บิ๊กโฟร์รับเหมากวาดงานใหญ่ถล่มทลาย ตุนแบ็กล็อก 7 แสนล้าน-ITDทุบสถิติรอบ 60 ปี

แบ็กล็อกบิ๊กโฟร์รับเหมาล้นหน้าตัก รับรู้รายได้ยาว 3-5 ปี พี่ใหญ่วงการ “อิตาเลียนไทยฯ” คืนฟอร์ม เซ็นงานใหม่ปี’60 มูลค่า 1.3 แสนล้าน สูงสุดในรอบ 60 ปี ดันรายได้กระฉูดกว่า 6 หมื่นล้าน “ช.การช่าง” โกยครบทุกโหมดเฉียด 5 หมื่นล้าน รายได้ทะลุเป้า 3.5 หมื่นล้าน ส่วน “ซิโน-ไทยฯ” ต่ำเป้าเล็กน้อย ด้าน “ยูนิคฯ” เท่าเดิม 1.2 หมื่นล้าน ทุกค่ายปักหมุดปี’61 ปีทองประมูลเมกะโปรเจ็กต์ เตรียมกำลังคน เทคโนโลยี พันธมิตร ตบเท้าเข้าชิงเค้กทุกโปรเจ็กต์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมมีแผนงานโครงการเร่งด่วนจะเปิดประมูลในปี 2561 มีมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้เป็นที่หมายปองของผู้รับเหมา ซึ่งต่างเตรียมพร้อมร่วมกับพันธมิตรที่จะเข้าร่วมสนามประมูลกันอย่างคึกคัก

ITD สูงสุดในประวัติศาสตร์

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า ปี 2560 บริษัทได้งานใหม่ในมือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (รวมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 35,000 ล้านบาท) สูงสุดในรอบ 60 ปีที่ก่อตั้งบริษัทมาทำให้มีงานในมือปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท เป็นงานในประเทศและต่างประเทศ 50 : 50 ทยอยรับรู้รายได้ 4 ปี โดยปี 2560 ที่ผ่านมาสามารถรับรู้รายได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าปี 2561 จะถึง 1 แสนล้านบาท

เนื่องจากรัฐบาลมีการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เปิดประมูลมากกว่าปี 2560 ถึงเท่าตัว มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งบริษัทประเมินไว้จะเข้าร่วม เช่น รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 9 โครงการ วงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 35,099 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกว่า 2 แสนล้านบาท ยังมีงานอื่น ๆ อีก เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ ตั้งเป้าจะได้งาน 1 ใน 3 หรือประมาณ 3 แสนล้านบาทของมูลค่างานที่เปิดประมูล

“ขอให้รัฐเร่งเปิดประมูล เราสนใจหมดทั้งงานก่อสร้างหรือร่วมลงทุน PPP เราเป็นบริษัทใหญ่ ถ้าเราไม่สนแล้วใครจะทำ ตอนนี้เตรียมพันธมิตรไว้หมดแล้ว อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะร่วมกับจีนเข้าประมูล”

ช.การช่าง ขอส่วนแบ่ง 25%

นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ช.การช่าง เปิดเผยว่า รายได้ก่อสร้างในปี 2560 คาดว่าจะเกินเป้า 35,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือคิดเป็นมูลค่ารวม 78,595 ล้านบาท สามารถทยอยรับรู้รายได้อีก 2-3 ปี เฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท

โดยปี 2560 ได้เซ็นสัญญาโครงการใหม่ 7 โครงการ มูลค่ารวม 48,412 ล้านบาท (ดูตาราง) ขณะที่ในปี 2561-2563 คาดว่ารัฐจะผลักดันโครงการใหม่ด้านโครงสร้างพื้นฐานออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งปี 2561 เฉพาะรถไฟฟ้าและทางคู่ มีมูลค่ารวมประมาณ 5-6 แสนล้านบาท และบริษัทจะเข้าประมูลทุกโครงการ

เช่น สีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑลสาย 4 สีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน สีเขียว สมุทรปราการ-บางปู และคูคต-ลำลูกกา ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ช่วงถนนเกษตร-นวมินทร์ ทางคู่เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทาง ตลอดจนโรงไฟฟ้าพลังน้ำใหม่ ๆ ในต่างประเทศ เช่น ที่ สปป.ลาว

