ร.ฟ.ท.ชง PPP รถไฟสายสีแดง 4 เส้นทาง วงเงิน 6.7 หมื่นล้าน

การรถไฟชง PPP สายสีแดง 4 เส้นทาง วงเงิน 6.7 หมื่นล้าน เล็งดึงงานโยธาต่อขยายสร้างเอง คาดได้ข้อสรุปภายในปี 2565

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 เส้นทาง วงเงินรวม 67,575.37 ล้านบาท ปัจจุบันผลการศึกษารูปแบบการลงทุน PPP ใกล้จัดทำเสร็จแล้ว ในระหว่างนี้จะเร่งสรุปรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม คาดว่าได้ข้อสรุปภายในปี 2565

รายละเอียด 4 เส้นทางมีดังนี้ 1.ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท 2.สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร กรอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท

3.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และ 4.ช่วง missing link บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท

ตามผลการศึกษามีรูปแบบการลงทุนวางไว้ 3 แบบ ได้แก่ “net cost แบบที่ 1”เอกชนลงทุนงานโยธา-ระบบ-บริหารโครงการ แล้วแบ่งรายได้ให้รัฐ เอกชนรับความเสี่ยงทั้งหมด “net cost แบบที่ 2” รัฐลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนด้านงานระบบเดินรถพร้อมซ่อมบำรุง

และ “net cost แบบที่ 3” รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาและจัดหาขบวนรถ ส่วนเอกชนเข้ามาบริหารเดินรถ-ซ่อมบำรุงตัวรถ-บำรุงรักษาโครงสร้างด้วย โดยรัฐเก็บรายได้ทั้งหมด และจ่ายเป็นค่าจ้างบริหารให้เอกชน

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR : Economics Internal Rate of Return) น้อยกว่า 12% จึงมีแนวทางเสนอตัวเลือกระยะเวลาสัญญาที่เหมาะสมระหว่าง 30 ปีและ 50 ปี

ล่าสุด มีแนวโน้มรูปแบบ PPP net cost แบบที่ 3 ถือว่าเหมาะสมมากที่สุด แต่เนื่องจากทั้ง 4 สายทางผ่านที่ประชุม ครม.มานานแล้ว จึงต้องกลับไปตรวจสอบกรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติก่อนหน้านี้ มีเนื้องานอะไรที่ต้องปรับเพิ่ม และมูลค่าโครงการเกินกรอบวงเงินหรือไม่

หลังจากนั้น จะนำเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณา และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในระยะต่อไป

คาดว่าทั้ง 4 สายทางจะผ่านการพิจารณาในปี 2565 หลังจากนั้นเตรียมเปิดประมูลในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จและทยอยเปิดบริการในปี 2569-2570