STRONGER BANGKOK พลัง กทม.-เอกชนเจียระไนกรุงเทพฯ

สัมมนา

 

เวทีสัมมนาแห่งปีหัวข้อ “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 โดยมี “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ขึ้นเวทีเสวนาหัวข้อ “Stronger Bangkok : Stronger Thailand” โดยมี “สรกล อดุลยานนท์” คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดังเป็นผู้ดำเนินรายการ มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

Q : 1 เดือนแรกของผู้ว่าฯชัชชาติ คิดว่าเห็นอะไรบ้าง พึงพอใจแค่ไหน

เศรษฐา-ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ แล้วก็ดีใจครับ คะแนนที่ท่านได้มาเป็นฉันทามติจากชาว กทม.ทุกท่าน ในช่วงเดือน (มิถุนายน) ที่ผ่านมา ผมว่าในแง่ของความคาดหวัง ในแง่ของความประทับใจ คงไม่ต้องพูดถึง ไม่ว่าเรื่องของการติดตาม เรื่องของการที่ท่านแสดงออก ตื่นเช้าไปทำงานอย่างหนักหามรุ่งหามค่ำ ก็มีความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของท่าน 1 เดือนเหมือนคนทำมา 1 ปี เป็นอะไรที่เหนือความคาดหวัง

แล้วก็เป็นอะไรที่ชาว กทม.โหยหา แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราทุกคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ อาจจะหมดหวัง ท่านผู้ว่าฯเป็นนิมิตหมายใหม่อันดีของพวกเรา

Q : ท่านผู้ว่าฯครับ เหนื่อยไหมครับ

ชัชชาติ-ไม่เหนื่อยครับ ชาวบ้านเหนื่อยกว่าเราเยอะ เห็นผมทำงานหนักตื่นเช้า ชาวบ้านตื่นก่อนแล้ว ก่อนจะมาที่งานสัมมนา (ช่วงเช้า) แวะไปบ่อนไก่ก่อนเพราะยังเป็นห่วงอยู่ เมื่อวาน (21 มิถุนายน) มีไฟไหม้ที่บ่อนไก่ มีชาวบ้านอีก 109 คนที่อยู่ในศูนย์พักพิง นักเรียนอีกหลายคนที่ไปโรงเรียนไม่ได้เพราะมีชุดนักเรียนไฟใหม้หมดแล้วก็ใส่ชุดเก่าอยู่ ยังไม่ได้อาบน้ำเลย

ความจริงแล้วผมก็ไม่ทำงานหนักกว่าพี่น้องประชาชนนะ คนกรุงเทพฯตอนนี้ผมว่าหลายคนหนักกว่าเราอีกเยอะเลย เขาตื่นก่อนเรา เขานอนหลังเรา เขายังไม่รู้เลยว่ามื้อต่อไปจะกินข้าวอะไร อนาคตยังไม่รู้เลย มีคนอื่นที่หนักกว่าเรา ก็ต้องทำเต็มที่เพื่อพยายามแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร

Q : ตอนหาเสียงเคยบอกว่า กทม.มีปัญหา 3 เรื่อง คือ คุณภาพเมือง ประสิทธิภาพเมือง แล้วก็เมืองไร้โอกาส

ชัชชาติ-จริง ๆ แล้วถามว่าหน้าที่ กทม. คืออะไร มานั่งคิดดูแล้วมีแค่ 3 เรื่อง 1.เราดูแลคุณภาพชีวิต ดูแลน้ำเสีย น้ำท่วม ขยะ ฝุ่นพิษ มลพิษต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของเราโดยตรง และสิ่งแรกที่ผมขึ้นไปดูคือเรื่องนี้ คืองานรูทีนแหละ งานที่ไม่มีคนอื่นทำแทนเรา (กทม.)

