กสศ. MOU ภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบ ‘อพม. Smart’ และ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม

กสศ. MOU

‘ESS Thailand’ ประสานความร่วมมือหน่วยงานในท้องถิ่น สร้างระบบดูแลช่วยเหลือและส่งต่อเด็กเยาวชน ผู้ประสบปัญหาทางสังคมในภาวะฉุกเฉิน เตรียมขยายผลใช้งาน 77 จังหวัด เม.ย. นี้ พม. ย้ำลงทุนคุ้มค่าช่วยคนนับแสน

14 มีนาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือเด็กเยาวชนและผู้ประสบปัญหาทางสังคม ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ อพม. Smart และบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาระบบการแจ้งเหตุ ช่วยเหลือ และส่งต่อเด็กเยาวชนด้อยโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม หรือ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน Emergency Social Services: ESS Thailand โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งระบบ อพม. Smart และ ระบบ ESS Thailand ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สามารถช่วยเหลือประชาชนได้นับแสนคน และต้องขอขอบคุณ กสศ. และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ ตลอดจนความร่วมมือเป็นอย่างดีของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้พัฒนาและขยายผลระบบการช่วยเหลือดังกล่าวขึ้น เพื่อช่วยเหลือและส่งต่อเด็กเยาวชนด้อยโอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคมให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการ โดยมีอาสาสมัครจากส่วนต่าง ๆ เป็นผู้เฝ้าระวังเหตุและรับแจ้งเหตุทั่วประเทศ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาระบบการดูแล ช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม (การขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ : อพม. Smart) เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อนำระบบการส่งต่อให้การดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนและครอบครัวด้อยโอกาสที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางการศึกษาและสังคม ผ่าน application อพม.Smart บนโทรศัพท์มือถือด้วยบริการทางสังคมเชิงรุกในการดูแลช่วยเหลือในระดับพื้นที่

โดยอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม. สามารถแจ้งเหตุส่งข้อมูลขอรับความช่วยเหลือ ผ่าน  Web Application ระบบจะประมวลผลและติดตามข้อมูลได้แบบ Real Time  ระบบดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอน ภาระทางเอกสาร ระยะเวลา และกระบวนการทำงานระหว่าง อพม. และเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในระบบจะนำมาประมวลผลเพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาคให้กับเด็กเยาวชนและครอบครัวที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาและสังคมต่อไป ซึ่ง กสศ. พม. และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ จะร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายผลระบบการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ดร.ไกรยส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาระบบการแจ้งเหตุ ช่วยเหลือ และส่งต่อเด็กเยาวชนด้อยโอกาสและครอบครัว เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม หรือ ระบบ Emergency Social Services: ESS Thailand  กสศ. ร่วมกับกระทรวง พม. สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พัฒนาระบบและกลไกในการสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กเยาวชน กลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส และครอบครัว เข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม สิทธิ สวัสดิการ และชุดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม  และสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในการดูแล ช่วยเหลือเด็กเยาวชน กลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส และครอบครัวอย่างเหมาสมและทันท่วงที

“บทบาทของ กสศ. คือ การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา และบูรณาการฐานข้อมูลรายบุคคลระหว่างภาคี สำหรับการดูแลกลุ่มเปราะบางด้อยโอกาส และครอบครัว เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาหรือการพัฒนาตามศักยภาพ สนับสนุนการพัฒนางานวิจัย องค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้กลุ่มเด็กเยาวชนยากจนด้อยโอกาส รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ได้รับบริการ การคุ้มครอง และเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เหมาะสม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นจากความไม่พร้อมทางสังคมได้ ตลอดจนเหนี่ยวนำความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วน อาทิ เครือข่ายภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดูแลและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และประเทศไทย ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับสิทธิประโยชน์สวัสดิการตามช่วงวัยและตามกรณีได้อย่างเหมาะสม รวมถึงร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

สำหรับการทำงานของระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม (Emergency Social Services: ESS) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อเป็นช่องทางในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคมทั่วประเทศ จะให้บริการเฉพาะปัญหาที่มีความเร่งด่วน ผ่านระบบ Line OA สามารถค้นหาด้วยคําว่า @ESS Help Me ในระบบ Line และดำเนินการเพิ่มเพื่อน จากนั้นผู้ประสบปัญหาหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์ จะสามารถแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่ประสบได้ โดยเลือกระบุปัญหาเป็น 5 กลุ่ม

1) ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้าย  2) กักขังหน่วงเหนี่ยว  3) เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ 4) ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และ 5) มั่วสุมจนก่อให้เกิดเหตุร้าย เพียงเท่านี้ข้อมูลจะส่งเข้าไปยังกลุ่มไลน์ที่มีทีมสหวิชาชีพในพื้นที่นั้น ๆ เป็นแอดมินร่วมกันอยู่ อาทิ ตำรวจ พมจ.  หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด อัยการจังหวัด หรือเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งหลังได้รับการแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีที่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะเข้าไปดำเนินการระงับเหตุหรือบรรเทาเหตุที่เกิดขึ้นได้ในทันที


ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ระบบ ESS เป็นบริการแจ้งเหตุอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวก รวดเร็ว ผู้ใช้งานสามารถแชร์พิกัดจุดเกิดเหตุได้แม่นยำ ช่วยลดความเสี่ยงหรือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากเหตุความรุนแรง ช่วยให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ด้วยการรวบรวมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาไว้ในที่เดียวกัน จึงสามารถดูแลและส่งต่อผู้ประสบเหตุถึงมือทีมสหวิชาชีพได้ตรงกับสถานการณ์ปัญหา รวมถึงมีแนวทางในการดูแลความสูญเสียและความปลอดภัยของผู้ประสบเหตุต่อเนื่องในระยะยาว จนกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง โดย พม. และกสศ.จะเริ่มเปิดใช้ระบบแจ้งเหตุ ESS ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายน 2566 ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ภายในงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2566