“มหาดไทย” โซ่ข้อกลางสร้างพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนให้กับประชาชน

“มหาดไทย”

“เรากระตุ้นปลุกเร้าให้คนมหาดไทยทุกคนมี passion ของการเป็นราชสีห์ผู้เสียสละ ทุ่มเท และมีทัศนคติที่ดีในการให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทุกเป้าหมาย โดยมุ่งมั่นทุ่มเททำงานแบบบูรณาการคน ด้วยการให้ความสำคัญกับ partnership และงานทุกเรื่องที่จะส่งผลให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน เพื่อทำให้ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” พื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สะท้อนถึงวิถีการทำงานของคนมหาดไทยที่มีองคาพยพอยู่ในทุกอณูของผืนแผ่นดินไทยทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,086 หมู่บ้าน 7,850 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นทรัพยากรบุคคลของภาครัฐที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด และด้วยความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุดนี่เอง จึงเป็นความคาดหวัง ในการเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน ตลอดจนเพื่อนข้าราชการ และบุคลากรภาครัฐของทุกกระทรวง ทุกกรม ผู้นำศาสนา ผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเป็นที่สนใจของภาคีเครือข่ายภาคสื่อสารมวลชนที่ทำหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนการทำงานของคนมหาดไทยจนกลายเป็นคำถามที่สังคมไทย และประชาชนทุกช่วงวัยต่างสงสัยว่า คนมหาดไทยทุกวันนี้ทำงานอย่างไร ? คนมหาดไทยมีส่วนในการช่วยเหลือสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร ? ท่ามกลางพลวัตความเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แล้วทิศทางการทำงานของคนมหาดไทยจะเป็นอย่างไร ?

“ที่จริงแล้วคนมหาดไทยเป็นเหมือนหนุมาน ที่เราต้องเป็นเสมือนกระโถนท้องพระโรง หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ เรารับทุกเรื่องที่เป็น “ทุกข์ของชาวบ้าน” เป็นทุกข์ของพวกเรา เป็นงานของพวกเรา ด้วยการมุ่งมั่นทุ่มเท “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน ซึ่งไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานใดก็ตาม มันคือ “งานของคนมหาดไทย” เพราะงานของคนมหาดไทยนั้นไม่สามารถจำแนกแจกแจงหรืออรรถาธิบายได้เป็นข้อ ๆ เป็นมาตรา ๆ เหมือนกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความจำเพาะเจาะจงตามที่กฎหมายว่าด้วยเรื่องนั้น ๆ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้

เนื่องด้วยการทำงานของคนมหาดไทยนั้นถูกผูกโยงผูกยึดกับพื้นที่ทุกอณูของผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หน้างานของทุกกระทรวง ทุกกรม ก็จะลงมาเป็นหน้าที่ของคนทุกส่วนที่กล่าวมานี้ จึงประมวลได้ว่า หน้าที่ของคนมหาดไทย คือ “Public Interest” หรือการสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ประโยชน์ต่อสาธารณะ ในฐานะที่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีความคิดในการรับใช้พี่น้องประชาชน เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้คนมีความสุข เป็นสังคมที่ประเทศชาติมีความมั่นคง ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ต้องมีความเข้มแข็ง ประชาชนต้องมีความสุข ด้วยการมีค่านิยมที่ดี มีวัฒนธรรมการทำงานที่ดี มุ่งมั่นลงพื้นที่ มุ่งมั่นทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนด้วยความจริงใจ ทุ่มเท เสียสละ อุทิศกำลังกาย กำลังใจ และทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ “ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ปลัด มท. กล่าวต่อว่า การทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของคนมหาดไทยจะทำงานแต่เพียงลำพังแค่คนมหาดไทยนั้นคงไม่สามารถที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ ความสุขที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนได้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการริเริ่มนำแนวคิดการทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ด้วยการโค้ชชิ่ง “นายอำเภอ” และทีมงานของอำเภอที่ประกอบด้วย 7 ภาคีเครือข่ายจากพื้นที่อำเภอ อำเภอละ 10 คน รวม 8,780 คน รวมถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ท่านรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าการ ผู้อำนวยการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงมหาดไทย

โดยมีจุดเน้นว่า การทำงานที่จะทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุขได้นั้น “ใจ” หรือ (Passion) ต้องมาเป็นลำดับแรก ตามด้วย “ทัศนคติ (Attitude)” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเป็นราชสีห์ผู้ยิ่งใหญ่ที่จะทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่างในลักษณะ One man show แต่คนมหาดไทยต้องให้ความสำคัญของการทำงานกับภาคีเครือข่าย ทำงานกับหุ้นส่วนในลักษณะ Partnership ต้องมี “ทีม” ทั้ง “ทีมที่เป็นทางการ” อันประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และ “ทีมที่ไม่เป็นทางการ หรือ ทีมจิตอาสา” อันประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายทั้งผู้นำศาสนา พระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม บาทหลวง ผู้นำจิตวิญญาณ ผู้นำวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ครูในโรงเรียน ครู กศน. ภาคเอกชน ธุรกิจ ห้าง ร้าน ภาคประชาสังคม สมาคม มูลนิธิ ชมรม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน รวมทั้งต้องมี “ความสามารถ (Ability)” และ “ความรู้ (Knowledge)”