2.การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง หรือ productivity เพราะ กทม.เป็นผู้ถือกฎหมาย ถือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ผ่านมาผมว่า กทม. บางครั้งเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำต่อการทำธุรกิจ หน้าที่เราคือทำยังไงเพื่อให้เมืองมีประสิทธิภาพขึ้น ลดขั้นตอนการปฏิบัติและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน

3.เรื่องการสร้างโอกาสเพราะในเมืองมีทั้งคนที่มีรายได้เยอะกับมีรายได้น้อย มันก็จะมีคนที่ขาดโอกาส เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ หน้าที่ กทม. ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือเป็นคนเกลี่ยความเหลื่อมล้ำตรงนี้ เอาจากคนที่มีเยอะมาเฉลี่ยให้คนที่มีน้อย ต้องสร้างพื้นฐานเรื่องสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชน

มันคือ 3 หน้าที่หลัก ถ้าไม่เกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้ อย่าไปทำ ที่ผ่านมาบางทีเราเอางบประมาณไปลงกับเรื่องที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้ ถ้าเราดู กทม. ไม่ได้มีหน้าที่สร้างเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ถามว่านิยามของเมืองคืออะไร ผมชอบคำนิยาม Alain Bertaud นักวิชาการผังเมืองฝรั่งเศสบอกว่า เมืองคือ labor market หรือตลาดแรงงาน

ถามว่าเรามารวมในกรุงเทพฯเพราะอะไร เพราะกรุงเทพฯมีงาน ถูกไหม ถ้ากรุงเทพฯไม่มีงาน ก็ไม่ต้องอยู่หรอก ต่างคนก็ต่างไป หัวใจคืองาน ถามว่าใครสร้างงาน ไม่ใช่ กทม. ราชการก็ไม่ได้สร้างงานเยอะ คนที่สร้างเมืองจริง ๆ คือเอกชน ก็ต้องสร้างงานที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดเศรษฐกิจขึ้น กทม.ต้องร่วมมืออย่างแข็งขันกับภาคเอกชนที่จะช่วยกันสร้างเมืองนี้ไปในอนาคต จะเห็นได้ว่าช่วง 15 วันแรก เราเดินสายพบเอกชนตลอด พบสภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้า พบหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผมคิดว่า กทม.เองคนเดียวไม่สามารถสร้างเมืองที่มีคุณภาพได้ ต้องร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ บทบาท กทม.คือคนที่ต้องมาประสาน ต้องอำนวยความสะดวกเพิ่ม productivity ให้ทุกคนสามารถสร้างงาน สร้างเมืองที่มีคุณภาพได้ สิ่งที่ดีใจเรื่องหนึ่ง ข้าราชการ กทม.ปรับตัวได้เร็วดีนะครับ มีคนเก่ง ๆ เยอะ คนที่ตั้งใจทำงาน จริง ๆ แล้วเขาก็สามารถรับลูกต่อโดยเร็ว

Q : มีการใช้แอปแทรฟฟี่ ฟองดู บายพาสให้ประชาชนร้องเรียนทางตรง

ชัชชาติ-Traffy Fondue เป็นแอปที่ สวทช.ทำมานาน ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ ตอนนี้มีเทศบาลอุบลราชธานีที่ทำได้ดี จริง ๆ แล้วเป็น platform revolution หรือการปฏิวัติของแพลตฟอร์ม ภาคธุรกิจทำไปนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอูเบอร์ แกร็บ

คำว่าแพลตฟอร์มคืออะไร แต่ก่อนธุรกิจมันจะเป็นระบบ pipe line คุณมีเรื่องร้องเรียนที่ผู้ว่าฯ ทางผู้ว่าฯ สั่งรองผู้ว่า รองผู้ว่าฯ สั่งปลัด ปลัดบอกรองปลัด รองปลัดบอกสำนัก สำนักบอกเจ้าหน้าที่ ก็จะมีท่อที่เชื่อมโยงระหว่างปัญหากับผู้แก้ ถ้าใครเส้นใหญ่ก็ท่อใหญ่ เส้นใหญ่ก็ท่อดีโผล่พรวดเดียวถึง แก้ปัญหาเลย ส่วนคนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีเส้นไม่มีท่อ ก็ตีบอยู่นั่นแหละ ตีบอยู่ที่ห้องผู้ว่าฯ ไม่ไปไหน ระบบไปป์ไลน์ทุกคนก็อยากมีท่อของตัวเอง พยายามหาคอนเน็กชั่น ขึ้นอยู่กับว่าใครมีท่อที่เชื่อมโยงได้ แล้วคนก็อยากรักษาท่อนี้ไว้

