สีสัน 4 เฉด ระบบราง สุดยอด-ที่สุดของประเทศไทย

ราชบุรีสะพานคานขึง

อัพเดตข้อมูลสำหรับนักล่าสถิติ ของฝากจาก “ขร.-กรมการขนส่งทางราง” กระทรวงคมนาคม

โดยรวมสุดยอดโครงการระบบรางของประเทศไทย ระบบรางแห่งอนาคต

อุโมงค์สระบุรี

สระบุรี “อุโมงค์รถไฟยาวที่สุด”

เริ่มต้นด้วย “อุโมงค์รถไฟยาวที่สุด” ด้วยระยะทาง 5.20 กิโลเมตร ทุบสถิติที่จังหวัดสระบุรี

ไฮไลต์เป็นของโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งอยู่ในสัญญา 3 งานอุโมงค์รถไฟ ปักหมุดอยู่ระหว่าง “สถานีมาบกะเบา-ผาเสด็จ-หินลับ”

ออกแบบเป็นอุโมงค์คู่ ทางเดี่ยว มีความกว้าง 7.50 เมตร x สูง 8.50 เมตร x ยาว 5.20 กิโลเมตร

ตลอดอุโมงค์มีทางเดินเพื่อการอพยพฉุกเฉินตลอดความยาว มีทางเชื่อมหนีภัย (cross passage) และห้องควบคุม (equipment room) ทุก ๆ ระยะ 500 เมตร มีระบบความปลอดภัยภายในอุโมงค์อย่างสมบูรณ์

ได้แก่ 1.ระบบระบายอากาศ 2.ระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดเพลิงไหม้ 3.ระบบดับเพลิง 4.ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง 5.ระบบตรวจจับแก๊สพิษ 6.ระบบกล้องวงจรปิด 7.ระบบควบคุมการเข้าออก 8.ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน 9.ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน

และ 10.ระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ real-time สามารถตรวจสอบสถานะการทำงานและสั่งการควบคุมจากระยะไกลด้วยระบบ supervisory control and data acquisition หรือ SCADA

ลพบุรีทางคู่ลอยฟ้า

ลพบุรี “ทางคู่ลอยฟ้ายาวที่สุด”

ถัดมา “ทางรถไฟยกระดับยาวที่สุดในประเทศไทย” ที่จังหวัดลพบุรี

โดยโครงการรถไฟทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ (ช่วงบ้านกลับ-โคกกะเทียม) มีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ 19 กิโลเมตร เลี่ยงเมืองลพบุรี จากระยะทางรวม 29 กิโลเมตร

จุดเริ่มต้นอยู่ที่ “สถานีรถไฟบ้านกลับ” ก่อสร้างเป็นทางรถไฟระดับพื้นระยะทาง 5.7 กิโลเมตร และมีการปรับแนวก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับพระปรางค์สามยอด และโบราณสถานสำคัญ

โดยยกระดับทางรถไฟ ขนานกับทางหลวงหมายเลข 366 ระยะทาง 19 กิโลเมตร ความสูง 10-20 เมตร ก่อนจะเริ่มลดระดับลงเป็นทางรถไฟระดับพื้น 4.3 กิโลเมตร บรรจบกับทางรถไฟเดิมก่อนเข้าสู่ “สถานีโคกกะเทียม”

และบางช่วงต้องยกระดับข้ามแยก-ข้ามแม่น้ำลพบุรี ซึ่งต้องใช้เทคนิคค่อนข้างสูงในการก่อสร้าง โดยก่อสร้างสถานีบนทางยกระดับ 1 สถานีที่ “สถานีรถไฟลพบุรี 2”

ซึ่งถือว่าเป็นทางรถไฟยกระดับที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

ราชบุรี “สะพานคานขึง” หนึ่งเดียว

ถัดมา “สะพานรถไฟคานขึง” แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่จังหวัดราชบุรี

โดยรถไฟทางคู่สายใต้ นครปฐม-ชุมพร (ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล) ไฮไลต์อยู่ที่ “สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง”

ออกแบบเป็นสะพานรถไฟชนิดคานขึง (extradosed railway bridge) แห่งแรกที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ไม่มีเสากลางแม่น้ำ เป็นทางเดี่ยว ความยาวสะพาน 340 เมตร ช่วงข้ามแม่น้ำแม่กลองยาว 160 เมตร สูง 16 เมตร นับจากสันรางถึงยอดเสารั้งสายเคเบิล

ตั้งอยู่ อ.เมืองราชบุรี คู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์

และเนื่องจากมีระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่ในลําน้ำ ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างสะพานแบบเดิมได้ เพราะจะต้องมีการเคลื่อนย้ายระเบิดออกทั้งหมด ซึ่งมีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้ การสร้างสะพานรูปแบบใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากการเก็บกู้วัตถุระเบิด ไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่อีกด้วย

หัวหินวิกตอเรีย

หัวหิน “สถานีสไตล์วิกตอเรีย”

ตบท้ายด้วย “สถานีหัวหินใหม่” สไตล์วิกตอเรียแห่งเดียวในประเทศไทยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดย “สถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ มีทางเดินใต้สถานีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นหนึ่งในงานก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ นครปฐม-ชุมพร (ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน)”

สถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่นี้ โครงสร้างยกระดับ มีที่ทำการและที่พักคอยอยู่ชั้นล่าง ชานชาลาอยู่ชั้นบน การออกแบบยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของสถานีเดิมที่ตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย

โครงสร้างสถานีใหม่ประกอบด้วยเหล็กและคอนกรีต ทาสีครีมตัดแดงอย่างสวยงาม ตั้งอยู่ถัดจากสถานีหัวหินเดิมไปทางทิศใต้

ขณะที่สถานีรถไฟเดิมยังคงมีอยู่สำหรับขบวนรถสินค้าและขบวนรถพิเศษในโอกาสสำคัญ


ตัวอาคารสถานีเดิมยังคงอนุรักษ์ไว้ มีแผนพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไป