“อาคม” ซื้อเวลาแบ่งเค้กสนามบินภูธร ทอท.ขอ 15 แห่ง ได้แน่ “ตาก-อุดรธานี”

แฟ้มภาพไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

จากเดดไลน์ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” สั่งเจ้ากระทรวงคมนาคม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เร่งเคลียร์คัตกรณี “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” ขอบริหาร 15 สนามบิน(ดูตาราง)ของ “ทย.-กรมท่าอากาศยาน” ให้จบสิ้นเดือน พ.ย.นี้

ล่าสุดที่ประชุมหารือการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทยวันที่ 29 พ.ย. 2560 มีการส่งสัญญาณจาก “อาคม” ผลสรุปต้องเลื่อนไปอีก 1 เดือน รอ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” เจียระไนข้อดี-ข้อเสียรูปแบบการบริหารสนามบินภูมิภาคภายใต้ปีก “ทอท.และ ทย.”

หลัง “ทย.” เปิดผลศึกษาที่ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาให้ มีข้อสรุปจะให้ ทอท.บริหารสนามบิน”ตาก และอุดรธานี” เป็นระยะเวลา 20-30 ปี และเตรียม 4 สนามบินให้เอกชนเข้าร่วม PPP มี ลำปาง เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และชุมพร

“อาคม” กล่าวว่า เห็นด้วยกับผลศึกษาของ ทย. เนื่องจากถ้า ทอท.มีความต้องการเชื่อมโยงระหว่างภาค เพื่อลดความแออัดสุวรรณภูมิกับดอนเมือง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกที่ ทอท.ยังขาด จะตอบโจทย์ได้ หรือ ทอท.ไม่ต้องการ สามารถร่วมกับ ทย.ในรูปแบบพันธมิตรทางการตลาดก็ได้มอบให้ สนข.เป็นผู้รวบรวมปัญหาคอขวดเรื่องการบริการสนามบิน โดยเฉพาะความเพียงพอรองรับผู้โดยสาร การลงทุนภาพรวมของสนามบินทั้งหมด รวมถึงดูประสิทธิภาพระหว่างสนามบินของ ทอท.กับ ทย. การทำตลาดเที่ยวบินระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้สนามบินต่างจังหวัด และสถานะทางการเงิน เพราะจะสะท้อนถึงภาระการลงทุนในอนาคต

“ทอท.ชัดเจน เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถระดมทุนของตัวเองได้ ส่วน ทย.ยังใช้เงินลงทุนจากรัฐอยู่ ปัจจุบันทำแผนปรับปรุง 29 สนามบินทั่วประเทศ วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ใช้เวลา 10 ปี จะทยอยดำเนินการสนามบินที่แออัด เช่น กระบี่ นครศรีธรรมราช ขอนแก่น ใช้งบฯปี 2561-2563 ส่วนปี 2562 จะมีตรัง สุราษฎร์ธานี”

ทั้งนี้เพื่อให้แล้วเสร็จใน 5 ปี ทางธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (ADB) จะช่วยดูแผนการลงทุนพร้อมสนับสนุนเงินกู้ให้ ด้านการบริหารจัดการสนามบินมีหลายรูปแบบ 1.ทย.ยังบริหารต่อไป แต่อาจจะให้เอกชนมีส่วนร่วมรูปแบบสัญญาสัมปทาน หรือให้ ทอท.บริหาร

2.เอกชนลงทุนทั้งหมด รูปแบบสัมปทาน และ 3.ให้รัฐวิสาหกิจบริหาร ซึ่ง ทอท.พร้อมจะบริหาร 15 สนามบิน แต่เป็นห่วงสนามบินต่างจังหวัดที่ต้องสนองในหลายวัตถุประสงค์ ทอท.เองคงไม่ได้คิดว่าจะบริหารสนามบินเพื่อกำไรอย่างเดียว ต้องดูวัตถุประสงค์ของประเทศด้วย นอกจากพัฒนาเชิงพาณิชย์ ต้องดูความมั่นคง ด้านสังคม

ขณะที่สนามบินของ ทย.บริหารสนามบินแบบไม่หวังผลกำไรอยู่แล้ว ทำให้ผลประกอบการโดยภาพรวมไม่สูงมาก ในช่วงปีที่ผ่านมารายได้ ทย.มากกว่ารายจ่าย เพราะบางสนามบินอาจจะมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในการบริหารแต่โดยรวมรายได้อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท หักรายจ่าย 800 ล้านบาท มีกำไรปีละ 600 ล้านบาท ยังมีศักยภาพที่จะส่งรายได้ให้คลังได้

“สนามบินอาจจะแบ่งเป็นสนามบินหลักและสนามบินรองของประเทศ เรียกว่าเป็นสนามบินที่มีคอนเน็กติ้งไฟลต์ได้ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และรูปแบบสนามบินภูมิภาค ไม่จำเป็นต้องเป็นสนามบินใหญ่ แต่สามารถบินเชื่อมกับสนามบินหลักของภูมิภาคได้”

“อาคม” ย้ำว่า ทอท.อาจจะได้เฉพาะสนามบินที่ยังไม่มี เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก หากทอท.บริหารเหมือนดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จะทำให้ต้นทุนค่าใช้สนามบินสูง และการจะยกระดับสนามบินภูมิภาคเป็นนานาชาติต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่ง ทอท.มีแผนพัฒนา 6 สนามบินในความรับผิดชอบซึ่งใช้เงิน เช่น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่

ด้าน “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมเห็นตรงกันในหลักการว่า ทอท.ยังขาดสนามบินหลักและสนามบินรองในภาคตะวันออกและตะวันตก มารองรับในช่วงเวลาที่ ทอท.กำลังขยายขีดความสามารถสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นมาก น่าจะมีสนามบินภาคอีสานและตะวันตกเป็นศูนย์กลางในการกระจายเที่ยวบิน

อย่างไรก็ตาม หาก ทอท.ได้รับสิทธิบริหาร 15 สนามบิน รวมของเดิม 6 แห่ง จะเป็น 21 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพที่จะลงทุนและบริหารธุรกิจรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล