สนข.ปักหมุด “บึงพระ” จ.พิษณุโลก ฮับโลจิสติกส์ภาคเหนือ ดึงเอกชนลงทุน2.5พันล้านยกระดับคมนาคมขนส่งไทยสู่อาเซียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการสัมมนานำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ ศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub)

เพื่อนำเสนอผลสรุปของโครงการ รูปแบบของ Logistics Hub ที่เหมาะสม ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ และแผนดำเนินการในระยะต่อไป ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชนร่วมงาน

นายเกรียงวิชญ์ เตชวิทยไวทิน ปลัดจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า เนื่องด้วยจังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่างเชื่อมโยงภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังอยู่ในแนวเส้นทาง North-South Economic Corridor (NSEC) East-West Economic Corridor (EWEC) สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้ ทำให้จังหวัดพิษณุโลกมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าการบริการในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน

ทางจังหวัดจึงได้ร่วมกับสนข.ศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้า จังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) เพื่อศึกษาศักยภาพการพัฒนาและปัจจัยที่จะเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลกเพื่อให้เป็น Logistics Hub อย่างแท้จริง

นางวิไลรัตน์ รอง ผอ.สนข.กล่าวว่า พิษณุโลก เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทยที่มีความพร้อมในด้านภูมิประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เป้าหมายต่อไปของการพัฒนาคือการเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ดังปรากฏในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2560-2579) คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้สัมฤทธิ์ผลและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ของประเทศไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์รวมถึงเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาด้วย

สำหรับผลการศึกษาความเหมาะสม พบว่าจังหวัดพิษณุโลกมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็น “เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ หรือ Freight Village” ผสมผสานกับ “ศูนย์การขนส่งและโลจิสติกส์ หรือ Transport Logistics Hub”

เนื่องจากเป็นเมืองที่มีระบบการขนส่งหลากหลายรูปแบบ และยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างภูมิภาคได้ โดยศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบด้านและพบว่าตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด

เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งที่มีในพื้นที่ไปยังศูนย์โลจิสติกส์ได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังใกล้แหล่งผลิตสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้มีปริมาณผู้เข้ามาใช้บริการศูนย์โลจิสติกส์เป็นจำนวนมาก

สำหรับพื้นที่ภายในของเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ได้มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมทางโลจิสติกส์หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ พื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน พื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าทางราง พื้นที่สำหรับให้หน่วยงานเอกชนเช่าเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ และพื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Zone)

นอกจากนี้ ภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะจัดให้มีการให้บริการด้านต่างๆ อย่างครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น การบริการสำหรับผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น บริการชานชาลาขนถ่ายสินค้า คลังสินค้า และลานวางกองสินค้า, บริการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งทางรางกับการขนส่งทางถนน การบริการสำหรับเจ้าของสินค้า เช่น บริการติดฉลากบรรจุภัณฑ์, บริการติดตามตรวจสอบสถานะสินค้า และบริการเขตปลอดภาษี การบริการสำหรับผู้เช่า/ซื้อพื้นที่ในศูนย์โลจิสติกส์ เช่น บริการสร้าง ซ่อม ต่อเติมคลังสินค้า ห้องเย็น และศูนย์กระจายสินค้า และการบริการสำหรับบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ในศูนย์โลจิสติกส์ เช่น อาคารที่พัก, ห้องประชุมสัมมนา, ศูนย์อาหาร และสถานีบริการน้ำมัน

ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำแผนการพัฒนา โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2565 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน และการก่อสร้างพื้นที่สำหรับให้หน่วยงานเอกชนเช่า

ระยะที่ 2 ปี 2570 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าทางราง ระยะที่ 3 ปี 2580 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Zone) คาดว่าใช้งบประมาณรวม 2,500 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) คิดเป็น 15 %

โดยมีแนวคิดที่จะให้เอกชนร่วมพัฒนาและบริหารจัดการ เพื่อให้การพัฒนาเกิดความคล่องตัว และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยหน่วยงานภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนในการร่วมมือกันขับเคลื่อน


ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลก จะกลายเป็นพื้นที่แรกของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีการพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ครบวงจรที่ได้มาตรฐานสากล ช่วยให้ของเศรษฐกิจในภาพรวมเกิดการขยายตัวมากขึ้นถึง 3,300 ล้านบาท และเกิดรายได้จากการจ้างงานถึง 1,400 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้า การลงทุน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ พร้อมขับเคลื่อนความเจริญเข้าสู่ท้องถิ่น และประเทศชาติ อันจะส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน