ค่าเวนคืนสะพานเกียกกายพุ่ง 9 พันล. กทม.วัดใจรัฐบาลคสช.ขอหมื่นล้านเร่งสร้างปี”61

“บิ๊กวิน” วัดใจรัฐบาล คสช. ขอหมื่นล้านสร้างสะพานเกียกกาย แก้รถติดฝั่งธนฯ ลั่นประมูลแน่ปีนี้ หลังเคลียร์แบบรัฐสภา กทม.ยอมเบี่ยงแนว 10-20 เมตรหลบอาคารใหม่ เผยค่าเวนคืนพุ่งจาก 6.5 พันล้าน แตะ 9 พันล้าน เร่งชงครม.คลอด พ.ร.ฎ.เวนคืน คิวต่อไปเชื่อมราชวงศ์-ดินแดง 870 ล้าน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังเร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย วงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างสะพาน 4,500 ล้านบาท และค่าเวนคืน 6,500 ล้านบาท หลังเคลียร์แบบกับรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้รองบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลและอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเปิดประมูลในปีนี้ หลังโครงการล่าช้ามานานหลายปี นับจากปี 2547 ที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มอบให้ กทม.ดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง

“โครงการนี้จะเชื่อมการเดินทาง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งฝั่งธนบุรีไม่มีปัญหาเรื่องแบบ เหลือฝั่งรัฐสภาอยู่ระหว่างปรับแบบเบี่ยงสะพานออกจากตึกรัฐสภาใหม่ 10-20 เมตร เพราะแบบเดิมรัฐสภามองว่าทำให้บดบังอาคารใหม่ จากนี้จะเสนอแบบใหม่ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา ตั้งเป้าก่อนปีใหม่จะได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแน่นอน ยืนยันนโยบาย Now ของผมไม่ช้า”

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ความล่าช้าของโครงการส่งผลให้ขณะนี้ค่าเวนคืนที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 2,500 ล้านบาท จากเดิม 6,500 ล้านบาท เป็นประมาณ 9,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาที่ดินมีการปรับตัวสูงขึ้นมากในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30% เทียบจากปี 2559 ส่วนยอดผู้ถูกเวนคืนยังคงเดิม ตามที่บริษัทที่ปรึกษาสำรวจ ตลอดเส้นทางมีผู้ถูกเวนคืน 874 ราย แยกเป็นที่ดินรัฐ 98 แปลง สิ่งปลูกสร้างรัฐ 87 แปลง ที่ดินเอกชน 284 แปลง และสิ่งปลูกสร้างเอกชน 405 หลัง

สถานะของโครงการออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว กำลังประสานขอใช้พื้นที่หน่วยงานทหารในโครงการและประมาณการค่าชดเชย รอสำนักงานกฤษฎีกาเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 จะต้องเสนอครม.อนุมัติอีกครั้งเพื่อประกาศบังคับใช้ และรออนุมัติรายงาน EIA ทั้งนี้ กทม.จะขอเงินงบประมาณปี 2561 ก่อสร้าง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดประมูลและก่อสร้างแบ่งเป็น 5 สัญญา คือ 1) ถนนยกระดับ เลียบทางรถไฟสายใต้ และการปรับปรุงถนนฝั่งธนฯ ค่าก่อสร้าง 720 ล้านบาท 2) สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 1 กม. ค่าก่อสร้าง 925 ล้านบาท 3) ถนนยกระดับช่วงลงจากสะพานถึงแยกสะพานแดง ปรับปรุงถนนฝั่งพระนคร ค่าก่อสร้าง 915 ล้านบาท 4) ถนนยกระดับและการปรับปรุงถนนด้านล่าง จากแยกสะพานแดงถึงถนนกำแพงเพชร ค่าก่อสร้าง 995 ล้านบาท และ 5) ถนนยกระดับ จากถนนกำแพงเพชรถึงถนนพหลโยธินหน้าตลาดนัดจตุจักร พร้อมปรับปรุงทางลงถนนกำแพงเพชร 2 ค่าก่อสร้าง 955 ล้านบาท

ส่วนรูปแบบของโครงการออกแบบเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับขนาด 4-6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นอยู่ถนนคู่ขนานทางรถไฟสายใต้ไปทางทิศตะวันตก ผ่านโครงการบ้านฉัตรเพชร บ้านบางส่วนของชุมชนสงวนทรัพย์ซอยจรัญฯ 93/1 ร้านอาหารหัวปลาช่องนนทรี และร้านอาหาร Pier92 แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่

ผ่านแยกเกียกกาย จนถึงแยกสะพานแดง แล้วเลี้ยวซ้ายใช้ถนนเลียบทางรถไฟสายเหนือฝั่งตะวันตก หรือถนนกำแพงเพชร 6 แล้วผ่านแยกสะพานดำ ถ.กำแพงเพชร ถ.พหลโยธิน สิ้นสุดบริเวณหมอชิตเก่าที่สวนจตุจักร ระยะทาง 5.9 กม. มีสะพานข้ามแม่น้ำ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 9 แห่ง

ได้แก่ บนถนนคู่ขนานทางรถไฟสายใต้ บริเวณ ถ.จรัญฯ จะสร้างเป็นทางแยกต่างระดับ จุดตัด ถ.สามเสนและประชาราษฎร์สาย 1 หน้ารัฐสภาใหม่ บริเวณถ.ทหารหน้ากรมสรรพาวุธทหาร บริเวณ ถ.ประดิพัทธ์ บริเวณ ถ.กำแพงเพชรใกล้ ถ.พระรามที่ 6 บริเวณ ถ.กำแพงเพชรใกล้กับทางขึ้น-ลงทางด่วน ถ.กำแพงเพชร 2

ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่พร้อมจะดำเนินการต่อไป แหล่งข่าว กทม.กล่าวว่า มีสะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง ศึกษาเสร็จแล้ว ลงทุน 837 ล้านบาท ไม่มีเวนคืน สร้างเป็นสะพาน 2 ช่องจราจร พร้อมทางเดิน 480 เมตร อยู่บนแนว ถ.ราชวงศ์ และ ถ.ท่าดินแดง รอขอเงินประมาณปี 2561 และ EIA