แต่พอเป็นแพลตฟอร์ม คือไม่มีท่อ มันเป็นเหมือนกระดานใหญ่ ๆ ใครมีเรื่องก็โยนเรื่องมาที่แพลตฟอร์ม ไม่มีท่อแล้ว โยนเรื่องร้องเรียนลงไปปุ๊บ คนที่จะให้บริการเรา เขาเห็นดีมานด์อยู่ในแพลตฟอร์มก็หยิบเลย เอาไปแก้ปัญหาเลย ไม่ต้องมีไปป์ไลน์ อันนี้คือแนวคิดเอกชนทำมาเป็นสิบปีแล้ว แต่พอนำมาใช้ระบบราชการปุ๊บ เราก็โยนให้ประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนมาที่ platform เช่น ฟุตปาทตรงนี้ พิกัดนี้ จีพีเอสนี้ มีปัญหาปุ๊บก็รู้ว่าเขตไหน ผู้ว่าฯไม่ต้องสั่งการแล้ว ผอ.เขตเห็นเรื่องปุ๊บ ล้วงลูกจากแพลตฟอร์มไปแก้ได้เลย

Q : เพราะเขา (ผอ.เขต) รู้ว่าท่านผู้ว่าฯมองเห็นอยู่

ชัชชาติ-ใช่ เขารู้ว่า “ประชาชน” มองเห็นอยู่ แล้วก็รู้เลยว่าเรื่องนี้มันค้างอยู่บนแพลตฟอร์มนานเท่าไหร่แล้ว ทำให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้น ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง และสุดท้ายทุกคนก็ตื่นตัวนะ สังเกตว่าผมไม่ต้องสั่งการเลยนะ วันแรกที่เราเข้ามารับตำแหน่ง มีคนแจ้งปัญหาร้องเรียน 2 หมื่นเรื่อง เว็บล่มเลยครับ เพราะไม่เคยคิดเลยว่าจะมีคนแจ้งเยอะขนาดนี้

ปัจจุบันมีคนแจ้งมาเกือบ 4 หมื่นเรื่องแล้ว ได้รับรายงานว่าแก้ไขได้มากกว่า 10% มี 5,000 เรื่องที่แก้ไขโดยผมไม่ต้องออกคำสั่งเลย แล้วข้าราชการทุกคนก็แข่งกัน เข้ามาเอาเรื่องไป แล้วมันลึกคือเราเห็นเลยว่าเขตนี้รับเรื่องไป สั่งใครต่อ ให้ฝ่ายนี้ ฝ่ายนี้รู้อีกว่าค้างกี่วัน รู้ว่าฝ่ายนี้สั่งให้คนนี้ คนนี้ค้างกี่วัน สามารถวัดเคพีไอที่ลงไปลึกเลย นี่คือสิ่งที่บอกว่าเป็นการปฏิวัติ ซึ่งไม่ค่อยอยากใช้คำนี้นะ แต่โอเค ปฏิวัติก็ปฏิวัติ เป็นการปฏิวัติระบบราชการ

