รวม 3 ทายาท ‘GEN 3’ ที่สานต่อธุรกิจครอบครัว ด้วยสุดยอด Business Model สู่ความยั่งยืน จนฉีกกฎการล่มสลาย

การสืบทอดธุรกิจครอบครัว ที่ส่งผ่านการดำเนินกิจการจากรุ่นพ่อ สู่ รุ่นลูก หรือรุ่นหลาน ที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือจะมีกฎการล่มสลาย ที่ทำให้การสืบทอดมักจะจบลงไม่เกิน 3 เจนเนอเรชัน โดยเนื้อหาส่วนหนึ่ง จากหนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน ระบุถึงประเด็นข้อสงสัยในส่วนของโครงสร้างปัญหาและแนวทางแก้ไขของธุรกิจครอบครัวไว้ว่า…

ธุรกิจครอบครัวอยู่ไม่เกิน 3 ชั่วคน : คำสาปหรือเรื่องจริง 

ซึ่งอธิบายต่อไปว่า โดยทั่วไปในโลกของธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด มักจะมีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดได้ไม่เกิน 3 ชั่วคน” หรือบางคนอาจถือว่าเป็นคำสาปเลยทีเดียว โดยธุรกิจทั่ว ๆ ไปแบ่งเป็น 3 ชั่วอายุคน เช่น ในยุคปู่ เป็นช่วงแรก ถือว่าเป็นช่วงที่เริ่มสร้างกิจการ เพิ่งเข้ามาดำเนินธุรกิจ เมื่อมาถึงรุ่นลูก เริ่มมีฐานะมั่นคง ได้รับการศึกษามากขึ้น

บริหารธุรกิจจนเจริญเติบโตบางครอบครัวอาจรุ่งเรืองจนถึงขั้นนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ แม้จะมีปัญหาข้อพิพาทในรุ่นที่ 2 แต่ยังสามารถจับเข่าคุยกันได้ จนกระทั่งเข้าสู่รุ่นที่ 3 สมาชิกมักจะมีข้อพิพาทมากขึ้น เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น การแบ่งผลประโยชน์จึงเริ่มมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจครอบครัวไทย มีทั้งที่ต้องล่มสลายหายไป โดยเฉพาะครอบครัวที่ขาดมืออาชีพที่มีความชำนาญด้านการบริหารมาช่วย และมีทั้งธุรกิจครอบครัวที่อยู่รอดเกิน 3 ชั่วคน หากมีการวางแผนการศึกษาของธุรกิจครอบครัวให้ดี

ขณะเดียวกัน มุมมองของ รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า ธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดจากรุ่นพ่อ สู่รุ่นลูก หรือรุ่นหลาน โดยผิวเผินอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายยิ่งกว่าการให้ผู้บริหารหรือคนนอกเข้ามารับช่วงงานต่อ เนื่องจากคนในครอบครัวเดียวกันน่าจะสนิท รู้ใจ รวมถึงได้รับการถ่ายทอด ‘วิชา’ ประสบการณ์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรงระหว่างพ่อกับลูก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสืบทอดธุรกิจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย หลายครอบครัวที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมายาวนาน แต่กลับต้องเผชิญปัญหาในช่วงส่งต่อไม้แบบรุ่นสู่รุ่น ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ เช่น  เป็นการรับช่วงต่อที่ถูกบังคับ , ความใกล้ชิดเกินไป ทำให้ขาดความเคารพ หรือ ในช่วงที่ธุรกิจกำลังรุ่งเรือง หรือตั้งตัวได้แล้วทายาทมักถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ ทำให้ไม่รู้สึกถึงความกดดันที่ต้องเข้ารับช่วงต่อของกิจการ เป็นต้น

รับ-ส่งไม้ต่อการบริหาร ช่วงเวลาท้าทาย ธุรกิจครอบครัว

ความท้าทายของทายาทธุรกิจในรุ่นที่สองและสาม เมื่อถึงเวลาต้องส่งมอบกิจการต่อให้รุ่นสาม มีทั้งในแง่ความละเอียดอ่อน ของการที่ต้องประคับประคองความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกในครอบครัว ที่เสี่ยงจะเกิดความขัดแย้งกันได้มากกว่ารูปแบบอื่น และรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารงาน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

