อัด 1.8 แสนล้านผุดทางด่วน 8 สาย เชื่อม กทม.-ภูมิภาค-เขตเศรษฐกิจอีอีซี

คอลัมน์ ดาต้าเบส

แผนงานลงทุนโครงการทางด่วนสายใหม่ในบัญชีของ “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ที่ศึกษากันมานานหลายปี (ดูตาราง) มีการขยายโครงข่ายเชื่อมกรุงเทพฯไปยังภูมิภาคต่าง ๆ กำลังจะได้เงินลงทุนในเร็ว ๆ นี้

งานนี้รัฐบาล คสช.ส่ง “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตบิ๊ก ปตท. มาเร่งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ให้แจ้งเกิดภายในปีหน้า เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท มาก่อสร้างทางด่วนสายใหม่ 2 เส้นทาง ที่อยู่ในแผนเร่งด่วนประกอบด้วย “สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก” ระยะทาง 19 กม. วงเงิน 31,244 ล้านบาท และ “ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วงเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. วงเงิน 17,551 ล้านบาท ส่วนโครงการส่วนที่เหลือจะจัดลำดับความสำคัญกันอีกครั้งหลังจากนี้

ขณะที่ “ไพรินทร์” หลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมก็เดินสายมอบนโยบายให้หน่วยงานในความรับผิดชอบ สำหรับ กทพ. “รมช.ไพรินทร์” กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ กทพ.เพิ่มโครงข่ายการเดินทางที่ไร้รอยต่อ เช่น ต่อขยายทางด่วนบางนา-ชลบุรีไปถึง อ.บ้านบึงเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง เพื่อเสริมโครงข่ายให้การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับความคืบหน้าทางด่วน 3 สายใหม่ที่จะลงทุน ในส่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก อยู่ในระหว่างรอกรมบัญชีกลางหารือแนวทางในการประมูลตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่

“ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วงเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก” วงเงิน 17,551 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากบอร์ด กทพ.แล้ว คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมในเดือน ธ.ค.นี้

“ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 13,916.97 ล้านบาท รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว เตรียมเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณา คาดว่าจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือน ธ.ค.นี้ก่อนเสนอให้คณะกรรมการ PPP อนุมัติ เพื่อเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนต่อไป