เมื่อนำองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกัน และพุ่งเป้า “ทำงานเป็นทีม” ใช้กลไก 3 ระดับ คือ ระดับพื้นที่/ชุมชน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ 5 กลไก คือ การประสานงานภาคีเครือข่าย การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ การติดตามหนุนเสริมและประเมินผล การจัดการความรู้ และการสื่อสารสังคม ต้องร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ด้วยคนในพื้นที่ ที่เกิดจากภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทำให้เกิดความตระหนักรู้ ความตื่นรู้ ความตื่นตัวให้ประชาชนลุกขึ้นมาดูแลคนในสังคมด้วยกัน ทำให้ผู้นำในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ตัวอย่างการขับเคลื่อนอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการที่ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบ คือ พื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พื้นที่อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก โดย “นายอำเภอ” ในฐานะผู้นำการบูรณาการของอำเภอเป็นผู้มีภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างทีมและกระตุ้นปลุกเร้า สร้างพลังใจให้กับทีมงานอยู่เสมอ หรือเรียกได้ว่า เป็นการบูรณาการทีม บูรณาการคน บูรณาการงาน และบูรณาการพื้นที่ กระทั่งทำให้ทุกปัญหาของพื้นที่สามารถแก้ไขได้ด้วยพลังของ “ทีมอำเภอ” ที่แม้ว่าในอนาคตนายอำเภอจะต้องย้ายไปที่อื่น หรือย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น แต่สิ่งที่นายอำเภอได้บูรณาการร่วมกับทีมไว้แล้วนั้นจะยังคงอยู่ และเมื่อนายอำเภอท่านใหม่มาดำรงตำแหน่ง ก็จะเห็นถึงเจตจำนงร่วมกับของคนในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ก็จะทำให้สิ่งดี ๆ ที่เป็นความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชนยังคงอยู่ และได้รับการสานต่อ การพัฒนาต่อเนื่องตลอดไปอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ตำบลต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ที่บ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวพระราชดำริ และเสด็จทรงเยี่ยมเยียน พระราชทานกำลังใจและแนวทางการดำเนินชีวิตให้มีความสุขอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน

กุญแจสำคัญของความสำเร็จส่วนสุดท้าย คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยและผู้ตรวจราชการกรมทุกกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ทำหน้าที่เป็น Inspector ที่คอยติดตาม ประเมินผล นิเทศงาน และกระตุ้นหนุนเสริมให้ทุกพื้นที่ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท ขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการ เพื่อทำให้ทุกอำเภอเป็นอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน จึงได้มีการอบรมหลักสูตร “ทำไมต้อง INS. CAST” ทำให้ผู้ตรวจราชการได้ทุ่มเททำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อก่อให้เกิดคุณค่า พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการทุกระดับ

ทั้งในเชิงระบบและเชิงการทำงาน ดูแลข้าราชการรุ่นน้องเป็นประดุจดั่งลูกศิษย์ด้วยการ “ติดตาม หนุนเสริม ประเมินผล” คือ 1) ทำหน้าที่เป็น “ครู” ผู้ให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ 2) ให้คำสอนแก่ศิษย์ 3) ตรวจประเมินให้คะแนน และ 4) เมื่อผ่านการประเมินผลแล้ว เราต้องให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้เกิดสิ่งที่ดีตามที่พวกเราตั้งใจทำกันไว้ คือ การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างสุดกำลังความสามารถ ด้วยการหมั่นลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชน

รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ พร้อมทั้งถ่ายทอดแนวทางการทำงานและการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการ ตั้งแต่เรื่องของ “ใจ” และ “วัตรปฏิบัติโดยทั่วไป” เพื่อพัฒนาทำให้ข้าราชการเป็นผู้รอบรู้และมีประสิทธิภาพการทำงาน โดยบูรณาการหน้าที่รับผิดชอบทั้ง “การตรวจราชการตามภารกิจ (Function-based)” ที่เน้นการตรวจราชการของส่วนราชการหรือตามภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง “การตรวจราชการตามพื้นที่หรือเขตตรวจราชการ (Area-based)” ที่เน้นการตรวจราชการเฉพาะในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และ “การตรวจราชการตามนโยบาย (Agenda-based)” ที่เน้นการตรวจราชการในประเด็นสำคัญที่ได้รับมอบหมาย รวมถึง “เชิงพื้นที่” คือ ทำให้คนมหาดไทยทุกคนทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อให้สุดท้ายปลายน้ำ คือ ทำให้คนไทยทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย