เร่งแผนแม่บท “จุดตัดรถไฟ-ถนน” 2,943 แห่ง ลดอุบัติเหตุ-ภาระงบประมาณ

ความปลอดภัยเรื่องใกล้ตัว ว่าด้วย “จุดตัดรถไฟ”

ล่าสุด “พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นเจ้าภาพสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ครั้งที่ 2 เมื่อเร็ว ๆ นี้

แผนแม่บท 3 ระยะ

ทั้งนี้ โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เป็นการร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางราง และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจุดตัด ทำเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแก้ไขอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ แบ่งเป็น 3 ระยะ “เร่งด่วน-ระยะกลาง-ระยะยาว” ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง

พร้อมทั้งจัดทำคู่มือมาตรฐานเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์จุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนพัฒนาคู่มือในการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุเชิงลึกบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

6 ปีอุบัติเหตุ 357 ครั้ง

เปิดข้อมูล “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” มีโครงข่ายรถไฟระยะทาง 4,043 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด

ในจำนวนนี้มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ 2,943 แห่ง แบ่งเป็นจุดตัดต่างระดับ 599 แห่ง, จุดตัดเสมอระดับ 1,663 แห่ง, ทางลักผ่าน 485 แห่ง และจุดตัดที่ยกเลิกไป 196 แห่ง

จากสถิติอุบัติเหตุช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2559-2564 พบว่า มีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟเกิดขึ้นกว่า 357 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 138 ราย ผู้บาดเจ็บ 353 ราย ยังไม่รวมผู้พิการจากอุบัติเหตุอีกจำนวนหลายราย

แน่นอนว่าตัวเลขดังกล่าว แสดงถึงความสูญเสียทั้งงบประมาณภาครัฐ และความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชน ดังนั้น เพื่อลดอุบัติเหตุและลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น

กระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้โครงการก่อสร้าง “รถไฟทางคู่-รถไฟสายใหม่-รถไฟความเร็วสูง” มีการออกแบบแก้ไขปัญหาจุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้เป็น “จุดตัดต่างระดับ” ทั้ง 1.สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 2.สะพานกลับรถข้ามทางรถไฟ 3.ทางลอดใต้ทางรถไฟ 4.สะพานรถไฟแบบยกระดับ

รวมทั้งยกเลิกจุดตัดทางผ่านที่อยู่ใกล้เคียงกัน ไปรวมใช้ทางผ่านต่างระดับ ด้วยการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้สัญจร

ทำฐานข้อมูล-แอปจุดตัด

ในส่วนของจุดตัดทางถนนและทางรถไฟที่ไม่อยู่ในโครงการรถไฟทางคู่ จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดย “ขร.-กรมการขนส่งทางราง” ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

มีความคืบหน้าดำเนินการสำรวจจุดตัดทั่วประเทศทั้ง 2,943 แห่งแล้ว เก็บข้อมูลปริมาณการจราจร ความพร้อมใช้งานของไฟฟ้าส่องสว่าง สำรวจไฟกะพริบและเสียงแจ้งเตือน-ความสมบูรณ์ของผิวจราจร-ความลาดชันถนนที่เข้าสู่จุดตัด และองศาถนนบริเวณจุดตัด เป็นต้น

จากนั้นจะนำมาจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วน และจัดทำเป็นแผนแม่บท แผนปฏิบัติการในการปรับปรุงแก้ไขจุดตัด

ทั้งนี้ โครงการศึกษายังได้พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย และกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยบริเวณจุดตัด ตลอดจนจัดทำคู่มือการสอบสวนอุบัติเหตุเชิงลึก และนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยแก้ปัญหาจุดตัด เช่น การประสานบริษัทแผนที่นำทางเพื่อให้แจ้งเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ทราบหากเส้นทางขับขี่มีจุดตัดอยู่ข้างหน้า

ควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลจุดตัดทางรถไฟ และแอปพลิเคชั่นบนมือถือ สำหรับให้ประชาชนสามารถแจ้งผู้รับผิดชอบทราบ หากพบว่าไม้กั้นหรือสัญญาณไฟชำรุด รวมไปถึงเทคโนโลยีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ที่มีระบบ AI เพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนเครื่องกั้นบริเวณจุดตัด เป็นต้น

รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ข้ามหน่วยงาน ระหว่าง “กรมการขนส่งทางราง-กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย-กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” ในการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางถนนและทางรถไฟเสมอระดับ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

สัมมนา #3 “มีนาคม 65”

แผนงานในปี 2565 กรมการขนส่งทางรางเล็งเห็นว่า เพื่อให้ผลการศึกษามีความเหมาะสม สมบูรณ์ และสอดคล้อง

ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จะมีการประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางถนนและทางรถไฟในพื้นที่ส่วนภูมิภาค จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับภูมิภาค 5 ภาคในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565

หลังจากนั้น จะนำข้อมูลมาปรับปรุงและจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2565 ต่อไป