บูมโปรเจ็กต์ยักษ์ 5เมืองใหญ่ ปั้น “เชียงใหม่” ฮับเศรษฐกิจเชื่อมโลก

“อาคม” โหมโปรเจ็กต์ยักษ์ 5 จังหวัดภาคเหนือ บูมเชียงใหม่ฮับเศรษฐกิจเชื่อมไทยเชื่อมโลกเร่งทางคู่ “เด่นชัย-เชียงใหม่-เชียงของ” ปักหมุดเชียงรายสถานีขนส่ง ลุยแน่ไฮสปีดเทรน ขยายอาคารสนามบิน เล็งลำพูนสนามบินแห่งที่ 2

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เชียงใหม่…เชื่อมเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก” ว่า สมัยที่ทำงานสภาพัฒน์ มีการทำแผนทุก 5 ปี แต่ไม่พอแล้ว วันนี้รัฐบาลได้ทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีทั้งวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์เป็นกรอบไว้ เมื่อใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำให้บรรลุเป้าหมาย โดยแยกย่อยมาเป็นแผนปฏิบัติทุก 5 ปี ที่ต้องมีการพัฒนาและปฏิรูปควบคู่กันไป โดยร่างของแผนคมนาคมขนส่งนั้น มีเป้าหมายพัฒนารายได้ อาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความสะดวกสบาย ซึ่งยอมรับว่าการคมนาคมวันนี้ยังไม่เป็น 4.0 เพราะยังต้องมองอีก 4 มิติที่ต้องเติมเต็มให้ประเทศ คือ 1.ถนนหนทาง ซึ่งเป็นพื้นฐานของคมนาคม ต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อนำความเจริญเข้ามา แต่ในอดีตเราเน้นปริมาณคือ ขอให้ถนนมีมาก แต่วันนี้เราต้องคิดเรื่องกรีนแอนด์เซฟ คือ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย เช่น กรณีตัดต้นไม้สร้างถนน ต่อไปเราสั่งไม่ให้ตัด แต่ให้ออกแบบใหม่ที่ต้องปลอดภัย ที่สำคัญ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

2.รถไฟ ที่ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมใช้เม็ดเงินลงทุนในรถไฟเป็นอันดับ 1 เพราะเราต้องการชิฟต์โหมดจากถนนมาเป็นราง เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ทำให้เอกชนมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกันได้ อย่างไรก็ตาม เรายังขาดระบบเชื่อมต่อที่ต้องอาศัยดิจิทัล หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามเข้าสู่ระบบนี้ให้ได้ เหมือนที่ขณะนี้เราทำเรื่องบัตรแมงมุม เป็นต้น

3.ความเท่าเทียม หรือการเข้าถึงที่เท่าเทียม โดยความหมายคือการกระจายโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึง เน้นเรื่องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องโตไปด้วยกัน วันนี้จีดีพีกรุงเทพฯ 50% แต่สร้างโดยคนต่างจังหวัด ดังนั้นต้องดูว่าความเท่าเทียมโครงสร้างพื้นฐานระหว่างภาควันนี้มีหรือไม่ รัฐบาลจึงพยายามกระจาย เช่น สนามบินแห่งที่ 2 ของเชียงใหม่ ที่จะสร้างที่ลำพูน ชาวเชียงใหม่ไม่ต้องกังวล เพราะมีระยะห่างเพียง 20-30 กม.เท่านั้น

4.อินโนเวชั่นและเทคโนโลยี วันนี้ทุกประเทศพูดเรื่องดิจิทัลอีโคโนมี ล่าสุดอาลีบาบาจับมือสตาร์บัคส์ที่ใหญ่ที่สุด ทุกอย่างผ่านมือถือหมด ทำนองเดียวกัน ประตูสู่โอกาสคนเชียงใหม่หรือประเทศ ก็ต้องไปสู่สมาร์ทต่าง ๆ ต่อไปเรื่องอีทิกเก็ตอาจล้าสมัย เมื่อเทียบกับการใช้คิวอาร์โค้ดจ่ายค่าตั๋ว แต่อย่าลืมว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องให้เวลาพี่น้องต่างจังหวัดที่อาจยังคุ้นกับโทรศัพท์แบบเดิมต้องให้เขาปรับตัว

เชียงใหม่ 2018 – บรรยากาศคึกคัก งานสัมมนาเชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน…ประตูสู่โอกาส “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.กระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ “เชียงใหม่…เชื่อมเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก” อนาคตที่น่าจับตาของจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ

