กรุงเทพฯ เมืองปลอดภัย ท้องถนนปลอดภัย

กรุงเทพ

“เมืองที่ดีต้องเริ่มต้นที่ความปลอดภัย” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง การใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะและผู้ที่สัญจรทางเท้า โดยกำหนดให้เป็น 1 ในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นคือด้านเดินทางดี ซึ่งครอบคลุมการเดินทางรอบด้าน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็น Smart City เมืองที่ปลอดภัยและคนปลอดภัยอย่างแท้จริง

ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัย ให้สิทธิคนเดินถนน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวว่า “เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ต้องขับเคลื่อนทุกอย่างไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและรณรงค์ให้คนตระหนักรู้ ปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องการข้ามทางม้าลาย ในภาพรวมเริ่มดีขึ้น เราเริ่มเห็นรถหยุดให้คนข้ามทางม้าลายมากขึ้น ต้องช่วยกัน ทุกคนมีส่วนให้เมืองนี้ปลอดภัยขึ้นได้”

ในส่วนของเรื่องพฤติกรรมควรช่วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการให้สิทธิคนเดินถนน คนขับรถเองต้องหยุดให้คนข้ามถนน การใช้ความเร็วที่ลดลงในเขตชุมชน และคนข้ามถนนก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง รอให้รถหยุดสนิทก่อนข้ามทางม้าลาย ช่วยกันรณรงค์ให้เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ให้สิทธิคนเดินถนนมากกว่ารถยนต์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยร่วมกัน

ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางด้านกายภาพ

นอกจากการรณรงค์และการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ที่ผ่านมา กทม. ยังให้ความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยด้านกายภาพ โดยในปี 2565 สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ดำเนินการทำความสะอาดทางข้าม โดยล้างทำความสะอาดทางม้าลายไปแล้ว 421 แห่ง ทาสีโคลด์พลาสติก (สีแดง) จำนวน 145 แห่ง ปรับปรุงทาสีทางข้ามทางม้าลายที่ซีดจางและชำรุด 1,000 แห่ง และในปี 2566 มีแผนดำเนินการล้างทำความสะอาดทางม้าลายอีก 500 แห่ง ทาสีทางข้ามด้วยโคลด์พลาสติก (สีแดง) อีก 210 แห่ง ปรับปรุงทาสีทางข้ามทางม้าลายที่ซีดจางและชำรุด จำนวน 500 แห่ง

การปรับปรุงสัญญาณจราจร

กทม. ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 4 แห่ง สัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม 50 แห่ง และสัญญาณไฟข้ามทางม้าลายบริเวณทางแยก จำนวน 85 แห่ง ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง และสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้ามอีก 50 แห่ง รวมถึงเปลี่ยนโคมไฟส่องสว่างเป็นไฟ LED อีก 25,000 แห่ง รวมทั้งพัฒนาระบบเทคโนโลยีทางข้าม อาทิ ระบบแจ้งเตือนกำหนดการตรวจสอบทางข้าม เมื่อครบกำหนดเวลา 2 ปี โดยใช้เครื่องตรวจวัดการสะท้อนแสง หากพบมีการชำรุดจะดำเนินการซ่อมแซม หากนอกเหนือความรับผิดชอบของหน่วยงาน กทม. จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการร่วมกันต่อไป

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้อง CCTV

กทม. ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ป้องกันการเกิดเหตุอาชญากรรม พร้อมตรวจดูสถานการณ์ อุบัติเหตุต่าง ๆ บนท้องถนน หากพบเหตุอันตราย เช่น อุบัติเหตุ โจรกรรม หรือทรัพย์สินสูญหาย เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประสบเหตุที่ต้องการหลักฐานอีกด้วย โดยล่าสุดเปิดให้ผู้ที่ต้องการขอไฟล์ภาพออนไลน์กล้องวงจรปิด (CCTV) ของ กทม. ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ไม่สะดวกเดินทางมาขอภาพด้วยตนเอง เพียงแค่แจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ จากนั้นแจ้งความประสงค์ขอไฟล์ภาพได้ 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที e-Book กทม.สาร  https://link.bookkurry.com/bkk_news_issue_285