หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) พื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนของคนไทย

หมู่บ้านยั่งยืน

หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) พื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนของคนไทย คุยกับ ปลัด มท.ความมุ่งมั่นตั้งใจไปสู่เป้าหมาย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสิ่งสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยได้มุ่งมั่นในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติทั้ง 17 ข้อ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ด้วยแนวคิด Change for Good ดังคำกล่าวที่ว่า “1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทย” ร่วมกับสหประชาชาติ “โลกนี้เพื่อเรา” เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565

“นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยและทรงให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับพระราชทานพระอนุญาตให้นำแนวพระดำริดังกล่าวมาขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง โดยมีต้นแบบการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน ณ บ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งพระองค์ท่านได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนและพระราชทานกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน ในการทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

จุดเด่นของบ้านดอนกอย คือ มีความสะอาด สวยงาม แสดงถึงการเป็นครัวเรือนที่พัฒนาแล้ว มีการใช้สอยพื้นที่รอบบ้านปลูกพืชผักสวนครัวทุกหลังคาเรือนเพื่อความมั่นคงทางอาหารตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และมีการบริหารจัดการขยะ คัดแยกขยะ มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือน สอดคล้องตามแนวทางหมู่บ้านยั่งยืนและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ยังมีต้นแบบการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืนอีกพื้นที่หนึ่ง คือ บ้านเกาะ หมู่ 5 ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนเพื่อความยั่งยืนและเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) ของกระทรวงมหาดไทย โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” นำพื้นที่สาธารณะมาปลูกไม้ผลเต็มพื้นที่ และต่อมาด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงน้อมนำสิ่งที่เป็นความสำเร็จของตำบลโก่งธนู คือ ความมั่นคงด้านอาหาร และน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องของการนำภูมิปัญญาผ้าไทยมาส่งเสริมเพื่อก่อให้เกิดรายได้เพิ่มและเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน”

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) จะสำเร็จได้ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 5 เรื่องด้วยกัน เริ่มจากองค์ประกอบที่ 1 “นายอำเภอในฝัน” ในฐานะผู้นำการบูรณาการของอำเภอนายอำเภอที่ต้องมี “ภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรืออาจเรียกว่า DNA นายอำเภอ ได้แก่ DNA ที่ 1 จิตใจ ต้องมีความรู้สึกใส่ใจประชาชน คนรอบข้าง และทีมงาน เป็นที่รัก ศรัทธา และภาคภูมิใจของประชาชน และมี Passion มุ่งมั่นพัฒนางานที่รับผิดชอบโดยไม่ต้องรีรอคำสั่ง

 DNA ที่ 2 ทัศนคติ ต้องคิดบวก ทำให้ทุกคนในอำเภอมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความสามัคคี เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำงานเป็นครอบครัวเดียวกัน ลงไปคลุกคลีตีโมงกับพี่น้องประชาชน มีมุมมองที่ลึกและกว้างไกล มองเห็นโอกาสและแนวทางการมุ่งสู่การพัฒนาเสมอ DNA ที่ 3 จิตวิญญาณความเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความเป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดี เป็นคนมหาดไทยที่เป็นที่พึ่งพิง พึ่งพา บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน และ DNA ที่ 4 ความมีวินัย ที่ต้องสูงกว่าคนทั่วไป มีจิตใจที่รุกรบ มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้อุปสรรค และไขว้คว้าหาทางเพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีความสุข

องค์ประกอบที่ 2 “สร้างทีม สร้างพลัง” ด้วยการสร้างและขับเคลื่อนทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ เป็นผู้นำในการบริหารจัดการงานทุกกระทรวงในพื้นที่ให้เกิดผลสำเร็จและประโยชน์ต่อประชาชนที่ย่อมมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ต่างกัน สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานต่าง ๆ หรือแนวคิดดี ๆ ต่าง ๆ ยังคงได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง นายอำเภอต้องสร้างทีมในทุกระดับ ทั้งระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ทำงานลักษณะคู่ขนาน (Dual Track) ได้แก่ ทีมที่เป็นทางการหรือทีมตามกฎหมาย เช่น กรมการอำเภอ ข้าราชการในอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมที่ไม่เป็นทางการหรือจิตอาสา ที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเสียสละ จาก 7 ภาคี เครือข่าย

