ม.ศรีปทุม ชูจุดแข็ง อาจารย์รู้จริง-ทำจริง สร้างผลงานขึ้นทะเบียนนวัตกรรม บูรณาการประสบการณ์ สอนนักศึกษาเป็นวิศวกรศักยภาพสูง

ม.ศรีปทุม

วิศวกรรมเครื่องกลเป็นสายงานที่มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และครอบคลุมการพัฒนาทุกอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นหนึ่งในสาขาทางวิศวกรรมที่เก่าแก่และมีขอบข่ายกว้างขวางที่สุด โดยงานด้านเครื่องกลต้องการคนมีความสามารถจำนวนมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังต้องการต่อเนื่องไปสู่อนาคต เพื่อมาช่วยพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องจักร และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบปรับอากาศ ท่อประปา สุขาภิบาล เครื่องกลในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนทางเครื่องกล และเครื่องกลด้านอุตสาหกรรมพลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่จะร่วมผลิตวิศวกรศักยภาพสูงออกสู่ตลาดแรงงาน โดยมีอาจารย์ที่รู้จริงและทำจริง สร้างผลงานตอบโจทย์ประเทศ อย่าง “ดร.เกียรติศักดิ์ สกุลพันธ์” อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU)

ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเครื่องจักรกล การออกแบบกังหันพลังงานน้ำและพลังงานลม การออกแบบโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมเชิงตัวเลข ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้จริง โดยมีผลงานระดับประเทศอย่าง “เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ระบบไฮดรอลิก” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้แต่งหนังสือ เทคโนโลยีกับการพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าในอนาคต และล่าสุดกับการได้รับรางวัลเหรียญเงิน Class A จากผลงานชื่อ Pump as Impulse Tubine จากการเข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรมทางด้าน Mechanics, Engines, Machinery, Tools, Industrial Processes, Metallurgy ในงาน The 48th International Exhibition of Inventintions Geneva ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

“ดร.เกียรติศักดิ์” กล่าวว่า วิศวกรรมเครื่องกลเป็นศาสตร์ที่ใช้ทักษะการแก้ปัญหา การออกแบบสร้างสรรค์ และความรู้เชิงวิเคราะห์ เพื่อเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นผลงานจริง วิศวกรรมเป็นหนึ่งในสายงานที่ต้องการคนมากที่สุดในประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตเครื่องจักรกลต้องผสมผสานกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ จะต้องติดตั้งเครื่องจักร รวมถึงต้องการการดูแลและบำรุงรักษาเครื่องจักร ที่ต้องอาศัยวิศวกรเครื่องกล เพื่อให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น

“การเรียนต่อสายวิศวกรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในความใฝ่ฝันของหลายคน เช่นเดียวกับผมที่มีความหลงไหลในการออกแบบและเติบโตมากับเรื่องเครื่องจักร จึงเลือกเรียนสาขาช่าง แต่ในตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจเรื่องการผลิตเครื่องจักร จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านการผลิต โดยระหว่างเรียนปริญญาเอกเมื่อ 5 ปีที่แล้วก็มีโอกาสได้ทำโรงไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หลังจากนั้นได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารของบริษัท นำพล อินเตอร์เทรด จำกัด และได้ถูกทาบทามให้ช่วยพัฒนาการออกแบบเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพราะเครื่องสูบน้ำที่บริษัทต่าง ๆ นำเข้ามาใช้ในไทยจากต่างประเทศมีข้อจำกัด และไม่เหมาะกับบริบทท้องถิ่น เช่น อุณหภูมิเครื่องสูง อัตราการสูบไม่พอ ขยะในท่อน้ำ ขนาดพื้นที่น้อย และน้ำหนักมากเกินไป และหากนำเข้าเครื่องที่มีการปรับแต่งเฉพาะให้ไทย ก็จะกระทบด้านราคา หรืออาจทำให้ฟังก์ชั่นหลายอย่างถูกลดทอน จนเวลานำไปใช้งานกับภาคราชการไม่มีประสิทธิภาพตรงตามเป้า

