ปลัด มท. ย้ำภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” มุ่งพัฒนาทุกพื้นที่เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน

ปลัด มท.

“ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเอาใจใส่ช่วยเหลือและเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการในระดับพื้นที่เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าได้เน้นย้ำในการประชุมระดับผู้บริหารกระทรวง ถึงภารกิจ การขับเคลื่อนงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ในระดับพื้นที่ ที่จะต้องส่งเสริมบทบาทนายอำเภอ และ “ทีมอำเภอ” ขับเคลื่อนงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนผ่านการดำเนินโครงการหมู่บ้านยั่งยืน ด้วยการเอาใจใส่ในการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน

หัวใจสำคัญที่ดำเนินการควบคู่กันไปคือการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงด้านความสะอาด เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ ได้ปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสำคัญ รวมถึงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน อีกทั้งกิจกรรมเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคี ความรัก ความอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเมื่อทุกครอบครัวมีความรัก ความอบอุ่น ก็จะส่งผลให้หมู่บ้านมีความรัก ความสามัคคี และส่งผลให้ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ และทั้งจังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีแต่คนรักกัน  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้รักสามัคคี เอื้ออาทรกัน

ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว คือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ณ บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม ที่ได้รับการสนับสนุนการดูแลจากผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมงานช่วยทำให้หมู่บ้านมีความสะอาด สวยงาม เป็นครัวเรือนที่พัฒนาแล้วอย่างเป็นรูปธรรม โดยการใช้สอยพื้นที่รอบบ้านปลูกพืชผักสวนครัวกันอย่างเต็มที่ทุกหลังคาเรือน และมีการบริหารจัดการขยะ ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือน อันเป็นการขยายผลส่งเสริมการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังที่ทำอย่างต่อเนื่อง และประการสำคัญ คือ การถ่ายทอดไปยังลูกหลานเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดความยั่งยืน

ปลัด มท.ระบุว่า “จุดมุ่งหมายสำคัญของการขับเคลื่อนอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอย่างยั่งยืน คือ การบูรณาการงานทุกอย่างในพื้นที่ภายใต้การบริหารงานของ “นายอำเภอ” ด้วยการมุ่งขับเคลื่อนการสร้าง “ทีมจิตอาสา” จาก 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ในการค้นหาผู้นำ 7 ภาคีให้ได้ เพื่อให้เกิด “ทีมอำเภอ” ที่มีความเข้มแข็ง และแม้ว่านายอำเภอจะย้ายไปรับราชการที่ใด หรือเกษียณอายุราชการ ทีมเหล่านี้จะยังคงมุ่งมั่นทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับอำเภอของพวกเขา เพราะพวกเขาคือคนที่มีจิตอาสาในพื้นที่

นอกจากนี้ นายอำเภอต้องพัฒนาทีม เช่น ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล พัฒนากร เกษตรตำบล สาธารณสุข และส่วนราชการอื่น ๆ ในพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็ง รู้จักหน้าที่และทุ่มเทปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่อย่างแข็งขัน รวมทั้งกระตุ้นปลุกเร้า “ทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)” ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็งและเป็นผู้นำในการระดมสรรพกำลังไปทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน ตามเป้าหมายที่ชาวมหาดไทยทุกคนได้กำหนดร่วมกันที่จะเลือกหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาน้อยที่สุด ตำบลละ 1 หมู่บ้าน รวม 7,255 หมู่บ้าน ให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” และสำหรับหมู่บ้านอื่น ๆ ในพื้นที่ตำบล ก็ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วยกัน เพราะนายอำเภอต้องดูแลประชาชนทุกตำบล และผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดูแลประชาชนทุกอำเภอ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปลัด มท. กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ ระบุว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนงานของชาวมหาดไทย คือ “การทำงานเชิงระบบ” ซึ่งคนมหาดไทยทุกคนในฐานะ “ราชสีห์ผู้มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน” และผู้ที่มีความตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำของจังหวัดต้องให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ด้วยการผลักดันให้ท่านนายอำเภอเป็น “ผู้นำทัพ” ในสนามรบของพื้นที่อำเภอ นั่นคือ “ต้องทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ทำให้ทุกอำเภอเป็น “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่แท้จริง ที่ประชาชนทุกครอบครัวอยู่ด้วยความรัก ความสามัคคี ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องปัจจัย 4 ซึ่ง “ถ้าทุกบ้านดี หมู่บ้านนั้นก็ดี  ถ้าทุกหมู่บ้านดี ตำบลนั้นก็ดี ถ้าทุกตำบลดีอำเภอก็จะดี”

ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมได้เน้นย้ำในการอบรม “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข รุ่นที่ 2” ให้ท่านนายอำเภอและทีมอำเภอ เป็นผู้นำต้องทำก่อน ต้องหมั่นลงพื้นที่ไปพบปะ ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน ศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ลงไปคลุกคลี มีความเคารพนบนอบพี่น้องประชาชนเหมือนญาติมิตรของเรา ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาตี : ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง” เพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสที่ดีของชีวิต สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของชาวมหาดไทยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีได้ประทานไว้ว่า “ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ด้วยการหมั่นลงพื้นที่เข้าไปหาพี่น้องประชาชน เข้าไปอยู่ในหัวใจของประชาชน กระทั่งรองเท้าสึก มากกว่าการนั่งโต๊ะที่ทำแค่งานเอกสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นายอำเภอต้องตระหนักเสมอว่า “ตัวเองนั้นเปรียบดังต้นข้าวที่สุกโน้มลงไปหาประชาชน” และอีกประการที่สำคัญ คือ นายอำเภอต้องเปรียบดั่งแม่เหล็กที่ดึงดูดทุกภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย มาระดมความคิด มานั่งดื่มน้ำชา มาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสะท้อนความต้องการหรือข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งหากทุกคนได้ร่วมกันทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นมรรคผล ด้วยการเริ่มที่ตัวเรา เป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ก็จะสามารถเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนได้เห็น ทำให

ประการสุดท้ายคือ “ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเอาใจใส่ช่วยเหลือและเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการในระดับพื้นที่เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ด้วยการวาง timeline ในการสนับสนุนบทบาทของท่านนายอำเภอ เพื่อต่อยอดและขับเคลื่อนต่อเนื่องจากการที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดฝึกอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีผู้นำ คือ “นายอำเภอ” สามารถขับเคลื่อนเป็นไปอย่างประสบความสำเร็จและเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ได้