องค์ประกอบที่ 3 “ระบบบริหารจัดการชุมชนดี มีพลัง” ด้วยการนำระบบคุ้มบ้านเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้การบริหารจัดการชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะ 1 คุ้ม จะดูแลสมาชิกประมาณ 25 ครัวเรือน ทำให้ดูแลได้อย่างใกล้ชิด มีผู้นำคุ้มช่วยงานหมู่บ้านเพิ่มขึ้น และสามารถพัฒนาให้เป็นผู้นำหมู่บ้านในอนาคต

องค์ประกอบที่ 4 “บูรณาการงาน บูรณาการคน : ประสมงาน ประสานใจ เป้าหมายคือชุมชน” ด้วยการกระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานพัฒนา “ร่วมพบปะพูดคุย ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการ ร่วมคิดร่วมวางแผน และร่วมรับประโยชน์” สร้างสำนึกความเป็นชุมชน ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดรูปแบบชุมชนเอง เพราะชุมชนเป็นผู้รับผลของการพัฒนา

และองค์ประกอบที่ 5 “ชุมชนเรียนรู้ สู่หมู่บ้านยั่งยืน” ซึ่งชุมชนจะเข้มแข็ง จะอยู่รอดได้ด้วย 3 ทุนหลัก คือ ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา และทุนทางสังคม (ความเอื้ออาทร) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) จะสำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบูรณาการให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ รวมทั้งเป็นหน้าที่สำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ในการสนับสนุนการขับเคลื่อน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ต้องเป็นผู้นำการบริหารจัดการงานของทุกกระทรวงในพื้นที่แบบบูรณาการให้บรรลุผลสำเร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ด้วยการสร้างเครือข่าย เชื่อมประสานและสร้างพลังเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน) จนสามารถพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่พร้อมทั้งกำหนดให้การขับเคลื่อนเป็นวาระของจังหวัด

โดยจังหวัดบริหารจัดการและกำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงาน บูรณาการแผนงาน โครงการ กิจกรรมและงบประมาณในทุกระดับ จัดหาทรัพยากร ให้สอดคล้องตามหลักการบริหาร (งาน งบ ระบบ คน) และติดตาม ประเมินผล ด้วยการลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานและประเมินผล ทำหน้าที่สอนงาน (Coaching) ให้กับทีมอำเภอ และสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ถ้วนทั่วภายในจังหวัด และที่สำคัญคือ ต้องมีระบบฐานข้อมูลเพื่อการติดตาม หนุนเสริม และประเมินผล” โดยจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ตลอดจนออกแบบแบบจำลองหรือโมเดลเพื่อจัดเก็บข้อมูล จัดทำฐานข้อมูลในการติดตามผลการดำเนินงาน นำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางสำหรับพื้นที่อื่นต่อไป และ “การสื่อสารสังคมเชิงรุก” ด้วยการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่โครงการให้เป็นที่รับรู้ของประชาชน สังคม

ปลัด มท.กล่าวในตอนท้าย “ขอให้ทุกภาคส่วนและทุกภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เนื่องจากภารกิจของทุกกระทรวง คือ คำตอบของการทำให้หมู่บ้านยั่งยืน และภารกิจของทุกกระทรวง คือภารกิจของคนมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด นายอำเภอเป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ปลัดอำเภอคือรองนายกรัฐมนตรีของอำเภอช่วยเหลืองานของนายอำเภอและเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีในตำบลและหมู่บ้าน ที่ต้องผลักดันให้ผู้รับผิดชอบงานของทุกกระทรวง ทุกกรม ทำงานอย่างเข้มแข็ง สร้างทีมอำเภอจาก 7 ภาคีเครือข่าย ทำให้ครอบครัวอยู่กันด้วยความรัก ความสามัคคี มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เริ่มต้นจากตำบลละ 1 หมู่บ้าน ไปสู่การดำเนินการในทุกหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืนตำบลยั่งยืน อำเภอยั่งยืน และจังหวัดยั่งยืน อันจะทำให้เกิดการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ต่อไป”