เร่งปรับโฉมค้าปลีกใต้ดินดึงคนใช้รถไฟฟ้า

โฉมใหม่ - บรรยากาศภายใน "เมโทรมอลล์" รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสุขุมวิท ที่ BMNรีโนเวตใหม่ให้สดใส ไฉไล รับไลฟ์สไตล์คนเมืองกรุง

ช.การช่างเท 40 ล้าน รีโนเวต “เมโทรมอลล์” ค้าปลีกแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ดึงร้านดัง “สตาร์บัคส์-กูร์เมต์ มาร์เก็ต” เสริมแกร่ง รับไลฟ์สไตล์คนกรุง อวดโฉมใหม่สถานีสุขุมวิท อีก 3 สถานีรัชดา ลาดพร้าว ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ รอจังหวะ ลุยต่อสายสีม่วงและน้ำเงินต่อขยาย

นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) บริษัทลูก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ช.การช่าง ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 แผนดำเนินงานธุรกิจค้าปลีก

“เมโทรมอลล์” ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จะเน้นรีโนเวต หรือการปรับโฉมพื้นที่สถานีเดิมให้ดูทันสมัยและสอดคล้องกับทำเลที่ตั้ง และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง จะนำร้านค้าเป็นแบรนด์ชั้นนำมาเปิดให้บริการ เช่น ร้านกาแฟสตาร์บัคส์, กูร์เมร์ มาร์เก็ต เป็นต้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 30-40 ล้านบาท

“ตอนนี้ปรับโฉมสถานีสุขุมวิทเสร็จแล้ว ล่าสุดวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมาได้เปิดบริการสถานีเพชรบุรีแล้ว ในเฟสแรกภายในมีร้านกาแฟสตาร์บัคส์ อเมซอน ลอว์สัน ดังกิ้น โดนัท ฮั่วเซ่งเฮง และปีหน้าจะเปิดเฟส 2 จะมีแบรนด์ดังมาเพิ่ม เช่น GourmetTogo, Karmakamet, Viet Cuisine, Ochaya, Ramenboy, Close to Nature

สำหรับสถานีเพชรบุรีนับว่าเป็นทำเลดีมากสามารถเดินเชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์ที่สถานีมักกะสัน และโครงการสิงห์เอสเตท ที่จะเจาะอุโมงค์ทางเดินเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้า เหมือนที่สถานีพระราม 9

จากการสำรวจพบว่าปริมาณผู้โดยสารดีมากอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นเที่ยวคน/วัน เป็นอันดับ 3 รองจากสถานีสุขุมวิทที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นเที่ยวคน/วัน และพระราม 9 อยู่ที่กว่า 2 หมื่นเที่ยวคน/วัน

ส่วนสถานีที่ยังเหลือว่า ยังมีสถานีรัชดา สถานีลาดพร้าว สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบการพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้มาใช้บริการ

ในส่วนสถานีรัชดาภิเษกกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รอผลการศึกษารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม เนื่องจากสถานีรัชดาภิเษกอยู่ในทำเลที่ยังไม่มีเรื่องคอมเมอร์เชียล อีกทั้งปริมาณผู้โดยสารยังไม่สูงสักเท่าไหร่ ดังนั้นการไปลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ในบริเวณดังกล่าวยังค่อนข้างยากอยู่ ต้องรอจังหวะและพัฒนาโมเดลใหม่ ๆ ปรับประยุกต์มาในการพัฒนาสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบันได้

“สถานีศูนย์สิริกิติ์ดีแน่ในอนาคต เพราะมีโครงการเอฟวายไอ และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กำลังปรับปรุงและขยายพื้นที่เพิ่มเป็นโครงการมิกซ์ยูส เราแค่รอเวลาเมื่อไหร่จะมีทราฟฟิกสูงขึ้น ซึ่ง 2 สถานีที่เหลือนี้น่าจะเป็นแผนพัฒนาของปีต่อ ๆ ไป”

ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากอยู่ที่ประมาณ 3.3-3.5 แสนเที่ยวคน/วัน ด้านรายได้ของบริษัทปี 2560 ตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 8% หรืออยู่ที่ 530 ล้านบาท

ขณะเดียวกันเตรียมพร้อมจะเข้าประมูลพัฒนาพื้นที่สถานีของสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) ระยะทาง 23 กม.จำนวน 16 สถานี ได้แก่ สถานีเตาปูน บางซ่อน วงศ์สว่าง แยกติวานนท์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ราชการนนทบุรี ศรีพรสวรรค์ แยกนนทบุรี 1 สะพานพระนั่งเกล้า ไทรม้า ท่าอิฐ บางรักใหญ่ บางพลู สามแยกบางใหญ่ ตลาดบางใหญ่ และคลองบางไผ่ รอการประกาศทีโออาร์จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าอายุสัญญาเช่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปี

รวมถึงเตรียมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. จำนวน 21 สถานี ซึ่ง BEM ได้รับสัมปทานเดินรถและบริหารพื้นที่สถานี ในส่วนของ BMN จะได้รับสัมปทานต่อจาก BEM ให้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงพื้นที่โฆษณาในสถานีและขบวนรถ จะทำให้รายได้ BMN มีการเติบโตก้าวกระโดด เนื่องจากงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่ต้องรอเวลาอีก 2 ปีเพราะจะเปิดบริการทั้งโครงการปี 2563


ตลอดเส้นทางมี 21 สถานีจากการทำรายละเอียดแล้ว คงไม่สามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ทุกสถานี โดยจะสามารถพัฒนาพื้นที่รูปแบบเมโทรมอลล์ได้จำนวน 2 สถานีที่เป็นสถานีใต้ดิน คือ สถานีวังบูรพากับสถานีอิสรภาพ ส่วนสถานีที่เหลือจะเป็นแบบลอยฟ้า รูปแบบการพัฒนาจะเป็นลักษณะร้านค้าขนาดเล็กเหมือนสถานีของรถไฟฟ้าบีทีเอส