สำหรับโอกาสของเศรษฐกิจในภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ต้องเชื่อมกลุ่มคลัสเตอร์ มี 5 จังหวัดรอบ ๆ ต้องเกาะกลุ่มกันไป ซึ่งมีรายได้จาก 3 แหล่ง คือ ท่องเที่ยว เกษตร (เกษตรเมืองหนาว) และอุตสาหกรรม จะต้องมีการพัฒนา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่ปีละ 10 ล้านคน ขณะที่คนเชียงใหม่มี 1.7 ล้านคน เริ่มมีปัญหาแออัด ขยะ ที่อยู่อาศัยไม่พอ ขณะที่อุตสาหกรรมต้องปรับเป็นอุตสาหกรรมสะอาด เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับคนที่จะเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ โดยเฉพาะนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ต้องใช้สมองและความคิดสร้างสรรค์ และล่าสุดรายได้จากแหล่งใหม่ คือ โลจิสติกส์ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยสิ่งที่อยู่ในแผนคมนาคม อาทิ โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ที่จะเป็นศูนย์รวมสินค้าจากแหล่งผลิตต่าง ๆ ระหว่างภูมิภาค แบ่งเป็น 2 จังหวัดชายแดน ภาคเหนือ คือ เชียงราย ตาก และ 3 จังหวัดเมืองหลักภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก และนครสวรรค์ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอผล PPP ต่อ คค.

นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย 289 กิโลเมตร ขณะนี้ศึกษา สำรวจ และออกแบบเสร็จแล้ว เด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กิโลเมตร ก็เช่นกัน ส่วนทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงของ 326 กิโลเมตร เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา ส่วนรถไฟความเร็วสูง เมื่อวานนี้ 14 ธันวาคม 2560 บริษัทญี่ปุ่นได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้เราแล้ว ระยะทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 672 กิโลเมตร โดยผลการศึกษาของ สนข. ใช้เงินลงทุน 4.5 แสนล้านบาท ขณะที่ไจก้าระบุว่า 5.2 แสนล้านบาท โดยเคาะที่ราคาตั๋ว 1,088 บาท ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเราได้ขอให้ราคาบีบลงเพื่อสู้กับสายการบินโลว์คอสต์ และต้องชี้แจงว่า การลงทุนรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เงินลงทุนสูง เป็นเรื่องที่ต้องกัดฟัน ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครทำกำไรได้ใน 10 ปี หรือ 30-40 ปี จะต้องเป็นโครงการ 50 ปี ดังนั้นต้องมีการพัฒนาบริเวณรอบสถานีด้วย จะเอาไปให้เช่าในราคาถูกแบบเดิมไม่ได้ เพราะเราต้องการเงินลงทุนโครงการรถไฟ

 

“นายกฯเสนอว่า ถ้าอยากให้เร็ว ทำเป็นสถานีได้ไหม คือ ช่วงแรก กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 กิโลเมตร ให้ซอยย่อยได้ไหม ที่ระยะทางที่คุ้มการลงทุน อาจจะ 100 กม.ก่อน แล้วระหว่างสร้าง เราเจรจาซื้อตัวรถเลย ซึ่ง 100 กม.นี้คิดว่าไม่เกิน 2-3 ปี ส่วนสถานีต่อ ๆ ไปจะทยอยก่อสร้าง ญี่ปุ่นก็เสนอเอง เพราะอยากทำจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯให้เป็นรูปธรรม แล้วค่อยทยอยเปิดสถานีต่อไป ซึ่งการทำงานกับญี่ปุ่นเป็นไง ก็แฮปปี้ดี เป็นคนทำงานละเอียด รอบคอบ ถ้าตัดสินใจแล้วไม่มีถอย ฉะนั้นเริ่มต้นอาจจะช้า แต่เมื่อตั้งต้นได้จะเร็ว”

ขณะที่ปัญหารถติดเชียงใหม่ ผลการศึกษา สนข.บอกว่าเป็นระบบรางเบา เราจะนำการศึกษานี้เสนอคณะกรรมการ คจร. ในเดือนมกราคม มี 3 สายทาง แดง น้ำเงิน เขียว แต่การออกแบบระบบค่อนข้างยาก เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีโบราณสถานจำนวนมาก ฉะนั้นออกแบบหากต้องให้สั้นที่สุด แต่ผ่านพื้นที่ประวัติศาสตร์ เราต้องทำให้ดี อาจต้องเลี่ยงหน่อย หลบโบราณสถานน่าจะคุ้มกว่า

ส่วนเรื่องมอเตอร์เวย์ มองว่าไม่น่าทำ เนื่องจากลงทุนสูงและต้องเก็บเงิน มองว่าควรเป็นฟรีเวย์ ให้ประชาชน 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่ และเชียงรายใช้สะดวก ถ้าจำเป็นต้องเจาะอุโมงค์ก็เจาะ ประตูเชื่อมโลก ปัญหาหลักของเอเชีย