งานใหญ่ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ผ่าตัดบินไทย กู้ซากรถไฟ-ขสมก. สร้างมหัศจรรย์ EEC-ปิดฉาก NGV

นอกจากจะสร้างเซอร์ไพรส์ร่วมนาวา “ครม.ตู่ 5” นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยคมนาคม “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตซีอีโอ ปตท.วัย 61 ปีดีกรีด็อกเตอร์วิศวกรรมศาสตร์จากประเทศญี่ปุ่นยังได้รับมอบหมายจากราชรถ 1 “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ลุยงานใหญ่ ทั้งระดมทุนสร้างทางด่วน เดินหน้ารถไฟความเร็วสูง ซื้อรถเมล์ NGV เจียระไนโครงการเมกะโปรเจ็กต์เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

และฟื้นฟูสถานะการบินไทยสายการบินแห่งชาติ ปลดภาระหนี้ร่วม 2 แสนล้านบาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านพลังงานจาก “ปตท.” มาต่อยอดปลดล็อกโครงการของคมนาคมที่ยังติดขัด “ด้านเทคนิค- กฎหมาย-เชิงพาณิชย์” ให้ลื่นไหลในช่วงระยะเวลาที่เหลือ 1 ปีนับจากนี้

“ไพรินทร์” เปิดใจว่า ไม่หนักใจได้บริหารงานกระทรวงคมนาคม แต่กลับรู้สึกสบายใจ เพราะมีผู้บริหารที่เข้มแข็ง คิดว่าไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ถ้ามีความตั้งใจ จะนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงานจาก ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเต็มตัว หลังแปรรูปเติบโตเกือบ 10 เท่าตัว จนเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีเงินลงทุนมากและใหญ่สุด ถ้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในคมนาคมบริการจัดการที่ดี จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ ไม่ว่า การท่าเรือฯ การรถไฟฯ จะเป็นตัวช่วยประเทศชาติอย่างมาก

โดยงานของคมนาคมที่เป็นกระทรวงมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ทางอากาศต้องเร่งขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และสนามบินอู่ตะเภา ทางถนนเพิ่มโครงข่ายมอเตอร์เวย์สายใหม่ รถไฟจะเร่งรัดสร้างทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ส่วนทางน้ำมีพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 แนวทางการบริหาร “รถ-เรือ-ราง” ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่กระทรวงทำอยู่และทำได้ดี แค่เร่งรัดให้สอดรับกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซีที่เป็นนโยบายรัฐบาลและเรื่องใหญ่ในขณะนี้

“อีอีซีหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด จริง ๆ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ได้มีส่วนร่วมเมื่อปี 2528 ผมเป็นวิศวกรทีมแรก ๆ ที่ไปบุกเบิกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเวนคืนที่ดิน เมื่อ 30 ปีผ่านไป นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ติด 1 ใน 10 ของโลก และเป็นตัวที่สร้างจีดีพี 20-30% ของประเทศไทยมาจากมาบตาพุดจุดเดียว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเลือกพื้นที่อีอีซีมาพัฒนา ถือเป็นแนวคิดที่ดีมาก ถ้าทำสำเร็จจะเป็นตัวหลักดันจีดีพีของประเทศไทยเพิ่มอีกระดับหนึ่ง อย่างที่ทำสำเร็จมาแล้วจากอีสเทิร์นซีบอร์ด และมหัศจรรย์แบบนั้น ถ้าเราพยายามอีกครั้งหนึ่งเชื่อว่าทำได้ และจะเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคสำหรับอนาคต”

ในหลักคิดจะให้ประเทศไทยเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะนำโมเดลกรุงโตเกียว-โยโกฮามา มาเป็นต้นแบบ เป็นการเชื่อมระหว่างโตเกียวศูนย์กลางธุรกิจกับโยโกฮามาเมืองอุตสาหกรรมเข้าด้วยกันได้ จะเหมือนกับโครงการอีอีซีของประเทศไทย ที่จะเป็นเมืองรองรับการขยายตัวจากกรุงเทพฯ หากพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเต็มระบบ จะรองรับการเจริญเติบโตของประเทศไทยได้อีก 30-50 ปี เหมือนอีสเทิร์นซีบอร์ดรองรับการเติบโตของประเทศไทยมา 30 ปี

“สามารถช่วยผลักดันให้แนวคิดอีอีซีเกิดขึ้นได้ โดยพื้นฐานผมจบญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยกับนักลงทุนญี่ปุ่นกันดีอยู่ ทราบว่าญี่ปุ่นมีผู้บริหาร 500 คนมาดูพื้นที่ หากประสานงานที่ดีจะเห็นการลงทุนใหญ่อีกระลอกหนึ่ง จากญี่ปุ่นและจีนเข้าสู่อีอีซี อย่างที่บอกอีอีซีมีภูมิศาสตร์ที่ดีมาก ลดความแออัดของเมือง ทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกกับกรุงเทพฯเป็นหนึ่งเดียวกัน”

“รัฐมนตรีใหม่” อธิบายถึงแนวทางการทำงานว่า ปกติโครงการก่อสร้างจะมีปัญหา 3 เรื่อง คือ เทคนิค กฎหมาย และเชิงพาณิชย์ ถ้ามีปัญหาแล้วแยกเป็นเรื่อง ๆ ได้ จะแก้ปัญหาลุล่วง อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากจะทำเป็นพิเศษคือการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน หลังประเทศไทยมีสถิติติดอันดับโลก

“จะใช้โมเดล ซีโร่แอ็กซิเดนต์ ของ ปตท.ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งมีลงทุน เช่น ติดระบบกล้องในรถ หลังพบ 90% อุบัติเหตุเกิดจากคนขับหลับใน เล่นมือถือขณะขับรถ อีกทั้งทำพื้นที่จอดสำหรับนอนตามถนนหลวงเป็นระยะ ๆ

และร่วมกับบริษัทเอกชน เช่น เอสซีจี ยกระดับความปลอดภัยทางถนน รัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน ผมไม่เชื่อว่าอัตราการตายจะแก้ไม่ได้ ถ้าตั้งใจทำสำเร็จแน่นอน”

กับโปรเจ็กต์มาราธอนอย่าง “ซื้อรถเมล์ NGV” 489 คัน วงเงิน 4,020 ล้านบาท “ไพรินทร์” ย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่ง ขสมก.เป็นหน่วยงานที่น่าสนใจ อาจจะไม่ใช่ดูหรูหราเหมือนสายการบิน แต่เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับประชาชน จึงต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และการสนับสนุนจากรัฐก็เป็นเรื่องสำคัญ

“ถ้าสมมุติว่า ขสมก.ปลอดการเมือง การประมูลไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้ที่ล่าช้ามากว่า 10 ปี ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามีการเมืองหรือเปล่า สิ่งที่ทำค้างไว้ก็เดินหน้าต่อ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายประชาชนมีรถเมล์ใหม่ รถดี ๆ ไว้ใช้ในปีหน้า ไม่ว่ารถเมล์ NGV และรถเมล์ไฟฟ้าจะเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาไม่เกิน 10 ปี”

ขณะที่ภารกิจปลดแอกหนี้รถไฟและ ขสมก. “ไพรินทร์” ย้ำว่า อยู่ที่การบริหารจัดการที่จะสามารถแก้หนี้ได้ ส่วนธุรกิจการบิน บิสซิเนส

โมเดลโลว์คอสต์ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