เพราะการบริหารกิจการจากรุ่นสู่รุ่นเมื่อมีการดำเนินงานมาระยะหนึ่ง กว่าจะถึงเจนเนอเรชันทายาทรุ่นสอง หรือสาม ย่อมต้องผ่านระยะเวลาและความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ซึ่งผู้บริหารรุ่นใหม่ ต้องใช้สารพัดกลยุทธ์ในการเปลี่ยนรูปแบบของวิสัยทัศน์ รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต ขยาย ต่อยอดไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ

นอกจากนี้ยังต้องอาศัย โมเดลธุรกิจ (Business model) ที่ดี เรียนรู้และศึกษาตลาด เพื่อปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในขณะนั้น เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาเรื่อง ‘สินค้าขาลง’ หรือ ถูก ‘Disruption’  (การเปลี่ยนแปลงจากนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว) จนถึงยุคที่ต้องปิดวงจรการซื้อขาย นำไปสู่การล่มสลายในที่สุด

ซึ่ง Bangkok Bank SME ได้รวบรวมแนวทางการบริหาร ของทายาทธุรกิจรุ่น 3 ที่ประสบความสำเร็จจากการรับไม้ต่อจากครอบครัว และใช้กลยุทธ์การรับมืออย่าง Business Transformation ข้ามผ่าน ‘กฎการล่มสลาย’ และสานต่อธุรกิจไปยังรุ่นถัดไปได้อย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้

คุณชัยพร โสธรนพบุตร’ ทายาทรุ่น 3 แห่งแบรนด์ผลไม้แปรรูป ‘วรพร’

คุณชัยพร โสธรนพบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด ทายาทรุ่น 3 เจ้าของแบรนด์ ‘วรพร’ เผยถึงที่มาของธุรกิจครอบครัวให้ฟังว่า เมื่อ 60 กว่าปีก่อน อากง ‘ไต่ไฮ้ แซ่โค้ว’ มาทำมาหากินที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เห็นว่าแปดริ้วมีมะม่วงเยอะ จึงนำภูมิปัญญาการดองผลไม้ตามตำรับชาวจีนซัวเถามาใช้ดองมะม่วง เพื่อผลิตเป็นสินค้าออกขายหน้าบ้าน โดยนำมะม่วงดองใส่โหลแก้วตักใส่ถุงขาย สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

คุณชัยพร คือ ทายาทรุ่น 3 ที่ผูกพันและคลุกคลีกับธุรกิจครอบครัว (Family Business) มาตั้งแต่เด็กได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากคนทั้ง 2 รุ่น หนึ่งในคำสอนจากรุ่นพ่อ ที่ยึดมั่นใช้เพื่อสานต่อธุรกิจครอบครัวมาตลอด คือ เลือกสิ่งดีที่สุดให้แก่ลูกค้า และยุติธรรมต่อลูกค้า เมื่อลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว จะกลายเป็นลูกค้าประจำ ช่วยให้ธุรกิจเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)

ก้าวต่อไปของ ผลไม้แปรรูป ‘วรพร’ เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของคนรุ่น 3 คือ กระจายสินค้าออกไปทั่วโลก และดีไซน์ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ เราต้องเสิร์ฟความต้องการผู้บริโภค ในราคาและปริมาณที่เหมาะสม ขณะเดียวกันเป้าหมายความท้าทายในฐานะผู้มาสานต่อธุรกิจครอบครัวที่ยืนหยัดมากว่า 60 ปีนั้น คือการมุ่งสร้างแบรนด์ ‘วรพร’ ให้ยืนอยู่ในตลาดต่อไปได้อย่างมั่นคงและเป็นแบรนด์ที่มีความยั่งยืน (Sustainability)  ในฐานะสินค้าคุณภาพดี มีรสชาติอร่อย ในราคาที่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม : บทพิสูจน์ทายาทรุ่น 3 ‘วรพร’ สานตำนานมะม่วงแปรรูปโกอินเตอร์ สร้างยอดขายเฉียด 160 ล้าน

