คอลัมน์ เยี่ยมโครงการ โดย มิสเตอร์โฮม
ได้เวลาอวดโฉมออฟฟิศใหม่สไตล์เออร์เบิร์นเทค (Urban Tech) ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเป็นโรลโมเดลให้กับผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ “บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” งานนี้ต้องบอกว่าเล็ก ๆ ไม่ใหญ่ถึงจะทำ
โดยฤกษ์ย้ายสำนักงานใหม่เกิดควบคู่ไปกับนโยบายมุ่งสู่ความเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นเริ่ด เปิดตัวออกมาแล้วต้องเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ทำให้ “โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา” ซีอีโอตัดสินใจทุ่มงบฯ 300 ล้านบาทเนรมิตอาณาจักรแห่งใหม่ “อนันดา แคมปัส” ที่มีบรรยากาศส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรเน้นสร้างแรงบันดาลใจคนทำงานในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ซีอีโอ “โก้-ชานนท์” ถอดสูทนำชมสำนักงานแห่งใหม่ด้วยตนเอง พิกัดที่ตั้งสถิตอยู่บนชั้น 11-12 อาคาร 2 ตึกเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ หัวมุม ถ.พระราม 4 มีพื้นที่รวม 8,225 ตร.ม. เริ่มต้นด้วยฟังก์ชั่นต้อนรับแขก ทาวน์ ฮอลล์ (Town Hall) ทำหน้าที่เป็นเหมือนลานกิจกรรมส่วนกลาง มียกพื้นอัฒจันทร์ด้านข้าง เจ้าบ้านก็เข้าใจเปรียบเทียบบอกว่าจุดนี้เป็นเหมือนนิวเคลียสของเซลล์ เพราะเป็นแหล่งพบปะ พูดคุยประเด็นที่ต้องการสื่อสารกันของคนอนันดาฯ ตั้งแต่พนักงานตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงผู้บริหารทุกระดับในองค์กร
เดินเลาะลึกเข้าไปเยี่ยมชมภายในชั้น 11-12 มีห้องประชุมสารพัดไซซ์รวมทั้งหมด 45 ห้อง กิมมิกแต่ละห้องตั้งชื่อตามสถานีรถไฟฟ้า เช่น ห้องศูนย์สิริกิติ์ ห้องเมืองทองธานี ห้องโชคชัย 4 แทรกตัวด้วยพื้นที่โต๊ะทำงานสไตล์โคเวิร์กกิ้ง สเปซ หน้าตาเป็นโต๊ะยาวพร้อมปลั๊กไฟ โดยไม่ระบุที่นั่งเฉพาะของพนักงานแต่ละคน สไตล์แบบนี้อนันดาฯ เรียกขานว่าระบบฮอต เดสก์ (Hot Desk) พนักงานเลือกสล็อตโต๊ะทำงานจุดใดก็ได้ เปลี่ยนได้ทุกวัน
เหตุผลที่ออกแบบเช่นนี้เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดการประสานงานที่ดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในตำแหน่ง เพราะที่นี่…ไม่มีห้องผู้บริหาร
ลงทุน 300 ล้านทั้งทีก็เลยใส่ใจรายละเอียดทุกเม็ด แม้แต่ระบบเลือกโต๊ะทำงาน-จองห้องประชุม พนักงานจองผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือได้เลย อิสระมากจริง ๆ กรณีใช้ห้องประชุมทำได้ง่ายเพียงคลิกกดเชิญผู้เข้าร่วมประชุมได้ในแอปฯ เดียว ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก ข้อมูลที่จำเป็น อาทิ วัน เวลา รายชื่อผู้ประชุมจะปรากฏบนจอหน้าประตูห้องประชุมนั้น ๆ ด้วย
โซนเงียบ (Quiet Zone)
เหรียญยังมีสองด้าน ถัดจากโซนฮ็อตเดสก์แล้วถ้าต้องการพื้นที่ส่วนตัว อนันดาฯ จัดให้ เรียกว่าโซนเงียบ (Quiet Zone) สำหรับจังหวะที่ต้องการทำงานอย่างมีสมาธิ เดินไปเรื่อย ๆ เป็นโซนรีแล็กซ์ โต๊ะทำงานแบบโซฟาจัดวางเป็นการประชุมกลุ่มย่อยแบบสบาย ๆ ก็ได้ นอกจากนี้จัดวางตู้คุยโทรศัพท์ออกแบบตามอย่างต่างประเทศ เพื่อให้การคุยงานไม่รบกวนเพื่อนข้างเคียง
มุมที่น่าอิจฉาเป็นที่สุดน่าจะเป็น Nap Pod ออกแบบเป็นเตียงสไตล์โรงแรมแคปซูลพร้อมผ้าม่านเปิด-ปิดแบบรูด สำหรับให้พนักงานงีบเอาแรง (ตอนกลางวัน) ได้ด้วยมุมที่ไม่ทิ้งกลิ่นอายความเป็นธุรกิจอสังหาฯ คือการจัดห้องวัสดุ (Materiel Room) ภายในห้องเป็นเหมือนคลังสมบัติของอนันดาฯ ก็ว่าได้เพราะใช้เก็บแฟ้มรายละเอียดวัสดุและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไว้ทุกอย่างตั้งแต่กระเบื้อง ฝักบัว ลูกบิดประตู ฯลฯ
Nap Pod
มุมที่ดีที่สุดของอนันดา แคมปัส (เจ้านายทุกออฟฟิศน่าจะเลียนแบบ) เป็นเรื่องปากท้องพนักงาน บริษัทนี้เขาเอาใจถึงขนาดจัดอาหารกลางวันฟรีจากร้าน Kloset ทุกวัน พร้อมที่นั่งรับประทานสไตล์ร้านกาแฟ บรรยากาศแบบนี้กินไปผ่อนคลายไป ไม่มีอึดอัดแน่นอน
ย้อนกลับมาที่ระบบออฟฟิศอัจฉริยะ
“อนันดา แคมปัส” มีที่สุดแห่งความภูมิใจนำเสนอมาจากสตอรี่ที่ว่า เทคโนโลยีทุกอย่างที่ติดตั้งเป็นแห่งแรกที่ทำนอกทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตร “ซิสโก้
ฟูจิตสึ ซัมซุง” พนักงานประชุมแบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ได้คล่องตัวผ่านคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ส่งภาพและเสียง ไฟล์จะขึ้นหน้าจอได้ทันที กระดานอี-บอร์ด (E-Board) เป็นจอสัมผัสวาดเขียนได้ แคปเจอร์หน้าจอส่งเป็นอีเมล์ การทำงานทั้งหมดติดต่อกันด้วยแอปฯ แจบเบอร์ (Jabber) ทำทุกสิ่งอย่างในแอปฯ เดียว
กระดานอี-บอร์ด (E-Board)
นอกจากสถานที่สุดเท่แล้ว ค่ายอนันดาฯ มีไม้ตายเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกพนักงาน นั่นคือ แจกบัตรรถไฟฟ้าฟรีเพราะต้องการกระตุ้นให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ด้วยการคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายที่พนักงานต้องใช้เพื่อมาถึงออฟฟิศ แล้วจ่ายให้ฟรีทุกเดือน !
อีกเรื่องคือ “ไม่มีตอกบัตร” พนักงานสามารถเข้า-ออกที่ทำงานเวลาใดก็ได้ ขอแค่ให้ผลงานออกมาเป็นที่ประจักษ์ เพราะบริษัทมีเป้าหมายที่ท้าทายจะโต 300% ใน 3 ปี โดยจำนวนพนักงานเท่าเดิม
เป็นแบบฉบับเรียกร้องการทำงานหนักของพนักงานแลกกับออฟฟิศในฝัน เงินเดือนในฝัน เพราะที่นี่คืออนันดา แคมปัส