“สมคิด” เซ็นปิดดีลทางคู่ 6.9 หมื่นล้าน ต้นปีหน้าโหมสร้างเหนือจดใต้ 702 กม.

“สมคิด” เซ็นปิดดีลทางคู่ 6.9 หมื่นล้าน ต้นปีหน้าโหมสร้างเหนือจดใต้ 702 กม. ขอเอกชนกล้าๆ ลงทุนโค้งสุดท้ายรัฐบาลคสช.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2560 การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้เซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทางกับบริษัทผู้รับเหมาทั้ง 9 สัญญา รวมระยะทาง 702 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 69,531 ล้านบาท
 
ประกอบด้วย1. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 สัญญาก่อสร้างใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน สัญญา1ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม วงเงิน 10,050ล้านบาทและสัญญา2ท่าแค-ปากน้ำโพ วงเงิน8,649ล้านบาท มีกิจการร่วมค้ายูเอ็น-เอสเอช(บมจ.ยูนิคเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น)ก่อสร้าง
 
2.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 136 กิโลเมตร มี 2 สัญญาก่อสร้าง ใช้เวลาดำเนินการ 48 เดือน ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร วงเงิน 7,560ล้านบาทและสัญญา3งานอุโมงค์ วงเงิน9,290ล้านบาท มีบมจ.อิตาเลียนไทยดีเวลลอปเมนต์และกิจการร่วมค้าไอทีดี-อาร์ทีเป็นผู้ก่อสร้าง
 
3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร มี 2 สัญญาก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน สัญญา1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล วงเงิน8,198ล้านบาทและสัญญา2ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน วงเงิน 7,520 ล้านบาทมีบจ.เอเอส แอสโซซิเอทเอนยิเนียริ่ง1964 และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯเป็นผู้ก่อสร้าง
 
4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร มี 2 สัญญา วงเงิน 5,807 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน มีบมจ.อิตาเลียนไทยฯก่อสร้าง
 
และ5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 168 กิโลเมตร มี 2 สัญญา ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน งานสัญญาที่1ช่วงประจวบ-บางสะพานน้อย วงเงิน 6,465 ล้านบาทและสัญญาที่2ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร วงเงิน 5,992ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเคเอส-ซีและกิจการร่วมค้าเอสทีทีพี เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
 
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมและรักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถไฟทางคู่กำลังก่อสร้าง2โครงการได้แก่ สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอยและสายจอนะ-ขอนแก่น
 
และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั้ง 9 สัญญา ในครั้งนี้ มีมูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น รวม 69,531 ล้านบาท และหากการดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทางแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 995 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 24.6% ของเส้นทางรถไฟทั้งประเทศ
 
 
ซึ่งสามารถพลิกโฉมการขนส่งทางรถไฟได้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้มีความจุของทางรถไฟเพิ่ม สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2เท่าตัว มีความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มความรวดเร็วและความตรงต่อเวลา ในการเดินขบวนรถไฟได้อีกด้วย
 
ทั้งนี้การรถไฟฯมีโครงการที่จะพัฒนาทางคู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมพื้นฐานอื่น ๆ เน้นการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟโดยใช้แนวทางการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) ช่วยเพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถไฟ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญจะเป็นการลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ภายหลังจากการลงนามแล้ว การรถไฟฯ จะให้ผู้รับจ้างเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 ให้แล้วเสร็จตามแผนภายในปลายปี 2565
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เมื่อรถไฟทางคู่แล้วเสร็จจะช่วยเรื่องระบบโลจิสติกส์ของประเทศในการลดต้นทุนการขนส่งเนื่องจากเมื่อรถไฟสะดวกรวดเร็วขึ้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนโหมดขนส่งจากทางถนนมาสู่ทางรางมากขึ้น
 
“ทางคู่นอกจากช่วยลดต้นทุนขนส่ง ยังจะแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟเพิ่มความปลอดภัยทางรถไฟ ลดอุบัติเหตุข้ามทางรถไฟ ที่สำคัญคือความตรงต่อเวลาจะมีมากขึ้นใช้เวลาเดินทางไม่เกิน10ชั่วโมง”
 
ทั้งนี้ในปี2561 กระทรวงจะเสนอคณะรัฐมนตรีพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่2อีก9เส้นทาง เป็นทางคู่สายใหม่2เส้นทางที่รอกันมานาน40-50ปี ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและบ้านไผ่-นครพนม จะมาเติมให้โครงข่ายรถไฟสมบูรณ์มากขึ้น
 
 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเซ็นสัญญารถไฟทางคู่ครั้งนี้จะเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของประเทศในการเปลี่ยนโหมดการคมนาคมครั้งใหญ่ จากเดิมมีแค่ถนนและการบินจะมาสู่ทางรางมากขึ้น การที่พัฒนาเส้นทางรถไฟได้ช้าอาจจะเป็นเพราะองค์กรอ่อนแอยังไม่ได้รับการซัพพอร์ตจากรัฐ ต่อจากนี้ก็ขอให้เดินหน้าเต็มที่รับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
 
“รถไฟเป็นโหมดใหญ่ เปลี่ยนโฉมของคมนาคมไทยนอกจากเน้นเส้นทางใหญ่ ต้องมีสายย่อยให้เน้นเชื่อมเมืองรองด้วย จะเกิดการเชื่อมโยงคน สินค้า ท่องเที่ยว บทบาทต่อไปรถไฟจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รถไฟ ท่าเรือ เครื่องบินมาทบทวนว่าโครงการไหนควรทำก่อนหลังเพื่อให้เชื่อมโยงกันได้ครบโหมดอีก4-5ปีจะเห็นอะไรใหม่ๆ”
 
ขณะที่เอกชนถ้าทำได้ให้มาช่วยทำ โครงการไหนไม่ทำก็เป็นภาระของรัฐ ขอบคุณภาคเอกชนมาลงทุน ขอให้ลงทุนเยอะๆ กล้าๆลงทุน ถ้าไม่ลงทุนคนอื่นจะมาลงทุนแทน
 
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบมจ.อิตาเลียนไทยฯ ในฐานะผู้แทนผู้รับเหมากล่าวว่าจะเริ่มสร้างตั้งแต่ต่นปี2561 และมั่นใจว่าจะก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยทยอยเปิดใช้ปี2563-2564เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้การเชื่อมต่อรถไฟทางคู่สู่ภูมิภาคได้สะดวกรวดเร็วขึ้นและลดต้นทุนการขนส่งของประเทศในอนาคต