ประมูลมอเตอร์เวย์ 1.5 หมื่นล้าน ดึงทั่วโลกแข่งบริหาร 30 ปี-BEMมาแรง

กรมทางหลวงโหมโรงปีจอ ตีฆ้อง PPP ระบบค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจน์ ดึงเอกชนไทย-เทศทั่วโลกลงทุน 1.5 หมื่นล้าน รับค่าจ้างยาว 30 ปี ดีเดย์

มี.ค.เปิดยื่นซอง สิ้นปีเซ็นสัญญา เริ่มงานปีหน้า

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดือน มี.ค. 2561 จะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี ในงานติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเก็บค่าผ่านทาง (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช 196 กม. และบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. ซึ่งวันที่ 31 ม.ค. จะเชิญทั้งผู้รับเหมาและผู้มีประสบการณ์จัดเก็บค่าผ่านทางมารับฟังความคิดเห็นร่างทีโออาร์ครั้งสุดท้าย ก่อนประกาศเชิญชวนปลายเดือน ก.พ. จากนั้นจะพิจารณาข้อเสนอตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 คาดจะเซ็นสัญญาในเดือน ธ.ค.นี้

“งานจะเริ่มต้นปี 2562 ตามแผนจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการต้นปี 2563 แต่สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จะขยับเปิดปลายปี 2563 เพราะยังติดปัญหาวงเงินเวนคืนเกินมา 14,317 ล้านบาท ซึ่งกรมยังไม่ได้รับอนุมัติวงเงินดังกล่าวจากคณะรัฐมนตรี” เพื่อให้เกิดการแข่งขัน กรมจะเปิดประมูลแบบนานาชาติ เชิญเอกชนไทยและต่างชาติเข้าร่วม สามารถยื่นประมูลได้ทั้งเดี่ยวและร่วมทุนกับรูปแบบจอยต์เวนเจอร์ เอกชนหาเงินลงทุนงานระบบ มีเงินลงทุนตั้งต้นรวม 15,098 ล้านบาท แยกเป็นสายบางปะอิน-โคราช 8,704 ล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี 6,394 ล้านบาท

พร้อมรับจ้างบริหารเก็บค่าผ่านทางพร้อมบำรุงรักษาโครงการตลอดอายุสัญญา 30 ปี โดยกรมจะจ่ายค่าตอบแทนให้เอกชนในส่วนของสายบางปะอิน-โคราช จะได้ค่าตอบแทนไม่เกิน 33,258 ล้านบาท มีค่าตอบแทนอยู่ที่ 1,170 ล้านบาทต่อปี และบางใหญ่-กาญจนบุรีไม่เกิน 27,828 ล้านบาท มีค่าตอบแทนอยู่ที่ 979 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเอกชนที่เสนอค่าตอบแทนต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะ

“รายได้ค่าผ่านทางเป็นของกรมทั้งหมด เรา outsource เอกชนจัดเก็บและบริหารโครงการพร้อมบำรุงรักษาให้ เอกชนจะไม่รับความเสี่ยงด้านรายได้ ขณะที่ค่าผ่านทางกรมจะเป็นผู้กำหนด จะเก็บตามระยะทาง” นายธานินทร์กล่าวและว่าสายบางปะอิน-โคราช มีอัตราแรกเข้า 10 บาท คิดเพิ่ม 1.25 บาท/กม. ปีแรกมีรายได้ 2,063 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรี อัตราแรกเข้า 10 บาท เก็บเพิ่ม 1.50 บาท/กม. ปีแรกมีรายได้ 945 ล้านบาท จะมีปรับค่าผ่านทางตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) เหมือนทางด่วน เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านรายได้และค่าใช้จ่ายของโครงการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากผลการศึกษาระบุสายบางใหญ่-กาญจนบุรี จะมีรายได้ไม่พอรายจ่าย 12 ปี ส่วนบางปะอิน-โคราช 2 ปี และยังลดภาระเงินกองทุนค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ที่กรมนำมาจ่ายค่าจ้างเอกชน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า สนใจร่วมประมูล เพราะเป็นการบริหารระบบเก็บเงินค่าผ่านทางโครงสร้างพื้นฐานเหมือนรถไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ขอดูเงื่อนไขทีโออาร์ว่า บริษัทจะทำได้และมีโอกาสที่จะชนะหรือไม่

ส่วนนายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง และนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า สนใจจะเข้าร่วมประมูลโครงการ

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ยังมีเอกชนอีกหลายรายที่สนใจที่จะเข้าร่วมประมูล อาทิ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), กลุ่มสามารถ, รวมถึงนักลงทุนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา