ผู้ประกันตนวางใจได้ เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน-วิกฤต ใช้สิทธิรักษาได้ทุกสถานพยาบาล

ผู้ประกันตน

สำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งครอบคลุมถึงกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยเฉพาะค่าบริการทางการแพทย์ ที่ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้ทันที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือฉุกเฉินวิกฤต ยังสามารถมั่นใจได้เช่นเดิมเพราะสำนักงานประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตนเป็นอย่างดี

นายบุญสงค์  ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สิทธิประโยชน์นี้สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ (ส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย) ซึ่งหากเกิดเหตุผู้ประกันตน ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่มีสิทธิได้ สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐที่สะดวกได้ โดยหากเป็นผู้ป่วยนอก จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ถ้าเป็นผู้ป่วยใน จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง (ไม่นับรวมวันหยุดราชการ) ส่วนค่าห้องและค่าอาหาร สามารถเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท แต่หากผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชน ถ้าเป็นผู้ป่วยนอก จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท  ถ้าเป็นผู้ป่วยใน เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามเกณฑ์และอัตราตามที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง (ไม่นับรวมวันหยุดราชการ) โดยค่าห้องและค่าอาหาร จะเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท เช่นกัน

สำหรับกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลเอกชนอื่นที่ใกล้เคียงได้ทุกแห่ง ที่มิใช่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าบริการทางการแพทย์จนพ้นภาวะวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง (นับรวมวันหยุดราชการ) ให้แก่สถานพยาบาลที่รักษา และกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์จนพ้นภาวะวิกฤตแล้ว จะส่งตัวไปเข้ารับการรักษาต่อ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ

ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนประสบเหตุอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือฉุกเฉินวิกฤต และต้องพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งหากหมดสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในวันลาป่วยตามกฎหมายแล้ว จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันต่อปีปฏิทิน เว้นแต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่เกิน 365 วันต่อปี

เลขาธิการ สปส. กล่าวต่ออีกว่า สิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤตนั้น เป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ดังนั้น เมื่อผู้ประกันตนประสบเหตุจะต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อให้ผู้ประกันตนรอดพ้นจากภาวะฉุกเฉิน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะดูแลรับผิดชอบด้านค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองชีวิตอย่างทันท่วงที

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน 1506 ให้บริการ 24 ชั่วโมง หรือ Line : @ssothai และทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

#Website: www.sso.go.th

#Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

#Instagram: sso_1506

#Twitter: @sso_1506

#YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

#Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

#LINE: @SSOTHAI

#TikTok: @SSONEWS1506