ตอนแรกสำนักงานเขตก็มีคนที่ต่อต้าน คนที่ไม่คุ้น บอกว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องรับผิดชอบของเรา เขตทำไม่ได้หรอกเรื่องนี้ กลายเป็นเสียเคพีไอ เช่น เรื่องไฟดับ บอกว่าให้ไฟฟ้านครหลวงมาซ่อม น้ำประปารั่ว ถนนไม่เรียบ เป็นงานของคนอื่นไง เขตมองเป็นเรื่องคนอื่นเอามาให้รับผิดชอบ ก็จะแบบมีฉุนเฉียวนิดหน่อย เราก็บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องกังวล เห็นปัญหาดีแล้ว อันไหนที่คุณไม่ได้รับผิดชอบ คุณก็ชี้แจงประชาชนไป แต่ว่าอย่าตอบว่าผมไม่ต้องรับผิดชอบ อย่าตอบแบบนั้น บอก (ประชาชน) ว่ากำลังประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้

ถามว่า platform มันดียังไง มันทลายไซโล แต่ก่อนเนี่ยทุกคนเป็นไซโล กล่าวคือเหมือนเป็นถัง เขตนี้เป็นถังหนึ่ง เขตนี้เป็นถังหนึ่ง สำนักนี้ก็เป็นอีกถังหนึ่ง platform นี้ทะลวงไซโล ตอนนี้จะทะลวงมากกว่านั้น จะทะลวงนอก กทม. ไปที่การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ตำรวจ

เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนต้องส่งหน่วยงานมาร่วมกับเรา เพื่อให้ไซโลมันถูกทะลวง แล้วก็แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าไปล้วงให้หมดเลย แค่ 2 สัปดาห์ ถามว่าใช้เงินไหม ไม่ได้ใช้เงินสักบาทเลย ไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มเลย แต่ว่าผลงานเร็วขึ้น งบประมาณซ่อมใช้มากขึ้นไหม ไม่ได้ใช้มากขึ้นแต่เร็วขึ้น เงินค่าซ่อมใช้เวลา 2 เดือนในการซ่อม ใช้เวลา 1 วันในการซ้อม นี่ก็พยายามปรับปรุง เป็นรูปแบบที่มันเปลี่ยนแปลงไป

ผมว่าพลังอนาคตจะทำให้แพลตฟอร์มทลายระบบราชการ หรืออย่างที่ผมทำก็คือ 216 นโยบาย เราใส่ในแพลตฟอร์มตั้งแต่ก่อนได้รับตำแหน่งอีก ทำให้ 216 นโยบายทุกคนเห็นแล้ว พอเราเลือกตั้งปุ๊บยังไม่ต้องได้รับคอนเฟิร์ม กกต. ทางสำนักงานเขตก็รับนโยบายที่อยู่ในแพลตฟอร์มไปทำแล้ว เขตที่สามารถมีความกระตือรือร้นหน่อย แอ็กทีฟหน่อย อย่างเรื่องแจกผ้าอนามัยให้เด็กอยู่บนแพลตฟอร์ม ทุกคนเห็น คนไหนทำได้ก็เอาไปทำเลย ไม่ต้องสั่ง ผมว่ามันมีพลังในการเปลี่ยน mindset ของราชการได้ครับ

Q : เอกชนมองภาพยังไงกับการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้

เศรษฐา-ผมว่ามันเป็นบริบทในการทำงานใหม่ที่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติพูดถึงเรื่องแพลตฟอร์ม นำปัญหาเข้ามาให้ทุกคนมองเห็น เรื่องของการวัด KPI ที่ชัดเจน โดยที่จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเท่าไร เพียงแต่ใช้ประสิทธิภาพของคนให้มีความกระตือรือร้น อันนี้ไม่ได้อวยกันนะครับ มันเป็นเรื่องของภาวะผู้นำซึ่งสำคัญ Lead by Example ตื่นเช้าไปทำงานตี 4 ตี 5 ไปลงพื้นที่จริง ๆ เข้าใจปัญหาจริง ๆ ของประชาชน มีการตรวจสอบ ตรวจวัด อย่างชัดเจน เป็นนิมิตหมายอันดี ไม่ใช่แค่ประชาชนที่มีความหวัง แต่ข้าราชการที่มีความสามารถ คนที่มีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาของประชาชนจริง ๆ