“ปี้นี้ตั้งเป้าจะได้งาน 20-25% คาดว่าจะมีงานในมือเพิ่ม 7-8 หมื่นล้านบาท เราได้เตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งบุคลากร เทคโนโลยีก่อสร้างเข้าประมูลงาน ซึ่งทุกโครงการเป็นงานที่ ช.การช่าง มีศักยภาพจะเข้าร่วมประมูล ทั้งก่อสร้าง ลงทุน PPP โดยร่วมกับบริษัทในเครือ เช่น BEM ไม่ว่าถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า น้ำและพลังงาน”

ตลอด 45 ปี บริษัทยังคงรักษาระดับความแข็งแกร่งการสร้างรายได้และกำไรจากการดำเนินงานได้ในระดับที่น่าพอใจ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 มีรายได้จากก่อสร้าง 8,758 ล้านบาท รายได้รวม 9,266 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 7.85% อัตรากำไรสุทธิ 6.75% อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 1.35 เท่า หลังจากได้ปรับโครงสร้างการเงินในองค์กรต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ตอนนี้บริษัทในเครือ มีความแข็งแกร่งด้านการเงิน สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการต่าง ๆ ตั้งเป้า 5 ปีข้างหน้า ยังลุยงานก่อสร้างในประเทศเป็นหลัก เพราะมั่นใจว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะเติบโตอย่างมากใน 3 ปีนี้ จากโครงการภาครัฐ ส่วนงานต่างประเทศจะเน้นแถบ AEC โดยเฉพาะลาวและเมียนมา เน้นโครงการด้านพลังงาน ล่าสุดได้งานพัฒนาระบบน้ำประปาในประเทศเมียนมา 300 ล้านบาท

ซิโน-ไทยฯ ตุนแสนล้าน

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2560 คาดว่าอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย แต่ใกล้เคียงกับปี 2559 เนื่องจากงานใหม่ที่ชนะประมูลยังไม่ได้เริ่มงาน ปัจจุบันมีงานรอในมืออยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ 3-4 ปี เฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้านบาท

โดยเป้ารายได้ปี 2561 บริษัทคาดหมายไว้ 26,000-28,000 ล้านบาท จากโครงการที่ชนะการประมูลมาใหม่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง และสีส้ม ที่น่าจะเริ่มรับรู้รายได้

สำหรับทิศทางธุรกิจก่อสร้างปี 2561 จะดีกว่าปี 2560 คาดว่าจะมีโครงการใหม่เปิดประมูลมากขึ้น ทั้งจากโครงการใหญ่ของภาครัฐ ตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่ารถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ทางหลวงสายต่าง ๆ และโครงการพื้นที่ EEC ยังมีงานจากภาคเอกชน เช่น โรงงานปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน ในกลุ่ม ปตท.

“ปีนี้งานประมูลรัฐจะมีมากขึ้น เราคาดว่าจะได้งาน 20-25% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังเป็นปัจจัยเดิม ๆ เช่น ราคาวัสดุก่อสร้าง เหล็กเส้น และค่าแรงงาน รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ส่วนปัจจัยทางการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่จะต้องคอยติดตาม แต่จากงานในมือที่มีมากอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก”

ยูนิคฯตั้งเป้าโต 25%

นางสาวพิริยา สุวิวัฒน์ธนชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสกลุ่มงานบริหารธุรกิจ พัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า ผลประกอบการปี 2560 อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2559 เนื่องจากงานรถไฟทางคู่ที่บริษัทได้งาน 2 สัญญาในสายลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 18,699 ล้านบาท จะเริ่มรับรู้รายได้ปี 2561 ประมาณ 5-10%

“งานในมือรอรับรู้รายได้มีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ทยอยรับรู้ 5-6 ปี มีสายสีส้ม สายสีแดงจะแล้วเสร็จปลายปี 2562 และงานใหม่ทางคู่ ทำให้ปีนี้จะมีรายได้เพิ่ม 25% อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท”

บริษัทเตรียมพร้อมทั้งทีมงาน แรงงาน เครื่องจักร และพันธมิตรจากประเทศจีนจะเข้าประมูลงาน เช่น รถไฟฟ้า ทางคู่ มอเตอร์เวย์ โดยมั่นใจว่าจะได้งานประมาณ 20-25%

เนื่องจากบริษัทมีการบริหารต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำกว่าคู่แข่ง เพราะมีโรงงานผลิตซีเมนต์สำเร็จรูปจะมาซัพพอร์ตงานต่าง ๆ โดยโรงงานตั้งอยู่ที่หนองโดน จ.สระบุรี เนื้อที่ 1,700 ไร่ ปัจจุบันยังมีกำลังการผลิตไม่เต็มพื้นที่ ยังสามารถขยายได้อีกเพื่อรองรับงานในอนาคต