ธ สถิต เหนือแดนไทย พระมหากรุณาธิคุณฝากไว้ทั่วทุกภูมิภาค

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา รอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ยาตราลงทั่วทุกตารางกิโลเมตรของแผ่นดินไทย ยังคงประทับแน่นอยู่ในผืนดินและในความทรงจำ ก่อเกิดผลเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศไทยที่มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 513,120 ตารางกิโลเมตร และประชากรกว่า 70,000,000 คน การพัฒนาให้ทั่วถึงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่เป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับพระผู้มีน้ำพระราชหฤทัยที่กว้างกว่า งานพัฒนาของไทยจึงแผ่ขยายออกไปภายใต้พระอัจฉริยภาพในการสร้างศูนย์กลางแห่งองค์ความรู้ตามภูมิสังคม เพื่อเป็นแกนกลางด้านการพัฒนาในทุกภูมิภาค

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ที่กระจายอยู่ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ทรงคัดเลือกพื้นที่ด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นตัวแทนของภูมิภาค เป็นศูนย์สำหรับศึกษาและพัฒนา ทำการค้นคว้า วิจัย ทดลอง สาธิต จนได้ผลสำเร็จเป็นองค์ความรู้วิชาการทางการเกษตรที่ราษฎรนำไปใช้ได้จริง และขยายผลออกไปจนเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างถ้วนทั่ว อีกทั้งยังมีการรวบรวมองค์ความรู้ตามลักษณะภูมิประเทศและภูมิสังคม มีการปรับปรุงองค์ความรู้อยู่เสมอ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว ความเจริญงอกงาม เป็นพลวัต มีภูมิคุ้มกัน และมีวิวัฒนาการ สมดังนิยามของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เป็นตัวอย่างของการบริหารงานรูปแบบใหม่คือการพัฒนาแบบบูรณาการ นำกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละแขนงความรู้มาทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืนให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น ในที่สุดศูนย์ศึกษาการพัฒนานั้นเป็นระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาศึกษาและได้รับความรู้ทุกแขนงด้านการเกษตรที่เป็นประโยชน์ ได้รับปัจจัยตั้งต้น นำไปใช้ในการดำรงชีพ และประกอบอาชีพ ตลอดจนอุ้มชูสังคมไทยร่วมกันต่อไป

จุดเด่นของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ในแต่ละภูมิภาค ถูกถ่ายทอดผ่านข้อความที่เรียบง่ายและสามารถจดจำได้ไม่ยาก อีกทั้งเป็นการบอกกล่าวถึงใจความสำคัญในการพัฒนาของแต่ภูมิภาคด้วย….

1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
“ป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว ก็พัฒนาได้”

2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
“ป่าพรุเสื่อมโทรม สะสมดินเปรี้ยว แกล้งดินอย่างเดียว พัฒนาได้ยั่งยืน”

3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
“การพัฒนาจากยอดเขา สู่ท้องทะเล”

4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
“สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียง”

5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
“ต้นทางเป็นป่าไม้ ปลายทางเป็นประมง ระหว่างทางเป็นเกษตรกรรม”

6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
“ฟื้นดิน คืนป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต”

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง เป็นโครงการที่ตั้งตระหง่านอย่างสง่างาม บุคลากรทำหน้าที่อย่างแข็งขันและภาคภูมิ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งด้านองค์ความรู้และร่วมใจพัฒนาด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะผ่านวิกฤตการณ์ใด ๆ ก็ตาม ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล สร้างสานสายใยผ่าน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ที่ยังคงดำรงอยู่ เป็นเสมือนตัวแทนแห่งพระเมตตา ที่ดูแลเหล่าราษฎรชาวไทยในแต่ละภูมิภาคตลอดมา แม้เวลาแห่งความโศกศัลย์จะผ่านมาถึง 6 ปีแล้ว พสกนิกรชาวไทยต่างผ่านเหตุการณ์สุขทุกข์ มาหลายครั้งครา ในช่วงที่พระองค์ไม่อยู่ แต่อย่างไรก็ดี ผลสำเร็จจากการทรงงานหนักของพระองค์ก็ได้ก่อให้เกิดมรดกที่สร้างประโยชน์ต่อเนื่องให้ชาวประชาในทุกพื้นที่ของประเทศไทยสืบไป