คุณนที จรัสสุริยงค์’ ทายาทธุรกิจเจน 3 ที่ส่งต่อความสำเร็จ แบรนด์ ‘ครูเซ็ท’ จากรุ่นสู่รุ่น

ครูเซ็ท ผู้นำด้านการผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่ประสบความสำเร็จมากว่า 64 ปี จากแนวคิด Family Business ที่ส่งต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น โดย คุณนที จรัสสุริยงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ไทย-มีโก้ จำกัด

คุณนที เล่าว่า เริ่มต้นทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นสูตรของอากง (ปู่) ซึ่งเดิมมีอาชีพขับรถสามล้อ และมีผู้โดยสารที่เป็นอาจารย์เคมีชวนอากงไปทำแชมพูด้วยกัน จนได้สูตรและความรู้มาพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์แชมพู ขายตามร้านเสริมสวย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น จนในที่สุดแชมพูเริ่มขายดี แต่ยังไม่มีชื่อแบรนด์ จึงใช้ชื่อที่เกิดจากการผันเสียงของ Crucible ว่า Cruset จนกลายเป็นแบรนด์ ‘ครูเซ็ท’ มาในทุกวันนี้

ธุรกิจนี้เป็น Family Business ที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จะมีช่องว่างระหว่างวัยและมุมมองที่อาจจะไม่ตรงกันในบางครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากคนในครอบครัวพร้อมเปิดใจยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และให้ความสำคัญกันทุกฝ่าย หากขั้นตอนใดมีปัญหาทุกคนก็จะร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน เนื่องจากทุกคนอยากให้องค์กรพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม : จากรุ่นสู่รุ่น Gen 3 ‘ไทย-มีโก้’ สานต่อความสำเร็จแบรนด์ ‘ครูเซ็ท’

เส้นทางธุรกิจจากรุ่นปู่ สู่รุ่นหลาน ของ ‘คุณกานต์ จิตสุทธิภากร’ แห่ง ยนต์ผลดี

คุณกานต์ จิตสุทธิภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตข้าว พร้อมติดตั้งและวางระบบอย่างครบวงจร เล่าว่า บริษัทเกิดขึ้นจากธุรกิจครอบครัว (Family Business) เริ่มขึ้นในรุ่นคุณปู่เมื่อ 72 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ ‘โรงหล่อยนต์ผลดี’

โดยรับงานหล่อโลหะ ชิ้นส่วนและอะไหล่เรือ พร้อมทั้งรับงานซ่อมแซมและปรับปรุงเครื่องจักรอื่น ๆ  ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำโดยในขณะนั้นเรือยังเป็นพาหนะที่ใช้ในการค้าขายเป็นหลัก และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนส่งต่อไปยังทายาทธุรกิจรุ่นต่อมาอย่างมั่นคง

ซึ่งตน ได้เรียนจบด้านอุตสาหกรรมเกษตร เมื่อกลับมาช่วยดูแลธุรกิจครอบครัว (Family Business) ต่อจากรุ่นคุณพ่อ จึงเริ่มมีแนวคิด Business Transformation ยกระดับบริษัทไปสู่องค์กรที่มีความทันสมัยมากขึ้นทั้งในแง่ของการบริหารธุรกิจ การบริหารงานบุคคล รวมทั้งมีการบูรณาการระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ ประยุกต์เข้ากับระบบเครื่องจักรเดิมภายในโรงงาน ให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เพิ่มมากขึ้น

Case Study เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าการสานต่อธุรกิจครอบครัว (Family Business) ไม่ว่าจะเป็นในสายธุรกิจใดก็แล้วแต่ หากทายาทธุรกิจมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการบริหารงานให้มีมาตรฐานมากขึ้น สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้คือการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการสื่อสารระหว่างบุคคลกับผู้บริหารรุ่นก่อนหน้า และการสื่อสารภายในองค์กร

อ่านเพิ่มเติม : ผู้พัฒนาเครื่องจักรอุตสาหกรรมการผลิตข้าวครบวงจร ‘ยนต์ผลดี’ ชูจุดเด่นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยจนครองใจลูกค้า

แหล่งอ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์  อุรพีพัฒนพงศ์, ศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, The Family Firm Institute

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333