การเคหะแห่งชาติ เดินหน้าโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง จัดอบรม “ส่งเสริมบทบาทผู้นำตามธรรมชาติ” ชุมชนรามอินทรา

การเคหะแห่งชาติ

การเคหะแห่งชาติ เดินหน้าโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง จัดอบรม “ส่งเสริมบทบาทผู้นำตามธรรมชาติ” ชุมชนรามอินทรา สร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วม พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในชุมชนอย่างยั่งยืน

“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา” หนึ่งในโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองที่การเคหะแห่งชาติบรรจุไว้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) มีเป้าหมายจัดสร้าง จำนวน 4,000 หน่วย รองรับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย จำนวน 2,800 หน่วย ผู้มีรายได้ปานกลาง จำนวน 800 หน่วย และผู้มีรายได้สูง จำนวน 400 หน่วย มีแนวคิดการออกแบบโครงการฯ ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งผู้สูงอายุ และคนพิการ

และนอกจากการปรับปรุงทางด้านกายภาพแล้ว การเคหะแห่งชาติยังให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมบทบาทของผู้นำชุมชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์และพันธกิจของการเคหะแห่งชาติ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”

นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มอบหมายให้ตนเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรม “ส่งเสริมบทบาทผู้นำตามธรรมชาติและสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง การเคหะแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนแผนงานด้านสังคมและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทราอย่างต่อเนื่อง เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานและความก้าวหน้าของโครงการฯ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน

“จุดมุ่งหมายของการจัดอบรมฯ คือการสร้างผู้นำชุมชนที่ดี ผู้นำที่เกิดจากสัญชาตญาณหรือมีความเป็นผู้นำตามธรรมชาติ มีความพร้อมในการทำงาน มีความเสียสละ ตลอดจนสามารถกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน อีกทั้งยังมีความรักและความหวงแหนในชุมชนอันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป”

นายเสกสรร พงษ์ศาสกุลโชติ หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม เล่าให้ฟังว่า ตนอาศัยในชุมชนรามอินทรามาตั้งแต่ปี 2521 เมื่อเวลาผ่านไปชุมชนรามอินทราทรุดโทรมไปตามสภาพ รู้สึกยินดีที่การเคหะแห่งชาติเล็งเห็นความสำคัญต่อการปรับปรุงพัฒนาฟื้นฟูเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำมาสู่การอบรมในครั้งนี้ ซึ่งทำให้ค้นพบว่า การเป็นผู้นำธรรมชาติเป็นได้ด้วยตัวเอง และเป็นได้ทุกคน โดยจะนำประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิกคนอื่น ๆ ในชุมชน และเชื่อว่าถ้าทุกคนมีความความตั้งใจและสามัคคีจะสามารถร่วมกันพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน

นางอัจฉราวดี เศรษฐสุทธิ หนึ่งในสมาชิกชุมชนรามอินทราซึ่งทำหน้าที่เป็น อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ตระหนักว่าทุกการพัฒนาต้องเริ่มจากตัวเราเองเป็นสิ่งแรก ที่สำคัญทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของความสามัคคีปรองดองต่อการพัฒนาชุมชน และเข้าใจบทบาทของผู้นำชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้นำจะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สิ่งสำคัญที่สุคคือ ต้องรู้จักรับฟังเสียงของลูกบ้านและเพื่อนบ้านด้วย