
1 ตุลาคม 2505 กรมการพัฒนาชุมชนก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับปัญหาความยากจน ความด้อยพัฒนาและการขาดโอกาสทางการศึกษาของประชาชนในชนบท ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ กรมการพัฒนาชุมชนจึงมีหน้าที่ “พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสภาพชุมชน ด้วยการยกระดับให้ดีขึ้นโดยประชาชนเอง” โดยมี “พัฒนากร” เป็นข้าราชการหลักทำหน้าที่กระตุ้นความคิด สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรู้จักสิทธิและหน้าที่ สามารถปกครองตนเองได้ตามระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีต่อการร่วมมือกันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองตามหลัก “การมีส่วนร่วม”
นับตั้งแต่การก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2505 กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินภารกิจที่ได้รับมอบ มีการพัฒนาองค์การ และกระบวนการทำงาน ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของสังคมแต่ละยุคสมัย
จำแนกเป็น 6 ยุค ได้ดังนี้
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
ยุคแรก : ก่อร่างสร้างองค์การ (พ.ศ. 2505 – 2514) ในทศวรรษนี้เน้นการกระตุ้นให้ประชาชนร่วมมือกันแก้ปัญหาของตนเอง และทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่บ้าน ชุมชนของตน เพื่อความมั่นคงของชาติ
ยุคที่ 2 : สร้างพลังชุมชน (พ.ศ. 2515 – 2524) ทศวรรษการพัฒนาตามแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ความสำคัญต่อการสร้างผู้นำและการรวมกลุ่ม ภายใต้อุดมการณ์ “สร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชน ในการพัฒนาชุมชน”
ยุคที่ 3 : สู่ระบบบริหารการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (พ.ศ. 2525 – 2534) เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชนบทมากขึ้น ภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนในทศวรรษนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มกิจกรรมให้เป็นองค์กรบริหารที่มีขีดความสามารถ และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ยุคที่ 4 : เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน (พ.ศ. 2535 – 2544) ในทศวรรษที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ระยะนี้กรมการพัฒนาชุมมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนขึ้นเป็นครั้งแรก มีการพัฒนาระบบงานเพื่อสนับสนุนการปกครองท้องถิ่น ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน
ยุคที่ 5 : สู่ยุคใหม่ของระบบราชการ (พ.ศ. 2545 – 2554) ในทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อรัฐบาลมีนโยบายหลายเรื่องที่มอบให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน ได้แก่ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) โครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน (SML)
ยุคที่ 6 : พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ. 2555 – 2565) ในทศวรรษนี้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID – 19) ฯลฯ ระยะนี้กรมการพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยทุนชุมชนที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุน และนำทุนที่มีอยู่มาสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้อย่างมั่นคง ด้วยการพัฒนาผู้ผลิตผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมช่องทางการตลาด
ขณะเดียวกันก็น้อมนำแนวพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นแนวทางในพัฒนาประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นับจากการสถาปนากรมการพัฒนาชุมชนเมื่อ พ.ศ. 2505 กรมการพัฒนาชุมชนตระหนักถึงหน้าที่สำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาชนบทไทย ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างผู้นำชุมชน และเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ดังคำขวัญที่ว่า “60 ปี กรมการพัฒนาชุมชน สร้างสรรค์ชุมชน สร้างคน สร้างชาติ”