แบ่งสร้าง 2 เฟสไฮสปีดเทรนเชื่อมEEC ติดอีไอเอนิคมมาบตาพุดหวั่นโครงการดีเลย์

เร่งสปีดรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การรถไฟฯตัดแบ่ง 2 เฟสก่อสร้าง หลังติดบ่วงอีไอเอ ปมแนวเส้นทางตัดผ่านนิคมมาบตาพุด หวั่นกระทบชิ่งภาพรวมโครงการ ชงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมขอพิจารณาช่วง “กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. ให้ทันเดดไลน์บอร์ดอีอีซี บี้เปิดประมูล ม.ค. 61 ดึงเอกชน PPP ลงทุน 3 แสนล้าน รับสัมปทาน 30-50 ปี

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เดินหน้าได้เร็ว จะเสนอทางเลือกต่อที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ให้แบ่งการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เป็น 2 เฟส คือ ช่วงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. และอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 40 กม. จากทั้งโครงการมีระยะทางรวม 260 กม. เพื่อให้รายงานอีไอเอผ่านการอนุมัติโดยเร็ว

หวั่นอีไอเอลากยาว

เนื่องจากอีไอเอยังติดปัญหาพื้นที่ช่วงที่ตัดผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่ง คชก.มีข้อท้วงติงและอาจจะใช้เวลาชี้แจงนาน อาจจะส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาโดยภาพรวมของโครงการได้ จึงจะขอให้ คชก.พิจารณาช่วงแรกจากกรุงเทพฯ-อู่ตะเภาก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้เอกชนที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาเกิดความมั่นใจโครงการ

“มีคำถามจาก คชก.มากว่า หากรถไฟความเร็วสูงพาดผ่านพื้นที่นิคมมาบตาพุด เกรงว่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุอื่น ๆ ได้ เพราะนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตโรงกลั่นน้ำมัน เราเกรงว่าจะใช้เวลาชี้แจงนาน อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาเร่งทำรายละเอียดรวมถึงประเมินวงเงินก่อสร้างด้วย เพราะหาก คชก.เห็นชอบตามที่เราเสนอ จะทำให้ค่าลงทุนโครงการลดลงจากเดิม คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้จะได้ข้อสรุป”

ลงทุนรวมเฉียด 3 แสนล้าน

นายอานนท์กล่าวอีกว่า สำหรับเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 296,421 ล้านบาท แยกเป็นเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูง 214,308 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืนที่ดิน 4,992 ล้านบาท งานโยธา 148,842 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 32,577 ล้านบาท จัดหาขบวนรถ 22,032 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 5,866 ล้านบาท และเงินลงทุนการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม 82,113 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนาที่ดินที่สถานีมักกะสัน 140 ไร่ 56,685 ล้านบาท การพัฒนาที่ดินรอบ 4 สถานีฉะเชิงเทรา สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีระยอง 25,428 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุน PPP โดยภาครัฐจะเวนคืนที่ดินและให้เอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล จัดหาขบวนรถ เดินรถและซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 30-50 ปี ตามแผนงานจะประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนในเดือน ก.ค. 2561 ยื่นข้อเสนอเดือน ก.พ. ประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกเดือน พ.ค. เซ็นสัญญาเดือน ส.ค. และเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566

ปี”66 เปิดหวูดบริการ

เมื่อการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟธรรมดา (city line) ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ กว่า 103,920 คน/เที่ยว/วัน และมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง ช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง กว่า 65,630 คน/เที่ยว/วัน สำหรับระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (จอดทุกสถานี) ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. และจากดอนเมืองถึงระยอง (ไม่จอดระหว่างทาง) ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม ให้แก่ จ.สมุทรปราการ และใกล้เคียง อีกทั้งเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง

ทั้งนี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบัน จะสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร มีส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท-สนามบินดอนเมือง และสถานีลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา และ จ.ระยอง พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของรถไฟเป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 260 กม. และมีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งระบบรถที่จะนำมาวิ่งบริการในพื้นที่ชั้นในจะวิ่งด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. และ 250 กม./ชม.ในเขตนอกเมือง

เชื่อม 3 สนามบิน 5 จังหวัด

แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีจุดเริ่มต้นที่สนามบินดอนเมือง วิ่งขนานไปตามเขตทางรถไฟปัจจุบันเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ข้ามถนนประดิพัทธ์ เชื่อมเข้ากับสถานีพญาไทของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยวิ่งบนโครงสร้างปัจจุบันของแอร์พอร์ตลิงก์ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ

หลังจากนั้นจะใช้แนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง สร้างคู่ขนานไปกับรถไฟสายตะวันออกในปัจจุบัน ยกเว้นสถานีฉะเชิงเทรา จะเวนคืนที่ดินใหม่ให้ได้รัศมีความโค้งของทางรถไฟความเร็วสูง โดยสถานีฉะเชิงเทราจะตั้งอยู่ด้านข้างของถนน 304 ประมาณ 1.5 กม. ไปทางทิศเหนือของสถานีรถไฟเดิม จากนั้นจะเข้าบรรจบกับเขตทางรถไฟเดิม และผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จุดปลายทางของรถไฟเดิม จากนั้นจะวิ่งอยู่บนเกาะกลางของถนน 363 และ 36 สิ้นสุดที่สถานีปลายทางระยอง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจุดตัดของถนน 36 กับถนน 3138

จอดป้าย 10 สถานี


มี 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา และระยอง ซึ่งโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับ มีเป็นอุโมงค์ช่วงถนนพระรามที่ 6-ถนนระนอง 1 ช่วงเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ ผ่านเขาชีจรรย์ และเข้าออกสถานีอู่ตะเภา จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงพื้นที่ 400 ไร่ บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภา อยู่ที่ 500 และ 300 บาท/เที่ยว