มูลนิธิ 50 ปี ธปท. ร่วมมือ กสศ. สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา สนับสนุนทุนสายอาชีพต่อเนื่อง 5 ปี

มูลนิธิ 50 ปี

24 มีนาคม 2566 ณ วังบางขุนพรหมธนาคารแห่งประเทศไทย มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และความร่วมมือทางวิชาการ โดยมี ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ประธานกรรมการมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมลงนาม

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ประธานกรรมการมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ดังที่ทราบกันว่าการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยยังประสบปัญหาว่ามีนักเรียนจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนก่อนเวลาอันควร โดยสาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้เสียโอกาสด้านเศรษฐกิจ และไม่สามารถพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนได้อย่างเต็มที่

ปี 2535 ในโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการครบ 50 ปี จึงจัดตั้งมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาทางการศึกษา โดยงานหลักของมูลนิธิคือการช่วยเหลือและสนับสนุนทุนการศึกษาให้นักเรียนที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา มีนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิแล้วกว่า 2,000 คน ทั่วประเทศ และเป็นการช่วยสร้างบุคลากรบุคคลในหลากหลายสาขาอาชีพ

“วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทางมูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย จะได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ กสศ. ในการช่วยกันสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในสายอาชีพ ซึ่งคือกลุ่มคนทำงานที่จะมีบทบาทในโลกยุคใหม่ และคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราในอนาคต ถือเป็นก้าวสำคัญของมูลนิธิ ฯ ในการเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคมในระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาต่อหลังเรียนจบภาคบังคับผ่านโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ดังนี้

  1. ทุนช่วยเหลือการศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงระดับ ปวช. ถึง ปวส. ต่อเนื่อง 5 ปี จำนวน 30 ทุน ประกอบด้วย ทุนช่วยเหลือการศึกษาในระดับ ปวช. 3 ปี ปีละ 5,000 บาท, ทุนช่วยเหลือการศึกษาในระดับ ปวส. 2 ปี ปีละ 10,000 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 2,500 บาท เป็นเวลา 5 ปี
  2. ทุนช่วยเหลือการศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ ระยะเวลาเรียน 1 ปี จำนวน 30 ทุน ประกอบด้วย ทุนช่วยเหลือการศึกษาหลักสูตรปีละ 20,000 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 2,500 บาท”

“มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย มองเห็นโอกาสความคุ้มค่าและผลตอบแทนของการลงทุน เนื่องจากเห็นสถิติเด็กเยาวชนที่ยากจนที่สุด 15% ล่างของประเทศไทย ที่มักหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังเรียนจบชั้น ม.3 การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้มีทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต และหลุดออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้”

ดร.ชญาวดี ระบุว่า “มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย จะใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. ในการคัดเลือกนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส เพื่อจัดสรรทุนการศึกษาให้ครอบคลุมผู้รับทุนในทุกภูมิภาคของไทย นอกจากนี้ในบันทึกความร่วมมือ ยังมีการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่นักเรียนทุน ผู้ปกครอง ครู และชุมชนตามข้อมูลของ กสศ. เพื่อบ่มเพาะภูมิคุ้มกันให้นักเรียนทุนมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ทั้งยังส่งเสริมให้นักศึกษาทุนและสถาบันอาชีวศึกษาที่เกี่ยวข้อง มีบุคลากรที่บริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม สามารถเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้มุมมองรอบด้าน พร้อมก้าวเข้าสู่โลกการทำงานและรับผิดชอบดูแลครอบครัวได้เต็มที่ยิ่งขึ้น อีกทั้งความร่วมมือครั้งนี้ ยังได้รับการเติมเต็มด้านวิชาการจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษาวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาไทยในระยะต่อไป

“โอกาสนี้ ทางมูลนิธิ ฯ ขอขอบคุณ กสศ. ในความร่วมมือที่เกิดขึ้นและจะมีต่อเนื่องไปในอนาคต เพื่อมุ่งมั่นสืบทอดเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่ กสศ.ทำมาตลอด 5 ปีของการทำงาน คือวิเคราะห์โจทย์ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโจทย์หนึ่งที่เป็นข้อค้นพบคือ ถ้าประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมีสเถียรภาพในการฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ได้ เราจำเป็นต้องมี ‘คน’ ที่มีคุณภาพ ซึ่งการจะทำได้ต้องเริ่มจากการสร้างโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษา

จากข้อมูลของ กสศ. โดยการทำงานของครูกว่าสี่แสนคนที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กตลอดสี่ปี ทำให้ทราบว่าปัจจุบันมีเด็กเยาวชนไทยมากกว่าสองล้านคนเป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประชากรกลุ่มใต้เส้นความยากจน 15-20% ล่างสุดของประเทศ กสศ. ได้ดูแลกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 อันเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นช่วงชั้นรอยต่อไปสู่การศึกษาในระดับสูง เป็นที่มาของการที่ กสศ. จับโจทย์การดูแลกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มุ่งศึกษาต่อในสายอาชีพ ในสาขาขาดแคลนและสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยกำลังที่มี กสศ. จึงสนับสนุนทุนเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้เพียงจำนวนหนึ่ง เป็นที่มาของการเหนี่ยวนำความร่วมมือจากหน่วยงานที่สนใจ เพื่อเข้ามาร่วมกันทำงานสร้างโอกาสทางการศึกษาไปด้วยกัน

“การมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา มีความหมายต่อการสร้างความเสมอภาคของประเทศ ตลอด 5 ปี ที่ กสศ. ทำงานกับกลุ่มประชากรยากจนด้อยโอกาส พบว่าในวงจรความยากจนข้ามรุ่น มีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือสมาชิกในครัวเรือนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ส่วนใหญ่จึงก้าวออกไปเป็นแรงงานไร้ทักษะ ไม่มีสวัสดิการดูแลตัวเอง ข้อมูลระบุว่าเกือบ 70% ของหัวหน้าครัวเรือนยากจน มีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า เมื่อเจาะลึกที่ผลสำรวจระดับการศึกษาของบิดาและมารดาของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พบว่า 85.65% มีระดับการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับหรือระดับ ม.3 หากเด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ไม่สามารถไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่า ชีวิตที่ต้องวนเวียนอยู่ในวงจรความยากจนข้ามรุ่นก็มีโอกาสที่จะดำเนินต่อไป ขณะที่ถ้าประชากรกลุ่มนี้สามารถข้ามผ่านการศึกษาภาคบังคับ มีทักษะการทำงานและมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น จะเป็นการลดการใช้ทรัพยากรจากภาครัฐในการดูแล และพากลุ่มเป้าหมายไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จ”

ดร.ไกรยส อธิบายว่า “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นโครงการที่ กสศ. สนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษที่ครัวเรือนมีรายได้ต่ำที่สุด 15% ล่างของประเทศ ให้ได้ศึกษาต่อในระดับอาชีวะศึกษา ปวช. ปวส. หรือระดับประกาศนียบัตร 1 ปี ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ หลังเรียนจบภาคบังคับ โดยเริ่มดำเนินการโครงการทุนฯ นี้มาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาทุนสะสมทั้งหมด 9,614 คน ในสถานศึกษา 116 แห่ง จาก 44 จังหวัด รวมกว่า 30 สาขา สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งนอกจากการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กๆ แล้วเรายังทำงานในเชิงคุณภาพร่วมกับสถาบันอาชีวะศึกษาและสถานประกอบการอีกด้วย

“ภายใต้ภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชกรในประเทศทุกช่วงวัย ทำให้ กสศ. มีงบประมาณในการดำเนินโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพียง 0.6% ต่อรุ่น หรือจำนวน 2,500 ทุนต่อปี การสนับสนุนจากมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยเพิ่มจำนวนนักศึกษาทุน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการดูแลเรื่องการศึกษา ความรู้ทางการเงินยังเป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในการบริหารทุนการศึกษาที่ได้รับ อีกทั้งความร่วมมือด้านงานวิจัยทางวิชาการ ซึ่ง กสศ. มีสถาบันวิจัยที่พร้อมทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมถึงหน่วยงานวิชาการต่าง ๆ ในประเทศ ที่จะช่วยขับเคลื่อนงานให้ไปข้างหน้าได้ดีขึ้น โดยทั้งหมดนี้ กสศ. อยากสนับสนุนให้เกิดวงจรการทำงานร่วมกัน ในเรื่องการแบ่งปันทรัพยากร ความรู้ การทำงานวิชาการ เพื่อความยั่งยืนของการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของประเทศ ที่เด็กไทยไม่ว่าเกิดมายากดีมีจน หากมีความตั้งใจ มีศักยภาพ เขาจะต้องไปได้สุดทาง

“นี่คือนิยามของความเสมอภาคทางการศึกษาบนหลักการที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนต้องได้รับเท่ากัน แต่เด็กเยาวชนแต่ละคนที่มีความจำเป็นพื้นฐานต่างกัน ความสามารถแตกต่างกัน จะต้องได้รับความช่วยเหลือที่ตรงความจำเป็น และตรงกับศักยภาพสูงสุด เพื่อให้ในท้ายที่สุดเด็กเยาวชนเหล่านี้จะได้มีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาประเทศให้ยั่งยืนและมีสเถียรภาพต่อไป” ดร.ไกรยส กล่าว