รื้อผังเมืองบูม 10 อุตฯใหม่ สั่ง 76 จว. จัดพื้นที่รับนักลงทุน

แฟ้มภาพ

กระทรวงอุตสาหกรรมหารือมหาดไทย เร่งแก้ผังเมืองรวมเตรียมรับนักลงทุน นำร่องระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC แก้ข้อกำหนดเปิดทาง 10 อุตสาหกรรมใหม่ตั้งโรงงานกรมโยธาฯ นำร่องปลดล็อกพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ระยอง-แหลมฉบัง ปั้น “เมืองการศึกษา EECI-เมืองดิจิทัล EECD” พร้อมขยายผลรื้อผังเมืองทั่วประเทศรองรับ สั่ง “อุตสาหกรรมจังหวัด” สำรวจพื้นที่รับลงทุน S-Curve ทั้ง 76 จังหวัด

การติดปัญหาผังเมืองนอกจากจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แล้ว ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบไปถึงการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้แก่ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ-ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-ยานยนต์สมัยใหม่-การแพทย์ครบวงจร-อุตสาหกรรมดิจิทัล-การบินและโลจิสติกส์-หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม-เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการแปรรูปอาหาร 

โดยล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัด ทั้ง 76 แห่งจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve พร้อมหารือกระทรวงมหาดไทย เพื่อขจัดปัญหาในเรื่องผังเมืองให้กับนักลงทุน

หารือมหาดไทยปรับผังเมือง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระบุส่วนหนึ่งว่า พื้นที่ใดที่จะประกาศเป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” ในกรณีที่มีการกำหนดผังเมืองว่าด้วยกฎหมายผังเมืองอยู่ก่อนวันที่ประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใช้บังคับ และผังเมืองนั้นครอบคลุมเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษให้ผังเมืองดังกล่าว “สิ้นผลบังคับ” สำหรับพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

“พื้นที่ส่วนใดที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อใช้เป็นพื้นที่ลงทุนของ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) กระทรวงจะหารือกับมหาดไทย ให้พิจารณาปรับสีผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องนโยบายลงทุนรัฐบาลได้ประกาศไว้” นายอุตตมกล่าว

“คณิศ” กำหนดเขต S-Curve

สอดคล้องกับนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กล่าวว่าคณะกรรมการEEC ชุดเล็กเตรียมหารือกับ กรมโยธาธิการและผังเมือง หากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่จะต้องประกาศเป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” เพื่อวัตถุประสงค์ใช้ผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรม S-Curve จะขอกำหนดขอบเขตการใช้พื้นที่ดังจำนวนไม่มากนักหรือประมาณ 500 ไร่ จะขอให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ปรับสีเพื่ออนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานได้โดยไม่ติดพื้นที่สีเขียวของผังเมือง

ทำแผนรองรับ S-Curve

ด้านนายกัมปนาท รุ่งเรืองชัยศรี ผู้อำนวยการสำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ “อุตสาหกรรมจังหวัด” ทั้ง 76 แห่งจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับอุตสาหกรรม S-Curve ต้องไม่มีอุปสรรคในเรื่องของผังเมือง เช่นภูเก็ต จะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ผังเมืองไม่จำเป็นต้องจัดใหม่เพียงแต่ปรับสีใหม่หรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำเป็นต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมรองรับประมงและเกษตร จ.นครปฐมต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

พร้อมปรับปรุงผังเมืองรวม

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมได้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อออกแบบผังเมืองรวมในEEC 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ขณะนี้ได้บริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการในเรื่องผังเมืองแล้ว โดยจะเริ่มในดือนสิงหาคมนี้ จะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561

กรมโยธาธิการพร้อมจะดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวมที่ติดขัดอยู่ในขณะนี้ให้เอื้อต่อการพัฒนา EEC ที่ผ่านมาได้ปรับลดขั้นตอนการติดประกาศรับฟังผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่จากเดิม 90 วันเหลือ 30 วัน 

ล่าสุด คณะกรรมการ (บอร์ด) ผังเมืองใหญ่ ได้อนุมัติให้ “ยกเว้น” ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินใน 2 พื้นที่ที่อยู่ในเขตส่งเสริมนวัตกรรม EEC ใพัฒนาและลงทุนได้กล่าวคือ บริเวณวังจันทร์

วัลเลย์ จ.ระยอง ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่สีเขียวลาย (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) จะพัฒนาเป็น EECI หรือ เมืองการศึกษากับศูนย์ฝึกระดับชาติบริเวณแหลมฉบัง- ฉะเชิงเทรา อยู่ในพื้นที่สีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ) จะพัฒนาให้ป็น EECD เมืองดิจิทัล

ส่วนกรณีพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ EEC แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะขยายเขตนิคมอุตสาหกรรม นอกเหนือจากพื้นที่ปัจจุบันหากมีการหารือมา กรมโยธาธิการก็พร้อมจะพิจารณาให้ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่อยากจะมีการลงทุนก่อสร้างโรงงาน แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและเป็นโรงงานประเภทที่ไม่ก่อมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมของชุมชน และอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ 

พิมพ์เขียวเมืองนวัตกรรม-ดิจิทัล 

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ให้เช่าพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ของ บมจ.ปตท. และให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทเขตนวัตกรรม และศึกษาความเป็นไปได้เพื่อประกอบการพิจารณาประกาศเป็น เขตส่งเสริมนวัตกรรม EEC และได้รับอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา

อนุมัติแล้ว “วังจันทร์วัลเลย์”

โดยพื้นที่หลักจะตั้งอยู่บริเวณวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง มีพื้นที่รวมกว่า 3,000 ไร่ และพื้นที่แปลงที่ 2 อยู่บริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ประมาณ 120 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ๆ ละ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ได้แก่ ระยะที่ 1 อุตสาหกรรมเดิมเพิ่มความเข้มแข็ง ระยะที่ 2 อุตสาหกรรมทันสมัยมุ่งวิจัยพัฒนา ระยะที่ 3 ผลิตภัณฑ์ไทยก้าวไกล นวัตกรรมไทยก้าวหน้า และระยะที่ 4 เศรษฐกิจไทยรุ่งเรือง นวัตกรรมไทยเข้มแข็ง 

สำหรับพื้นที่ EECD หรือ เขตส่งเสริมอุตสหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ที่จะตั้งอยู่ ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ริมถนนสาย 331 แหลมฉบัง-ฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่กว่า 709 ไร่ กำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ซึ่งมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อระบบเคเบิลใยแก้วใต้น้ำไปยังต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน มีนักลงทุนเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve 6 กลุ่ม ได้แก่ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ, ซอฟต์แวร์และระบบอัตโนมัติ, บริการด้านดิจิทัล, อุปกรณ์และบริการสื่อสารข้อมูลและเนื้อหาดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งเขตส่งเสริมดังกล่าวกำหนดอัตราส่วนผลตอบแทนไว้ที่ 12.52% และมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 7 ปี 11 เดือน