คสช.ปิดฉาก 3 มหากาพย์ “ทางคู่-ไฮสปีดจีน-เมล์ NGV” ฉลุย

“ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ที่รอมานาน “ประโยคสั้น ๆ ของเจ้ากระทรวงคมนาคม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” พลันที่ผลักดันรถไฟทางคู่ระยะแรก 5 เส้นทาง ให้เซ็นสัญญาก่อสร้างได้แบบฉิวเฉียดก่อนสิ้นปี 2560

เซ็นรวดเดียวกว่า9 หมื่นล้าน

สำหรับรถไฟทางคู่มีการอนุมัติในภาพรวมทั้งประเทศเมื่อปี 2536 กว่า 2,700 กม. และได้รับการผลักดันกันมาอย่างยาวนาน โดยวันที่ 27 พ.ค. 2551 ครม.อนุมัติให้ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย”

เริ่มสร้าง 5 เส้นทางเร่งด่วน 702 กม. มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กม. 2.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90 กม. 3.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กม.

4.ลพบุรี-ปากนํ้าโพ 148 กม. และ 5.นครปฐม-หัวหิน 165 กม.มาถึงรัฐบาลทหาร มีการเปิดประมูลแต่ต้องล้มกระดานใหม่ หลังมีข้อร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส กีดกันรายย่อยปล่อยให้รายใหญ่ฮุบเค้ก

ทำให้ “ร.ฟ.ท.” ต้องกลับมาเขย่าสัญญาใหม่ซอยจากเดิม 5 สัญญา เป็น 13 สัญญา วงเงินรวม 98,984 ล้านบาท ลดจากเดิม 101,748 ล้านบาท ประมาณ 2,764 ล้านบาท ประกอบด้วย งานโยธา 9 สัญญา อุโมงค์ 1 สัญญา และงานระบบ 3 สัญญา เพื่อเปิดทางให้รับเหมาไทย-เทศเข้าร่วมประมูลได้มากขึ้น

ผลประมูล 10 สัญญา ได้แก่ สายนครปฐม-หัวหิน 2 สัญญา มีช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล “บจ. เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964)” ได้งาน 8,198 ล้านบาท และช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ชนะประมูล 7,520 ล้านบาท สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ชนะประมูล 5,807 ล้านบาท ส่วนสายลพบุรี-ปากน้ำโพ มี 2 สัญญา งานช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม

“กิจการร่วมค้า UN-SH” ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน และ บจ. ซิโนไฮโดรฯ ได้งาน10,050 ล้านบาท เช่นเดียวกับช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ที่ บมจ.ยูนิคฯได้งานไปครอง 8,649 ล้านบาท สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร งานช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย “กิจการร่วมค้าเคเอส-ซี” ประกอบด้วย บจ. เค.เอส.ร่วมค้า และไชน่า เรลเวย์ฯ ได้งาน 6,465 ล้านบาท ส่วนช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร กิจการร่วมค้าเอสทีทีพี (บมจ.ซิโน-ไทยฯ-บจ.ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม) ได้งาน 5,992 ล้านบาท

สำหรับสายมาบกะเบา-จิระ งานช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร วงเงิน 7,560 ล้านบาท บมจ.อิตาเลียนไทยฯคว้างานแพ็กคู่กับงานอุโมงค์ 8 กม. ที่ผนึกกับ”บจ.ไรท์ทันเน็ลลิ่ง” ด้วยวงเงิน 9,290 ล้านบาท ทั้ง 5 สายจะตอกเข็มต้นแรกภายในไตรมาสแรกของปี 2561

แม้ว่าจะเคลียร์ฉลุยบางส่วนแล้วเสร็จ แต่ยังมีงานที่ตกค้างอยู่ที่ “อาคม” ต้องประมูลให้จบปีหน้า เป็นงานช่วง “สีคิ้ว-จิระ” มีปรับแบบให้เป็นทางยกระดับ 7 กม. วงเงิน 10,466 ล้านบาท หลังคนโคราชไม่ต้องการให้สร้างผ่ากลางเมือง ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องรื้อแบบช่วงนี้ใหม่