ท่านผู้ว่าฯพูดเรื่องของการทำงานบนถังไซโล ผมชอบพูดคำนี้ อธิบายให้ฟังตลอดเวลาทำไมถึงทำไม่ได้ เป็นหน้าที่ของการประปา เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้านครหลวง การที่ทลายไซโล การที่ทำงานร่วมกัน มันเป็นอะไรที่ทำให้ทุกคนมีความหวัง

Q : ปัญหาเรื่องงบประมาณ จะเริ่มทำ Open Data มากขึ้น

ชัชชาติ-ตอนนี้ทำร่างงบประมาณปี 2566 เราเข้าไป เขา (กทม.) ก็ทำเสร็จแล้ว เราก็ไม่มีเวลาแก้หรอกนะ เราก็มาตัดกรอบ โอเพ่นดาต้าเราขึ้นออนไลน์ไปแล้วนะครับ เป็นมิติใหม่ เข้าใจว่าคงเคยมีคนเอาขึ้นมาแล้วล่ะ แต่ว่าเราเอาขึ้นทั้งหมดเป็น excel ทุกอัน งบประมาณมี 79,000 ล้านบาท งบฯลงทุนใหม่มี 1.6 พันล้านบาท ซึ่งงบฯลงทุนเป็นงบฯผูกพันไปเยอะ 1.4 หมื่นล้านบาท

จริง ๆ ก็เป็นปัญหา คือเราไม่สามารถเริ่มโครงการใหม่ได้ เพราะรูปแบบงบฯ กทม. เราจะเห็นงบฯผูกพันเยอะ งบฯผูกพันคือมีโครงการต่อเนื่องหลายปี ปีแรกอาจจะเสนองบฯแค่ล้านเดียว แล้วไปป่องเป็น 100 ล้าน 1,000 ล้านทีหลัง มันเป็นการจองทุกอย่างที่ปีนี้อาจจะมีงบฯลงทุนผูกพัน 1 หมื่นกว่าล้าน แต่ปีหน้ามีงบฯผูกพัน 2 หมื่นกว่าล้านที่ถูกจองไว้แล้ว อันนี้ก็ต้องเป็นปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นรูปแบบการทำงาน

จุดที่น่าสนใจ การจัดทำงบประมาณปี 2566 ตั้งไว้ 79,000 ล้าน ต้องไปตั้งวงเงิน 5,000 ล้าน สำหรับจ่ายหนี้เงินที่ใช้เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว ถือว่าปีงบประมาณ 2564 เงินสดไม่พอก็สามารถไปยืมเงิน ขอเงินที่เหลือของ กทม.มาใช้ก่อนได้ แต่ต้องมาตั้งงบฯจ่ายคืนอีก 2 ปีข้างหน้า สรุปคืองบประมาณ 79,000 ล้าน กลายเป็นเงินที่ใช้ในอดีตที่ต้องคืนหนี้ 5,000 ล้าน รูปแบบนี้มันทำให้การบริหารจัดการก็แปลก ๆ เหมือนกันนะ

แล้วก็มีหลายเรื่องที่ต้องนำไปปรับปรุง งบฯบุคลากรก็เยอะ เกือบ 40% งบฯลงทุนมีไม่มาก เป็นหนึ่งในประเด็นที่ค่อยมาดู แล้วก็ในอนาคตต้องค่อย ๆ ปรับปรุงไป

Q : เอกชนมีมุมมองเรื่องงบประมาณอย่างไร

เศรษฐา-ผมว่าเราต้องเป็นคนที่ realistic นะครับ เพราะเป็นงบฯที่ถูกจัดสรรมาแล้วนะครับ งบฯที่มีน้อยทำให้ท่านมี efficientive ได้ไม่หลากหลาย แต่ผมว่าหลาย ๆ อย่างที่ท่านผู้ว่าฯทำมา 1 เดือน ล่าสุดก็ได้ยินข่าวเรื่องการเอาสายไฟลงใต้ดิน ซึ่งต้องการงบประมาณสูง ต้องมีการขุด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนง่าย ๆ คือเอาสายที่ไม่ใช้ออก ซึ่งไม่ใช้งบประมาณอะไร และทำให้กรุงเทพฯน่าอยู่ขึ้น อาศัยการดูแลสอดส่องเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่อยู่ปัจจุบัน การประสานงานการไฟฟ้านครหลวงอะไรหลาย ๆ แบบเนี่ย ผมเชื่อว่า งบประมาณไม่ใช่ข้ออ้างในการที่จะไม่ทำนะครับ

