“อาคม” ปักหมุดอนาคต “เชียงใหม่…เชื่อมเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก”

งานสัมมนา “เชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน…ประตูสู่โอกาส” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ณ จังหวัดเชียงใหม่ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เชียงใหม่…เชื่อมเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก”

นายอาคมกล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต้องดำเนินคู่กับการปฏิรูป ที่เห็นเด่นชัด คือ เรื่องของดิจิทัล อีโคโนมี ประเทศไทย 4.0 คือ ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้นถ้าหากจะปรับตัวเอง เปลี่ยนตัวเอง ต้องเข้าใจนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ

4 มิติเติมเต็มประเทศ

ในด้านคมนาคมแม้ยังไม่ถึง 4.0 เพราะคมนาคมต้องมอง 4 มิติ คือ 1.ทำอย่างไรให้ระบบคมนาคมมีประสิทธิภาพ เพื่อนำความเจริญเข้าไปสู่ชนบท และให้ชนบทสามารถนำผลผลิตออกมาสู่ตลาดได้ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ เรื่องกรีนแอนด์เซฟ ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย

2.รถไฟ ปัจจุบันเรามีทั่วประเทศประมาณ 4,000 กิโลเมตร (กม.) ถนนเรามีทั้งหมด 4.6 แสน กม. ถนนหลัก 1 แสนกว่า กม. ถนนท้องถิ่น 3 แสนกว่า กม. ทำอย่างไร จากที่เราพึ่งการขนส่งทางถนน 85% จะขยับมาเป็นรถไฟได้หรือไม่ ซึ่งจะประหยัดต้นทุนของภาคเอกชนไปมาก เพราะครึ่งหนึ่งของต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่เรื่องการขนส่ง รถไฟวันนี้เราใช้ไม่ถึง 5% ในระบบการขนส่งทั้งประเทศ ถ้าขยับขึ้นมาได้ ภาคเอกชนจะมีต้นทุนที่แข่งกันได้

ดังนั้น 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ลงทุนให้ระบบรถไฟเป็นอันดับ 1 เพราะเราต้องการชิฟต์โหมดแต่ที่บอกว่ายังไม่ถึง 4.0 นั้น เพราะเราขาดระบบการเชื่อมต่อที่ต้องอาศัยดิจิทัล

3.ความเท่าเทียม หรือการเข้าถึงที่เท่าเทียมกัน วันนี้พยายามกระจายความเท่าเทียมโครงสร้างพื้นฐานในระหว่างภาค

ฉะนั้น สิ่งที่จะพูดถึงเชียงใหม่ คือ เชียงใหม่กับจังหวัดรอบด้านหรือคลัสเตอร์ ซึ่งสนามบินแห่งที่ 2 ที่วางแผนไว้ที่ลำพูน ระยะทาง 20-30 กิโลเมตร อยากเรียนว่าพี่น้องเชียงใหม่ไม่ต้องกังวล เพราะเวลาโตจะโตด้วยกัน นายกฯพูดคำหนึ่งว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

4.อินโนเวชั่น และเทคโนโลยี เวลานี้ไม่ใช่ว่าเราทำคนเดียวในโลกนี้ ทุกประเทศพูดเรื่องดิจิทัล แต่อย่าลืมคำหนึ่ง คือ no one left behide คือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะว่าอัตราการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยียังไม่เท่าเทียมกัน พี่น้องประชาชนที่อยู่ในภาคชนบทหลายท่านอาจยังคุ้นกับโทรศัพท์แบบเดิม ต้องให้เวลาปรับตัว

ผนึกกำลังประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับเชียงใหม่ และกลุ่มคลัสเตอร์ ถามว่าถ้าเชื่อมเศรษฐกิจไทย ก็ต้องเชื่อมกลุ่มนี้ให้ได้ ต้องเกาะกลุ่มกันไป stronger together ถ้ามองเศรษฐกิจของเชียงใหม่ และภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ จริง ๆ รายได้ของเชียงใหม่มาจาก 3 แหล่ง คือ ท่องเที่ยว เกษตร (เกษตรเมืองหนาว) และอุตสาหกรรม มีเรื่องอุตสาหกรรมที่เราจะต้องปรับไปสู่อุตสาหกรรมที่สะอาดในอนาคต ซึ่งไม่ยาก

อีกเรื่องสำคัญที่จะเป็นโอกาส คือ โลจิสติกส์ จะเป็นการเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และโลจิสติกส์ในวันนี้จะกลับมาสู่เรื่องอีคอมเมิร์ซ ซึ่งก็คือสิ่งที่เรากำลังพูดกันว่า ทำอย่างไรที่จะขายออนไลน์ได้นี่ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลส่งเสริม

สำหรับระยะเวลาเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯมาเชียงใหม่ วันนี้ใช้เวลา 11-12 ชั่วโมง แต่ถ้าโครงการรถไฟทางคู่เสร็จก็จะลดลงไปอีก นอกจากทำทางคู่เพิ่มขึ้น ทางเดี่ยวยังเปลี่ยนรางรถไฟภาคเหนือ ตั้งแต่กรุงเทพฯถึงเชียงใหม่เปลี่ยนใหม่หมดและปรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่หมด ซึ่งก็ทำให้รถสามารถทำความเร็วขึ้นมาได้ และเป็นที่นิยมด้วย เพราะนั่งรถไฟได้บรรยากาศ ซึ่งจากนั้นก็ตามมาด้วยการพัฒนารถไฟทางคู่ แต่ถ้าจะให้เร็วขึ้นไปอีกคือ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 672 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง

แต่รถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูง ต้องกัดฟัน เพราะไม่งั้นทำไม่ได้ เพราะว่าโครงการขนาดนี้ไม่มีประเทศไหนทำกำไรใน 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปีก็ไม่ได้ ต้องเป็นโครงการ 50 ปี และต้องพัฒนาตัวสถานีที่เรียกว่า TOD ด้วย จะให้เช่าที่ดินในราคาถูกแบบในอดีตไม่ได้ เพราะเราต้องการเงินลงทุนสำหรับโครงการรถไฟ ที่ได้มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมาเป็นรายได้ให้กับการลงทุน จะทำให้เกิดผลตอบแทนและเกิดความคุ้มค่าที่เร็วขึ้น

ฉะนั้น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ล่าสุดได้ส่งมอบรายงานการศึกษาความเหมาะสมแล้ว ระยะทาง 672 กิโลเมตร วงเงินรวมที่ศึกษาโดย สนข. ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ไจก้าศึกษาไว้ประมาณ 5.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีแนะว่า อยากทำทีละสถานี มาแบ่งซอยช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ทยอยก่อสร้าง โดยทำจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯให้เป็นรูปธรรม แล้วค่อยทยอยเปิดสถานีต่อไป

เร่งแก้แออัดจราจร

ปัญหาความแออัดและปัญหาจราจรก็ได้วางแผนก่อสร้างศูนย์ขนถ่าย/ขนส่งสินค้าภูมิภาคทั้งหมด 10 กว่าแห่ง ในส่วนของรถไฟทางคู่ภาคเหนือ เส้นทางกรุงเทพฯ-ลพบุรี-ปากน้ำโพ ล่าสุด ครม.อนุมัติแล้ว ส่วนปากน้ำโพ-นครสวรรค์ อยู่ในแผนที่กำลังจะเสนอรัฐบาล แบ่งเป็นช่วง ปากน้ำโพ-เด่นชัย และเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กิโลเมตร ตั้งใจจะเสนอ ครม.ให้ทันเดือนมีนาคม 2561 และล่าสุด รัฐบาลนี้วางแผนไว้ 2 เส้นใหม่ คือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 300 กม. กับและบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ประมาณ 400 กม.

ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะ สนข.ศึกษาว่าควรจะเป็นระบบรางเบา จะนำเสนอคณะกรรมการ คจร. ในเดือนมกราคม 2561 มี 3 สายทาง แดง น้ำเงิน เขียว แต่ความยากในการออกแบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ ระบบค่อนข้างยาก เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีโบราณสถานจำนวนมาก

ส่วนการเชื่อมโลก เอาตลาดใหญ่ก่อน คือ จีน นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งขับรถเข้ามาทางเชียงราย และมาเที่ยวเชียงใหม่ อีกด้านหนึ่งเชื่อมกับเมียนมา ซึ่งมีข้อเรียกร้องอยากให้เปิดด่าน แต่ทางหลักจะเข้าทางเชียงราย เมื่อพูดถึงเชียงราย ไม่น่าจะทำมอเตอร์เวย์ เพราะลงทุนสูงและต้องมีด่านเก็บเงิน ผมคิดว่าน่าจะทำเป็นฟรีเวย์มากกว่า

ลุยสนามบินใหม่ที่ลำพูน

ส่วนสนามบิน สิ่งที่ช่วยกันคิดว่าเมื่อเชียงใหม่จะต้องรับนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน ตัวสนามบินปี 2561-2562 จะทำที่จอดรถ 1,000 คัน 1 แห่ง และปี 2562-2563 จะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ เพราะต้องย้ายอาคารคาโก้ออกไปก่อน และทำอาคารหลังใหม่ ซึ่งจะรองรับ 20 ล้านคน คาดว่ารองรับได้ถึงปี 2573 และจะแก้ปัญหาขยายช่องจราจรให้ได้ 6 ช่อง ระยะต่อไปจะทำแห่งที่ 2 ที่ลำพูน เพื่อรองรับให้ทันปี 2573 ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำเวลานี้ คือ ด้วยปริมาณที่เข้ามา การบริหารจัดการระบบการเดินทาง คือ การใช้แอปพลิเคชั่นในการวางแผนการเดินทาง ของทั้งนักท่องเที่ยวและคนไทยด้วยกัน เพราะปัญหาการเดินทาง คือ เชื่อมต่อไม่ได้ ดังนั้น นโยบายของรัฐบาล คือ ทุกสนามบินต้องมีรถบริการสาธารณะวิ่งเข้าเมือง ซึ่งมองว่าภาคเอกชนทำได้เร็วกว่าภาครัฐ เช่น ดอนเมือง ให้ ขสมก.มาบริการ สาย A1 A2 ซึ่งคนจีนนำไปใส่ไว้ในแอปพลิเคชั่นการเดินทางในกรุงเทพฯแล้ว


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตบท้ายว่า การเชื่อมต่อเป็นนโยบายที่สำคัญ การจราจรที่แออัดต้องบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี เรื่องกฎเทศบัญญัติที่พอจะออกมาได้ เช่น การจัดระเบียบจราจร ให้ลื่นไหลได้ง่าย ก็จะมีส่วนช่วยให้การจราจรเชียงใหม่คล่องตัวกว่าเดิม