บริษัทนำพล จึงให้งบประมาณมาช่วยดีไซน์ จนกระทั่งได้ถูกพัฒนาเป็นสินค้าจริงและได้รับการยอมรับ จากนั้นได้มีการพัฒนาโมเดลเพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 4 รุ่น โดยรุ่นขายดีที่สุดคือ ขนาด 24 นิ้ว จ่ายน้ำ 1,500 ลิตรต่อวินาที ทางกรมชลประทานได้ซื้อไปใช้ดูดน้ำ เพื่อแจกจ่ายเกษตรกรในช่วงหน้าร้อน และทาง กทม. นำไปใช้ระบายน้ำเวลาน้ำท่วม ซึ่งรุ่นนี้จำหน่ายไปแล้ว 100 กว่าเซ็ต และปีหน้าตั้งเป้าจะขายอีก 64 เซ็ต”

นับว่า นวัตกรรมเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ระบบไฮดรอลิกนี้ เป็นผลงานอันภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ส่งเสริมให้ “ดร.เกียรติศักดิ์” ได้มีส่วนในการผลิต และทำให้ประเทศไทยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังสามารถปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการภาครัฐ และสั่งการทำงานทางออนไลน์ได้ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาและพัฒนางานด้านเกษตรกรรม ชลประทาน ระบายน้ำ ได้อย่างมาก

นอกจากนั้น การทำงานร่วมกับบริษัทนำพล ยังทำให้เกิดโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมอีกหลายโครงการ เช่น MOU มุ่งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการระบายน้ำท่วมขัง ซึ่งแต่ละโครงการเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุมมีส่วนร่วมทำ และได้เรียนรู้ เช่น การออกแบบ

“ดร.เกียรติศักดิ์” กล่าวด้วยว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นอาจารย์ไม่สามารถสอนหนังสืออย่างเดียว อาชีพอาจารย์นอกจากการสอนแล้วจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา และออกไปหาวิชาชีพข้างนอก เพื่อนำมาประกอบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ซึ่งทางอธิการบดี ม.ศรีปทุม ให้การสนับสนุน มีการให้ทุนศึกษาแก่อาจารย์ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม และให้การช่วยเหลือด้านเวลา

“ผมใช้ประสบการณ์ทำงานจริงกับภาครัฐและเอกชนมาสอนนักศึกษา โดยย่อยทฤษฎีเป็นภาพ เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพจริง และมีวิชาที่ประยุกต์ประสบการณ์มาใช้ในการสอนที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่องจักรอยู่หลายตัว เช่น ออกแบบเครื่องจักร (Machine Design) เครื่องจักรกลของไหล (Fluid Machinery) เป็นต้น

การเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ที่ ม.ศรีปทุม มุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาให้เป็นวิศวกรคุณภาพของประเทศ ที่มีทักษะเป็น “Practical Engineer” หรือวิศวกรวิชาชีพ อยู่บนพื้นฐานความเชี่ยวชาญที่ชำนาญการปฏิบัติตามความต้องการของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม (Industry Focus) ที่ทันสมัย ซึ่งครอบคลุมงานวิศวกรรมในหลาย ๆ ด้าน

รวมทั้งนักศึกษา ม.ศรีปทุม ก็โดดเด่นด้านภาคปฏิบัติ เพราะได้รับความรู้และการแนะนำจากอาจารย์มืออาชีพ รวมทั้งมีสหกิจศึกษา (Co-operative Education) ที่เน้นการปฏิบัติงานในหน่วยงาน โดยนักศึกษาจะเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราวในองค์กรนั้น ๆ ซึ่ง ม.ศรีปทุม มีความร่วมมือกับภาคเอกชนหลายแห่ง

“เด็กหลายคนสนใจมาเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ที่ ม.ศรีปทุม แบบปากต่อปาก เพราะที่นี่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ถาม แสดงความคิดเห็น และร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกันกับอาจารย์ อยากให้วิศวกรรมเครื่องกลเป็นหนึ่งในตัวเลือกของเด็กไทย เพราะบทบาทของวิศวกรรมเครื่องกลยุคใหม่กำลังมีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมและโลกให้น่าอยู่ โดยสามารถประยุกต์กับการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในปัจจุบัน ผู้ที่สนใจเรียนสาขานี้จำเป็นต้องมีความเข้าใจหลักการคณิตศาสตร์และกฎทางฟิสิกส์ และการที่จะประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ยากเกินเอื้อม หากนักศึกษามีความหลงไหล และความพยายาม” ดร.เกียรติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สมัครเรียนตรี โท เอก www.spu.ac.th #SPU #มหาวิทยาลัยศรีปทุม #DEK65 #เรียนกับตัวจริงประสบการณ์จริง