แต่ว่ารู้อยู่แล้วว่าเรามาในตอนมิดเทอม ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ ความตั้งใจจริง แล้วก็เรื่องของการแก้ไขปัญหาไม่ต้องการใช้เงินตลอดเวลาหรอก อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอะไรที่หลาย ๆ รัฐบาล หลาย ๆ หน่วยงานมีความเกรงใจและเกรงกลัว ก็คือบางทีไม่ค่อยมีการหารือกับภาคเอกชน อันนี้ผมว่าสำคัญ เอกชนไทยแข็งแกร่งเหลือเกิน เขาเองก็ได้ benefit เยอะเหลือเกินจากการที่… สมมติในบริบทของ กทม. ถ้า กทม.เป็นเมืองที่ดีขึ้น เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้น ทุกอย่างดีขึ้นหมด ผมว่าเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือ เขาพร้อมที่จะเข้าพบนะครับ

แล้วก็บอกท่านผู้ว่าฯชัชชาติไว้เลยว่า ไม่ต้องกลัวถ้าเกิดเอกชนเข้ามาพบ เข้ามา offer การช่วยเหลือแล้วจะเป็นบุญคุณต้องไปตอบแทน เพราะสิ่งที่เขาจะมาขอภายหลัง ถ้าเกิดมันทำไม่ได้หรือมันไม่เหมาะสมไม่ถูกต้อง ก็ตอบว่าทำไม่ได้ ไม่ต้องเกรงใจนะครับ และไม่ใช่เอกชนทุกรายที่หวังผลตอบแทนจากการได้ทำตรงนี้ ผลตอบแทนที่เขาได้ ถ้า กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ขึ้น เป็นเมืองที่ดีขึ้น ธุรกิจหรือรายได้ก็ดีขึ้น ผมว่าใช้เอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน ช่วยขับเคลื่อน ช่วยลดภาระงบประมาณ ก็ใช้ได้

มีการคุยเรื่องขอใช้พื้นที่ ผลพลอยได้จากเศรษฐกิจไม่ดี เรา (แสนสิริ) สร้างคอนโดฯไม่ได้ ในตอนนี้ก็นำแลนด์แบงก์มาทำอย่างอื่น เราก็ทำแล้วเรื่องของ plant based ร่วมกับ ปตท. ร่วมกับบริษัท NRF ผมมีที่อยู่หลายแปลง ทำลานกีฬา ทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ผมตุนที่ไว้เยอะ เศรษฐกิจไม่ดีเราก็ไม่อยากปล่อยที่ไว้เฉย ๆ อันนี้เราก็พร้อมที่จะมาคุย พร้อมที่จะมาให้ความช่วยเหลือเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของทาง กทม.ดีขึ้น

Q : ผู้ว่าฯทำแล้วโดดเด่นชัดเจนคือไลฟ์การทำงาน มีคนบอกว่า พี.อาร์.มากเกินไปหรือเปล่า

เศรษฐา-ผมมองในแง่บวกว่าเป็นการสื่อสาร เป็นการให้ประชาชนที่เลือกท่านมารู้ว่าทำอะไรบ้าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องผลงานที่ต้องออกมา ซึ่งในสภาวะที่งบประมาณมีน้อย ในภาวะที่ทุกคนลำบาก แล้วก็มีความคาดหวังสูง เพราะ 1.4 ล้านเสียง เป็นอะไรที่เยอะมาก มันมาพร้อมกับความคาดหวัง