นอกจากนี้ ยังมีงานระบบอาณัติสัญญาณ 3 สัญญาต้องเร่งเครื่องไม่แพ้กัน แยกเป็นสายเหนือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ 145 กม. วงเงิน 2,988 ล้านบาท

สายใต้ตลอดเส้นทางจากนครปฐม-ชุมพร 421 กม. จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 7,384 ล้านบาท และสายตะวันออกเฉียงเหนือช่วงมาบกะเบา-จิระ 128 กม. วงเงิน 2,549 ล้านบาท จะทยอยประกวดราคาต่อไป โดยจะทยอยเปิดบริการเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563 จนครบในปี 2564

คิกออฟไฮสปีดเทรนสายแรก

“รถไฟความเร็วสูง” เป็นอีกโครงการที่ใช้เวลาผลักดันมานานและหลายรัฐบาล จนมาได้เริ่มต้นในรัฐบาลปัจจุบัน ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ที่มีการเซ็นบันทึกความเข้าใจร่วมกันเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ใช้เวลาร่วม 3 ปีในการเจรจา ออกแบบรายละเอียด จนมาสำเร็จวันที่ 21 ธ.ค. 2560 เริ่มต้นงานคันดิน 3.5 กม.

จากกลางดง-ปางอโศก วงเงิน 425 ล้านบาท เป็นจุดเริ่มต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย

งานนี้ “ร.ฟ.ท.” จ้าง “กรมทางหลวง” เป็นผู้เนรมิตโครงการให้เสร็จ กลางปี 2561 จากนั้นจะทยอยสร้างส่วนที่เหลือ จะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี แต่ด้วยเป็นรถไฟระบบใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อนจึงต้องใช้เวลาทดสอบระบบ คาดว่าจะเปิดบริการได้ปี 2566

พร้อมกับขยายเส้นทางให้ไปถึงหนองคาย เชื่อมกับรถไฟลาว-จีนที่เวียงจันทน์ หากสำเร็จได้ดังหวัง จะเป็นรถไฟเชื่อมความสัมพันธ์การค้า และท่องเที่ยว 3 ประเทศ “ไทย-ลาว-จีน”

ล้างอาถรรพ์รถเมล์ NGV

“รถเมล์ NGV” นับเป็นโครงการค้างฟ้าบนบ่าของคมนาคมที่ใช้เวลาผลักดันกันมาร่วม 11 ปี ตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยไหลมาเพื่อไทย จนมาถึง “รัฐบาล คสช.” ที่ชำแหละโครงการจาก 3,183 คัน วงเงิน 13,216 ล้านบาท ประเดิมจัดซื้อ 489 คันแรกเป็นการนำร่อง ถึงจะล้มประมูลอยู่หลายครั้ง แต่ก็มาหยุดสุดท้ายที่ครั้งที่ 8 หลังกิจการร่วมค้า SCN-CHO ประกอบด้วย บมจ.สแกนอินเตอร์ และ บมจ.ช ทวี ชนะประมูลได้ด้วยวงเงิน 4,260 ล้านบาท สูงกว่าราคาอยู่ 5-6% จนเซ็นสัญญากันเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ 27 ธ.ค. 2560

หากไม่มีคลื่นแทรกจนทำให้โปรเจ็กต์รวน จะส่งมอบรถ 100 คันแรกภายในเดือน มี.ค. 2561 ออกวิ่งบริการก่อนวันเปิดเทอม ส่วนที่เหลือจะทยอยตามมาจนครบทั้งหมด


หวังว่าจะไม่ซ้ำรอยโครงการติดตั้งระบบ e-Ticket พ่วงเครื่องเก็บค่าโดยสารหยอดเหรียญ (cash box) บนรถเมล์ 2,600 คัน ที่ ขสมก.ลงทุนไปจ้าง “ช ทวี” 1,665 ล้านบาท เมื่อถึงกำหนดของมาไม่ครบ แถมยังไม่พร้อมใช้งาน