ทำไมต้องตรวจเช็กกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ 

ตรวจ

การตรวจเช็กระบบทางเดินอาหารมีความสำคัญ เพราะความผิดปกติอาจแอบแฝงและไม่แสดงอาการที่ชัดเจนออกมา ซึ่งอาจทำให้ละเลยและปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงยากต่อการรักษาในภายหลัง ดังนั้นการตรวจเช็กระบบทางเดินอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

ข้อบ่งชี้ในการตรวจเช็กระบบทางเดินอาหาร

– อายุ 45 ปีขึ้นไป หรืออายุมากกว่า 40 ปีที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ หรือติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่

– มีอาการปวดท้อง, ท้องอืด

– น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ

– อาเจียนเป็นเลือด

– ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

– ท้องเสียสลับท้องผูก

– มีเลือดออกหรืออาการปวดท้อง โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุ

 

ส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน

การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนโดยการส่องกล้อง (Gastroscopy) เป็นการใช้กล้องชนิดอ่อนใส่ผ่านเข้าทางปากเพื่อตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 – 15 นาที

เตรียมตัวก่อนตรวจ

กรณีมีโรคประจำตัวและยาที่ต้องใช้ประจำให้ปรึกษาแพทย์ประจำเพื่อพิจารณาการหยุดยาบางตัวที่มีผลต่อการส่องกล้องตรวจ

แพทย์ตรวจและอธิบายแผนการตรวจรักษา ข้อบ่งชี้ ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงทางเลือกอื่น ๆ และนัดหมายส่อง กล้อง โดยในวันที่มารับการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการประเมิน ซักประวัติสุขภาพอย่างละเอียด และเตรียมความพร้อมก่อนการส่องกล้อง

งดน้ำและอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ

จำเป็นต้องมีผู้ดูแลมาด้วยในวันที่รับการส่องกล้อง เนื่องจากแพทย์จะให้ยานอนหลับผู้ป่วยขณะส่องกล้อง จึง

ต้องมีผู้ดูแลพาผู้ป่วยกลับบ้าน

 

กระบวนการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

ก่อนการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการพ่นยาชาในคอ 2 ครั้ง และให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย

แพทย์ให้ยานอนหลับ จากนั้นแพทย์จะใส่กล้องส่องตรวจเข้าทางปากผ่านลำคอไปยังกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น

แพทย์จะสะกิดชิ้นเนื้ออกมาตรวจเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร และหากพบความผิดปกติหรือรอยโรคในทางเดินอาหารส่วนบน แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติม

หลังส่องกล้องเสร็จผู้ป่วยจะได้รับการดูแลต่อที่ห้องพักฟื้น 1 – 2 ชั่วโมง หรือจนตื่นดี และสามารถฟังผลการส่องกล้องได้ภายในวันที่มารับการส่องกล้อง

งดการขับรถหรือทำงานในวันที่รับการส่องกล้องตรวจ

ส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง

การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่างโดยการส่องกล้อง (Colonoscopy) เป็นการใช้กล้องชนิดอ่อนใส่ผ่านเข้าทางปากทวารขึ้นไปจนถึงลำไส้ใหญ่ทั้งหมด อาจรวมถึงการตรวจลำไส้เล็กส่วนปลาย โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20 – 30 นาที

เตรียมตัวก่อนตรวจ       

–กรณีมีโรคประจำตัวและยาที่ต้องใช้ประจำ ให้ปรึกษาแพทย์ประจำเพื่อพิจารณาในการหยุดยาบางตัวที่มีผลต่อการส่องกล้องตรวจ

–แพทย์ตรวจและอธิบายแผนการตรวจรักษา ข้อบ่งชี้ ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงทางเลือกอื่น ๆ และนัดหมายส่อง กล้อง

–รับประทานอาหารที่มีกากน้อย 2 วันก่อนตรวจ เช่น น้ำซุป, โจ๊ก งดรับประทานเนื้อสัตว์ และงดผักผลไม้ต่าง ๆ

รับประทานยาระบายตามคำสั่งแพทย์ โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาระบายจนหมด และถ่ายหลายครั้งจนอุจจาระเป็นน้ำใส ก่อนเที่ยงคืนสามารถรับประทานอาหารที่เป็นน้ำใสได้ เช่น น้ำเปล่า ซุปใส น้ำผลไม้ไม่มีกาก

งดน้ำและอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ (งดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืน)

วันที่มารับการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการประเมิน ซักประวัติสุขภาพอย่างละเอียด และอาจได้รับการสวนอุจจาระเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการส่องกล้อง

จำเป็นต้องมีผู้ดูแลมาด้วยในวันที่รับการส่องกล้อง เนื่องจากแพทย์จะให้ยานอนหลับผู้ป่วยขณะส่องกล้อง จึงต้องมีผู้ดูแลพาผู้ป่วยกลับบ้าน

 

กระบวนการตรวจลำไส้ใหญ่ 

ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้ายในท่างอเข่าชิดกับหน้าอก

แพทย์ให้ยานอนหลับและอาจให้ยาแก้ปวดร่วมด้วย จากนั้นแพทย์จะใส่กล้องส่องตรวจเข้าทวารหนักเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่

หากพบความผิดปกติหรือรอยโรคในลำไส้ใหญ่ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติมและสามารถตัดเนื้องอกที่มีขนาดไม่ใหญ่ได้

หลังส่องกล้องเสร็จผู้ป่วยจะได้รับการดูแลต่อที่ห้องพักฟื้น 1 – 2 ชั่วโมง หรือจนตื่นดี และสามารถฟังผลการส่องกล้องได้ภายในวันที่มารับการส่องกล้อง

งดการขับรถหรือทำงานในวันที่มารับการส่องกล้องตรวจ

ข้อมูล : นพ.จตุรงค์ อมรรัตนโกศล ผู้อำนวยการศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ

สอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เวลาทำการ

จันทร์ – อาทิตย์ 07.00 – 15.00 น.

โทร 0 2310 3401 – 2