จากการที่เห็นท่านผู้ว่าฯทำมา 1 เดือน ผมก็โล่งใจแทนท่านนะ ท่านจัดการเรื่องที่สามารถทำไปก่อนเลยไม่ต้องรองบประมาณ อย่างเช่น สายไฟ ดนตรีในสวน เปรียบเหมือนผลไม้อยู่ต่ำ ๆ ก็เด็ดกินก่อนแล้วกัน ไม่ต้องปีนไปเด็ดสูง ๆ อย่างเช่น สายสีเขียว ต้องปีนขึ้นไปแก้ไข เหนื่อยนะครับเหนื่อย เอาเรื่องง่าย ๆ ก่อน ให้คนเขาได้เข้าใจได้ว่ามีความตั้งใจจริง

ชัชชาติ-เราต้องทำ 2 อย่างนะ เก็บของง่าย ๆ ด้วย แล้วก็สร้างกระไดด้วย (แก้ปัญหาเรื่องยาก เช่น ทบทวนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ก็จะมีทีมงานเบื้องหลังที่ทำกระไดอยู่ ก็พยายามเก็บของยากด้วย

การไลฟ์สดเป็นประเด็นที่น่าสนใจ มันอาจจะไม่เริ่มจากไลฟ์หรอก มันเริ่มตอนที่เราทำแคมเปญเลือกตั้ง ต้อง reach คนหลายกลุ่ม เข้าถึงคนได้หลายกลุ่ม ผมไปตลาด เด็กแปดขวบรู้จักชัชชาติหมดเลย ถามว่ามาจากไหน มาจากติ๊กต๊อก เราไม่เคยเล่นติ๊กต๊อกนะ แต่ทีมงานเรามีเด็กรุ่นใหม่ที่เล่นติ๊กต๊อกไง ก็ลองเอาเราไปใส่ติ๊กต๊อกดู ปรากฏว่าบิ๊กทาร์เก็ต เด็กติ๊กต๊อกคืออายุ 10 ขวบ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่แม่บอกว่าลูกชายสั่งให้มาเลือก นี่คือซอฟต์พาวเวอร์ของจริง

พลังการสื่อสารสำคัญในการสื่อสารนโยบาย เราได้คะแนนส่วนหนึ่งก็เพราะเราใช้วิธีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ พอเราเข้ามาถึงทำงานปุ๊บ ประชาชนสนใจว่าเงินภาษีทำอะไร เขาไม่เคยเห็นเรามีเรดาร์จับฝนใหญ่ มีคนนั่งดูจราจร เขาไม่รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ พอเราไลฟ์ปุ๊บ ผมว่าเขาก็ให้ความสนใจ และไลฟ์มันก็ดีนะ ไม่ได้บังคับเขาดู ไม่ใช่ถ่ายทอดแบบฟรีทีวีทุกช่องเหมือนกันหมดเลย ไม่ดูก็ได้ไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครบังคับให้ดูไลฟ์ ก็เป็นทางเลือกในการสื่อสาร

Q : เราเริ่มต้นที่ปัญหา อยากจะจบเรื่องด้วยความหวัง

ชัชชาติ-กรุงเทพฯเราไม่แพ้ใครในโลก ผมเคยพูดเสมอว่าเหมือนกับเพชรที่ยังไม่เจียระไน ขอให้เจียระไนนิดหน่อย ให้ช่วยกันเปลี่ยน ถ้าเทียบในภูมิภาค ผมเชื่อว่าเราขึ้นมายืนได้ไม่ยากเลย เรามีทุกอย่างพร้อม เด็กรุ่นใหม่เก่ง มีพลังเยอะแยะ ก็อยู่ด้วยความหวังครับว่าเราลดการทะเลาะกัน เกลียดชังกัน ลดความขัดแย้งร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน เชื่อว่าเราสามารถสร้างกรุงเทพฯ ให้ไม่แพ้เมืองในโลกนี้ได้