ตี้กรุ๊ป

“เจตนาออกกฎหมายนี้เพื่อความมั่นคงและเพื่อให้คนต่างด้าวดำเนินการเปลี่ยนนายจ้างทำโดยถูกต้อง …ต้องถือว่าเราเห็นด้วยในการควบคุมเรื่องความถูกต้องและความมั่นคง สิ่งที่อยากฝากคือรัฐต้องคำนึงผลกระทบในระยะเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน”

ถามถึงผลกระทบที่มีต่อวงการธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์

“มีผลกระทบแน่นอน เพียงแต่ผู้ประกอบการทุกรายต้องมีความระมัดระวังไม่รับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ในขณะนี้ต้องถือว่าภาคก่อสร้างและอสังหาฯ ใช้แรงงานต่างด้าวเกือบ 100% เรื่องจำนวนต้องถือว่าเป็นล้านคน แต่ไม่รู้ว่าตัวเลขเท่าไหร่กันแน่เพราะข้อมูลทางการกับไม่ทางการคนละเรื่องกันเลย”

ณ จุดนี้ที่รัฐบาล คสช. ใช้ ม.44 ผ่อนผันเวลาบังคับใช้ในมาตราสำคัญเกี่ยวกับบทปรับและบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นมากกว่ากฎหมายเดิม โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561 ยังมีประเด็นที่อยากแชร์เพิ่มเติม

“ช่วงที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีบ้างที่ใช้เวลานานในการพิสูจน์สัญชาติ ส่วนหนึ่งไม่เกี่ยวกับเรา ขึ้นกับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะเมียนมาที่ใช้เวลานานมาก แรงงานบางคนต้องถือบัตรชั่วคราว”

“พี่อ๋อย-อิสระ” บอกว่ารัฐบาลไทยต้องมีวิธีบริหารจัดการ จุดเน้นคือการประชาสัมพันธ์กฎหมายใหม่ นอกจากสื่อสารตรงถึงผู้ประกอบการไทยหรือนายจ้างไทยทุกระดับแล้ว ต้องมีวิธีการสื่อสารให้แรงงานต่างด้าวในฐานะลูกจ้างรู้ตัวว่าต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง

“การจะเปลี่ยนนายจ้างโดยดำเนินการไม่ถูกต้อง แต่เดิมบอกเฉย ๆ ต่อไปนี้คุณจะมีโทษร้ายแรงด้วย ผมเน้นว่าลูกจ้างต่างด้าวเขาต้องรู้กฎหมายไทยนะ เพราะนายจ้างยินดีปฏิบัติทุกคนแหละ เช่น ประชาสัมพันธ์ด้วยภาษาเมียนมา ตอนนี้เราใช้ตู้เอทีเอ็มก็มีภาษาต่างด้าวอยู่แล้ว”

เหตุผลที่ย้ำหมุดเรื่องนี้เพราะทุกวันนี้นายจ้างได้รับความเสียหายจากการ “เปลี่ยนงาน-เปลี่ยนนายจ้าง” ของแรงงานต่างด้าว เนื่องจากนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทำเอ็มโอยูเปิดโควตานำเข้าแรงงานผ่านนายหน้าขึ้นทะเบียน แต่เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทยพบว่าแรงงานต่างด้าวอยู่ด้วยแป๊บเดียวแล้วไปที่อื่น

การมีกฎหมายใหม่ออกมาควบคุมเข้มงวดมากขึ้นจึงมองว่าเป็นข้อดี ทำให้แรงงานอยู่ในระบบ นายจ้างสามารถลดความเสียหายจากการย้ายงานได้ดีขึ้น

และขอสงวนสิทธิ์ไม่พูดถึงปัญหากฎหมายใหม่ที่เพิ่มค่าปรับหัวละ 4-8 แสนบาท ซึ่งอาจจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐมีการเรียกรับเงินใต้โต๊ะก็เป็นได้

ในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งในวงการพัฒนาที่ดิน “อิสระ” มองล่วงหน้าไปถึงอนาคตหลังวันที่ 1 มกราคมปีหน้าที่กฎหมายจะกลับมามีผลบังคับใช้จริง ข้อกังวลลึก ๆ พุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้รับเหมาช่วงหรือซับคอนแทร็กเตอร์ เพราะถือเป็นข้อต่อสำคัญในการก่อสร้างโครงการ

ปัญหาอยู่ตรงนี้ไม่มีต้นทุนการเงินมากพอจะเข้ามาแบกรับค่าใช้จ่ายนำเข้าต่อหัวเฉลี่ย 2-2.5 หมื่นบาท แถมไม่รู้ว่ามีมากน้อยแค่ไหนเพราะไม่มีสถิติไซต์ก่อสร้างในภาพรวม ไม่มีใครรู้จำนวนแท้จริงว่ามีการใช้ผู้รับเหมาช่วงกี่ราย ใช้แรงงานต่างด้าวกี่คน

ประเด็นชวนคิดอยู่ตรงที่ผู้รับเหมาช่วงยิ่งมีเยอะ ผลกระทบก็ยิ่งเยอะตามไปด้วย

“อย่างบริษัทกานดาฯ เราทำถูกต้องหมดเลย ยังเป็นกังวลว่าต้องไปตรวจผู้รับเหมาช่วง ตอนนี้มีแรงงาน 400 กว่าคนที่เป็นต่างด้าว จากภาพรวม 900 คน กระจายตามไซต์งานต่าง ๆ ต้องไปบอกว่าทำให้ถูกนะ ผมมองว่ามาตรการไม่ใช่เรื่องเสียหายหรอก แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านจะทำยังไง”

“เช่น ถิ่นที่อยู่แรงงาน ถิ่นที่อยู่ผู้รับเหมา บางทีรับเหมาไม่มีถิ่นที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยู่ในต่างจังหวัด ในขณะที่จะบอกว่าถิ่นที่อยู่แรงงานต่างด้าวต้องเป็นที่เดียวกับนายจ้าง ก็ไม่ใช่ เอกสารให้แค่รายละเอียดที่จำเป็นและถูกต้องก็พอ”

ซึ่งผลกระทบทุกมุมที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ อยากให้รัฐบาลได้ประเมินว่ามีต่อระบบเศรษฐกิจยังไง จะมีทางออกยังไงได้บ้าง


นับเป็นเสียงสะท้อนของเอกชนอีกหนึ่งเสียง คงหมายถึงไม่อยากเห็นรัฐแก้ปัญหาหนึ่ง แต่นำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ตามมานั่นเอง